'หญ้าทะเลที่หายไป' ความเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศ

'หญ้าทะเลที่หายไป' ความเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศ

'หญ้าทะเล' ซึ่งมีความสำคัญต่อ 'ระบบนิเวศ' เนื่องจากความเสื่อมโทรมทั้งจากธรรมชาติ และจากกิจกรรมของมนุษย์ ในพื้นที่เกาะลิบง หญ้าทะเลหายไปมากกว่า 50% และส่งผลต่อสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น หอยชักตีน หอยตลับ ปลิงทะเล รวมถึงปลาหน้าดิน

KEY

POINTS

  • หญ้าทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และยังมีส่วนช่วยในการกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ
  • ปัจจุบัน 'หญ้าทะเล' กลับพบว่า เสื่อมโทรม ทั้งจากธรรมชาติ และจากกิจกรรมของมนุษย์ ตัวอย่างใน พื้นที่เกาะลิบง หญ้าทะเลหายไปมากกว่า 50% และส่งผลต่อสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น หอยชักตีน หอยตลับ ปลิงทะเล รวมถึงปลาหน้าดิน 
  • นอกจากนี้ หญ้าทะเล ยังเป็นอาหารของสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างเต่า และ พะยูน ใน 1 วัน พะยูนกินหญ้าทะเล 5-10% ของน้ำหนักตัว และพะยูนตัวเต็มวัย สามารถหนักได้ถึง 250-420 กิโลกรัม

ปัจจุบัน หญ้าทะเล บางพื้นที่ เช่น เกาะลิบงมีพื้นที่หญ้าทะเลหายไปมากกว่า 50% และยังพบว่าสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลหายไป เช่น หอยชักตีน หอยตลับ ปลิงทะเล รวมถึงปลาหน้าดินหลายชนิด

 

นอกจากมีความสำคัญต่อสัตว์เล็กๆ แล้ว ยังมีความสำคัญต่อสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างเต่า และ พะยูน เพราะใน 1 วัน พะยูนกินหญ้าทะเล 5-10% ของน้ำหนักตัว และพะยูนตัวเต็มวัย สามารถหนักได้ถึง 250-420 กิโลกรัม

 

อย่างไรก็ตาม ชุมชนส่วนใหญ่ซึ่งมักตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล แหล่งหญ้าทะเลจึงเป็นระบบนิเวศแรกๆ ที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนแผ่นดิน ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและจากมนุษย์ เช่น การพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่างๆ ทั้งเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ กุ้งทะเล ล้วนมีผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลทั้งสิ้น

 

เมื่อดูสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลในปี 2564 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สำรวจและติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล ทั้งในพื้นที่ที่เป็นแหล่งหญ้าทะเลในปัจจุบัน แหล่งที่เคยมีรายงานการสำรวจพบ และแหล่งใหม่นอกเหนือจากที่เคยสำรวจพบ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นแหล่งใหญ่ก็ตาม

 

รายงานพบ หญ้าทะเล มีพื้นที่ รวม 99,325 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลของประเทศ (160,628 ไร่) ครอบคลุม 17 จังหวัดชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย

ฝั่งอ่าวไทย 11 จังหวัด ได้แก่

  • จังหวัดตราด
  • จังหวัดจันทบุรี
  • จังหวัดระยอง
  • จังหวัดชลบุรี
  • จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • จังหวัดชุมพร
  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • จังหวัดสงขลา
  • จังหวัดปัตตานี
  • จังหวัดนราธิวาส

 

\'หญ้าทะเลที่หายไป\' ความเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่

  • จังหวัดระนอง
  • จังหวัดพังงา
  • จังหวัดภูเก็ต
  • จังหวัดกระบี่
  • จังหวัดตรัง
  • จังหวัดสตูล

 

แหล่งหญ้าทะเลโดยภาพรวมของประเทศไทย พบว่า แหล่งหญ้าทะเล มีสถานภาพสมบูรณ์ดี – ดีมาก 28% สถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง 52% และมีสถานภาพสมบูรณ์เล็กน้อย 20%

