'วัว'สายพันธุ์ปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ ความหวังลดโลกร้อนแคนาดา
วัวสายพันธุ์พิเศษปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ ช่วยลดโลกร้อน ด้วยการปล่อยก๊าซมีเทนในอุตสาหกรรมโคนมแคนาดาประมาณปีละ 1.5% และสามารถลดก๊าซมีเทนได้มากถึง 20-30% ภายในปี 2593
เมื่อฟาร์มปศุสัตว์กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก เนื่องจากวัวและแกะ หรือสัตว์อื่น ๆ ที่แต่ละฟาร์มเลี้ยง จะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาผ่านการเรอและผายลม ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องคิดค้นวิธีลดก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์ม ซึ่งหนึ่งในทางออกของปัญหานี้คือ การพัฒนาสายพันธุ์วัวที่ปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณน้อยลง
“เบน โลวิธ” เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเมืองลินเดน รัฐออนแทริโอ ประเทศแคนาดา เริ่มผสมเทียมวัวหนุ่มและวัวสาว 107 ตัว ด้วยน้ำเชื้อวัวตัวผู้ตัวแรกในตลาด ที่มีพันธุกรรมปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ
โลวิธ บอกว่า “การคัดเลือกสายพันธุ์วัวที่ปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ โดยที่วัวสายพันธุ์นั้นๆไม่ได้สูญเสียคุณสมบัติอื่น ๆ ไป เป็นเหมือนชัยชนะของอุตสาหกรรมโคนม”
การเรอของวัว กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนอันดับต้น ๆ ในแวดวงปศุสัตว์ บริษัทด้านพันธุกรรมเซเม็กซ์ ที่จำหน่ายน้ำเชื้อวัวปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ เล็งเห็นว่า วัวสายพันธุ์ปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมโคนมแคนาดาได้ปีละประมาณ 1.5% และภายในปี 2593 จะลดก๊าซมีเทนได้มากถึง 20-30%
ทั้งนี้ ปศุสัตว์เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 14.5% ของโลก และมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากคาร์บอนไดออกไซด์
นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมโคนม บอกว่า เมื่อมีการจำหน่ายพันธุกรรมเพื่อผลิตโคนมปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ อาจช่วยให้หนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด สามารถลดก๊าซเหล่านั้นได้
“ดรูว์ สโลน” รองประธานบริษัทเซเม็กซ์ เผยว่าในฤดูใบไม้ผลินี้ บริษัทจะเริ่มจำหน่ายน้ำเชื้อวัวปล่อยมีเทนต่ำให้ประเทศต่างๆ 80 ประเทศ โดยช่วงแรกบริษัทจำหน่ายน้ำเชื้อให้อังกฤษ รวมถึงอุตสาหกรรมโคนมในสหรัฐและสโลวาเกีย
วัวสายพันธุ์พิเศษปล่อยก๊าซมีเทนต่ำนี้ เป็นผลงานความร่วมมือของหุ้นส่วนทางการค้าระหว่างบริษัทเซเม็กซ์และแลคทาเน็ต หน่วยงานที่คอยช่วยเหลือเกษตรกรโคนมแคนาดาและหุ้นส่วนของอุตสาหกรรมนี้
เมื่อเดือนเม.ย. แลคทาเน็ต เผยแพร่รายงานการประเมินจีโนม (พันธุกรรมสิ่งมีชีวิต) ฉบับแรกของประเทศ และศึกษาผลลัพธ์จากโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ และวัวสาวจาก 6,000 ฟาร์ม คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของฟาร์มโคนมในแคนาดา