 

รู้จัก ระบบนิเวศหญ้าทะเล

ระบบนิเวศหญ้าทะเล ประกอบด้วย กลุ่มของพืชดอกที่ปรับตัวเติบโตอยู่ได้ในทะเล และสามารถเจริญได้ดีในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง โครงสร้างของใบที่ซับซ้อนมีความสำคัญในด้านเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจอัน ได้แก่ ปลา กุ้ง ปู หอยหลายชนิด และยังมีส่วนช่วยในการกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ

 

ด้วยเพราะหญ้าทะเลมีระบบรากที่คอยยึดจับ เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นสามารถพบสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ อย่างเช่น เต่าทะเลบางชนิด และพะยูน ได้ในพื้นที่หญ้าทะเลบางแห่ง โดยสัตว์ทะเลทั้งสองชนิดนี้จะกินหญ้าทะเลเป็นอาหารโดยตรง

 

รวมถึงยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ จากการทำประมงในแหล่งหญ้า เช่น การรวบรวมลูกปลาเก๋าเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อในกระชัง การทำประมงอื่น ๆ เช่น อวนจมปู แร้วปู และลอบ เป็นต้น

 

แหล่งหญ้าทะเลสำคัญอย่างไร ?

หญ้าทะเล มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเลี้ยงตัวอ่อนและแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะปลาทะเลกุ้งทะเล และปูม้า มีความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ

 

ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ จะมีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มสัตว์น้ำขนาดเล็กที่กล่าวถึง แต่ยังมีสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น เต่าทะเล และ พะยูน อีกด้วย

 

สัตว์หน้าดินและสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ในพื้นดิน

สำหรับ สัตว์หน้าดินและสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ในพื้นดินบริเวณแหล่งหญ้าทะเลในน่านน้ำไทย พบมากกว่า 95 ชนิดสัตว์ทะเลส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มไส้เดือนทะเลกลุ่มหอยทะเลได้แก่หอยชักตีน (Strombuscanarium) หอยคราง (Scapharcainaeguivalvis) กลุ่มกุ้งและกั้งทะเลได้แก่กุ้งกุลาลาย (Peneaussemisulcatus) และกุ้งตะกาดขาว (Metapeneausmoyebi) กั้งทะเล (Orlosquillanepa) กลุ่มปูทะเลได้แก่ปูม้า (Portunuspelagicus) และปูดาว (PortunusSanguinolentus) ปูทะเล (Scyllaserrata) กลุ่มฟองน้ำทะเล กลุ่มดอกไม้ทะเล กลุ่มแมงกะพรุนทะเล เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังพบปลิงทะเล (Holothuriascabra) ดาวทะเลและสัตว์อื่นๆ ซึ่งสัตว์เหล่านี้ มีทั้งกลุ่มที่ตลอดช่วงชีวิตอาศัยอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเลบางชนิดเข้ามาอาศัยในแหล่งหญ้าทะเลในช่วงหนึ่งของชีวิตเช่นช่วงเป็นวัยอ่อนหรือวัยก่อนเจริญพันธุ์

 

ปลาในแหล่งหญ้าทะเล

บริเวณฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยซึ่งพอจะสรุปได้ว่าพบปลาอย่างน้อย 67 ชนิด นอกจากนี้ ยังพบความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกันระหว่างปลาในแหล่งหญ้าทะเลป่าชายเลนและแนวปะการัง โดยพบว่า ปลาหลายชนิดเป็นปลาที่อยู่ในแนวปะการังแต่มาอาศัยเลี้ยงตัวในแหล่งหญ้าทะเลและปลาหลายชนิดพบมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างป่าชายเลนบริเวณใกล้เคียง

 

 

 

ภาวะคุกคามแหล่งหญ้าทะเล

ปัจจุบัน ทรัพยากรชายฝั่งทะเล มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงมาก โดยระบบนิเวศหญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศแรกๆ ที่ได้รับกระทบจากกิจกรรมต่างๆ และการพัฒนาชายฝั่งทะเลเช่นเดียวกับป่าชายเลนและแนวปะการัง ทั้งนี้  การเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลนั้น เกิดได้ทั้งจากปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากสิ่งที่กระทำโดยมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

ความเสื่อมโทรมจากปัจจัยธรรมชาติ

1) ภาวะโลกร้อน (Greenhouse effect)

ภาวะโลกร้อนส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นด้วย โดยอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงมากกว่าภาวะปกติของแหล่งหญ้าทะเลนั้นๆ จะมีผลต่อวงจรชีวิตของหญ้าทะเล มีผลต่อการเจริญเติบโต การออกดอกและเมล็ดของหญ้าทะเล

 

อีกทั้ง ความเครียดจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ทำให้การกระจายตัวของหญ้าทะเลเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ การโผล่พ้นน้ำทะเลนานๆ อุณหภูมิและแสงแดดที่เพิ่มขึ้นทำให้หญ้าแห้งความร้อนมีผลทำให้หญ้าตายได้

 

2) ภัยธรรมชาติอื่นๆ

เหตุการณ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 นั้นได้ส่งผลกระทบต่อแนวหญ้าทะเลในฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร โดยแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากได้แก่ บริเวณบ้านทุ่งนางดำและด้านเหนือของเกาะพระทอง จังหวัดพังงา ในบางพื้นที่พบว่าตะกอนที่ถูกกวนให้ฟุ้งกระจายและพัดพาไปตามแรงคลื่นมีผลทำให้หญ้าทะเลช้ำและกลายเป็นสีน้ำตาลและใบเน่าตายไปในเวลา 2-3 สัปดาห์ถัดมาในขณะที่การฟื้นตัวของแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน

 

นอกจากนี้ ความารุนแรงจากพายุต่างๆ ส่งผลกระทบต่อแหล่งหญ้าทะเลเช่นกัน เช่น พายุไซโคลน ที่ทำให้หญ้าทะเลที่อ่าวเฮอร์วีในประเทศออสเตรเลียตายทั้งหมด หรือไต้ฝุ่นลินดา ที่เกิดทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามทำให้แหล่งหญ้าทะเลที่เกาะคอนเดาเสียหายและมีการเปลี่ยนแหล่งหญ้าทะเลในเวลาต่อมา

 

ความเสื่อมโทรมจากน้ำมือมนุษย์

1) การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นท้องทะเลต่างๆ เช่น การขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ และการก่อสร้างท่าเรือ เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่หญ้าทะเลถูกทำลายโดยตรง

2) การพัฒนาชายฝั่งทะเลเช่นการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล โดยตะกอนดังกล่าวจะปกคลุมใบหญ้าและปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของหญ้าทะเล

3) การเดินเรือ และการสัญจรทางน้ำ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแหล่งหญ้าทะเล ทำให้ใบหญ้าทะเลถูกตัดขาด หน้าดินถูกคุ้ย เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนในน้ำ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล

4) การทำประมงบางประเภท เช่น คราดหอย เรืออวนลากขนาดเล็ก เรืออวนรุน เรืออวนทับตลิ่งขนาดใหญ่ ที่ทำการประมงในแหล่งหญ้าทะเล ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่แหล่งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเล

5) น้ำเสียตามชายฝั่งทะเล เช่น การทำเหมืองแร่ ท่าเทียบเรือ สะพานปลา โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนบ้านเรือน และการทำนากุ้ง ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล

 

\'หญ้าทะเลที่หายไป\' ความเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศ

 

การดำเนินงานที่ผ่านมา

การอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล “กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ระบุว่า ที่ผ่านมา ใช้แนวทางการจัดการแหล่งหญ้าทะเลแบบผสมผสาน โดยเน้นการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ซึ่งประกอบด้วย 4 แผนงาน ดังนี้