การวิจัยพันธุกรรมวัว เพื่อวัดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนของวัว ใช้เวลาวิจัยนาน 7 ปี กว่าจะได้จดทะเบียนงานวิจัย ซึ่งทำการวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกวลฟ์และมหาวทิยาลัยอัลเบอร์ตา
นักวิทยาศาสตร์ตรวจการหายใจออกของวัว เพื่อวัดปริมาณก๊าซมีเทน จากนั้นนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับข้อมูลทางพันธุกรรมและตัวอย่างน้ำนม
“คริสทีน แบส์” ศาสตรตราจารย์ด้านชีววิทยาศาสตร์สัตว์จากมหาวิทยาลัยเกวลฟ์ ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับวัวปล่อยก๊าซมีเทน บอกว่าปศุสัตว์ในแคนาดา ปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณที่แตกต่างกัน ตั้งแต่วันละ 250-750 กรัม ดังนั้น วัวสายพันธุ์มีเทนต่ำ อาจช่วยปล่อยมลพิษในปศุสัตว์ได้ลดลงจากรุ่นสู่รุ่น
“ความก้าวหน้าของงานวิจัย คือการเชื่อมโยงสิ่งที่วิจัยเข้าด้วยกัน เพื่อคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนของประเทศ ด้วยการพิจารณาลมหายใจของสัตว์ และยังมีข้อมูลด้านพันธุกรรมวัว และเรานำข้อมูลเหล่านี้มาเชื่อมโยงกัน สร้างงานวิจัยขึ้นมาเพื่อบอกว่า สัตว์ชนิดนี้ มียีนส์เหล่านี้ และสร้างก๊าซมีเทนได้มากขนาดนี้” แบส์ กล่าว
ด้าน“ไมเคิล โลฮุยส์” รองประธานฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมของเซเม็กซ์ กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงทางยีนส์ เป็นวิธีเปลี่ยนแปลงที่มั่นคงถาวร และสามารถ่ายทอดไปสู่วัวรุ่นอื่น ๆ ในอนาคตได้ ดังนั้น เมื่อมีวัวสายพันธุ์ใหม่จำนวนมาก จะช่วยลดก๊าซมีเทนได้มาก และนี่ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือลดก๊าซมีเทนของผู้ทำฟาร์มโคนมเท่านั้น แต่วัวสายพันธุ์นี้อาจเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ง่าย และใช้ต้นทุนต่ำที่สุด"
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโคนมคนอื่น ๆ บอกว่า วัวสายพันธุ์มีเทนต่ำ อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้เหมือนกัน
“จูฮา นูไซอาเนน” รองประธานอาวุโสของวาลิโอ ฟาร์มโคนมในฟินแลนด์ เตือนว่า หากเลี้ยงวัวให้เรอก๊าซมีเทนออกมาต่ำ อาจเกิดปัญหาด้านการย่อยอาหาร เพราะมีเทนผลิตจากจุลินทรีย์ในไส้วัว ขณะที่กำลังย่อยกากใยอาหาร ไม่ได้เกิดจากตัวของสัตว์เอง
ด้านแฟรงก์ มิทโลเนอร์ ศาสตราจารย์ด้านสัตวศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิส ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัวสายพันธุ์ใหม่ เตือนว่า หากมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย การเพาะพันธุ์วัวมีเทนต่ำ อาจสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่อการปล่อยมลพิษของวัวทั่วโลก
มิทโลเนอร์ ย้ำว่า แม้เกษตรกรสามารถให้อาหารเสริมกับวัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ แต่ผลลัพธ์ที่หวังไว้จะหมดไป หากวัวหยุดทานอาหารเสริม และสหรัฐไม่อนุมัติการให้อาหารเสริมกับวัว
อย่างไรก็ตาม โลวิธ เจ้าของฟาร์มโคนมในแคนาดา กลับรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นผลลัพธ์ของการตัดสินใจผสมวัวสายพันธุ์มีเทนต่ำว่าจะเป็นอย่างไร
“ถ้าการตัดสินใจผสมวัวสายพันธุ์ใหม่ เป็นสิ่งที่คุณเดิมพันกับวัวจากรุ่นสู่รุ่น ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก” โลวิธ กล่าว