1) สำรวจและประเมินสถานภาพ

ติดตามตรวจสอบสถานภาพและปัญหาของแหล่งหญ้าทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเล เกี่ยวกับที่ตั้งและความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเลทั่วประเทศ ตลอดจนวิเคราะห์ประเด็นปัญหาความเสื่อมโทรมว่ามีสาเหตุจากธรรมชาติหรือจากกิจกรรมของมนุษย์

 

ข้อมูลดังกล่าว สามารถใช้เพื่อรองรับการกำหนดแนวทางการจัดการและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เหมาะสมกับสถานการณ์โดยร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชุมชนและกับนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ความสำคัญด้านระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอันควรค่าแก่การอนุรักษ์ รวมถึงกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์สำหรับการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมตามกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

 

2) เผยแพร่ข่าวสารความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหญ้าทะเลสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกระดับ

เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักเกี่ยวกับลักษณะ ถิ่นอาศัย ประโยชน์ และปัจจัยที่มีผลกระทบทั้งในทางบวก และทางลบของหญ้าทะเล เพื่อหยุด/ลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อสภาพแวดล้อมของคุณภาพน้ำและดินซึ่งมีผลถึงหญ้าทะเล ตลอดจนแนวทางป้องกันการเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์หญ้าทะเล

 

โดยจัดทำสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ชาวประมง หรือผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ รวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นให้ทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของแหล่งหญ้าทะเล เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและตระหนัก รัก และหวงแหน ในที่สุดก้าวเข้ามามีบทบาท หรือมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเลของตนเอง

 

3) การคุ้มครองและฟื้นฟู

มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลให้กลับคืนมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเน้นการจัดการกับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล การควบคุมการระบายน้ำเสีย สนับสนุนการลงทุนก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนหนาแน่นและบริเวณใกล้เคียง

 

การควบคุมผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตามรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) จากการพัฒนาชายฝั่งและในทะเลรูปแบบต่าง ๆ บริเวณแหล่งหญ้าทะเล

 

4) กำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่งทะเล

ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งของชุมชน โดยการวางทุ่นเป็นสัญลักษณ์แสดงพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล กวดขันผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือข้อบังคับ การห้ามใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม สนับสนุนองค์ความรู้ การจัดหาพันธุ์และวิธีการปลูกหญ้าทะเลทดแทนแก่องค์กรและประชาชนในท้องถิ่น และทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติ เพื่อนำผลของการศึกษาวิจัยมาประกอบการพิจารณาสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรม คือ การป้องกันและลดผลกระทบต่อพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่เหมาะสม โดยกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ แบ่งเป็นเขตรักษาพืชพันธุ์ และเขตอนุญาตสำหรับกิจกรรมประมงพื้นบ้าน และการฟื้นฟูโดยย้ายปลูกหญ้าทะเล

 

เร่งฟื้นฟูหญ้าทะเล

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เปิดเผยขณะตรวจสอบสาเหตุพะยูนเกยตื้นตาย ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง วานนี้ (8 มีนาคม 2567) ว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีการเร่งแก้ไขปัญหาวิกฤตของหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ ซึ่งที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ ร่วมมือทีมนักวิจัย ด้านสมุทรศาสตร์ระดับประเทศหลายท่าน เร่งลงพื้นศึกษาวิจัยเพื่อหาสาเหตุการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล

 

ซึ่งเบื้องต้นพบแนวโน้มสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้ระดับน้ำทะเลแห้งลงต่ำกว่าปกติ เป็นผลให้หญ้าทะเลต้องตากแห้งเป็นพื้นที่กว้างและนานกว่าปกติ หญ้าทะเลจึงเกิดความอ่อนแอซึ่งทีมวิจัยยังอยู่ระหว่างการศึกษาปัจจัยอื่น ได้แก่

  • การทับถมของตะกอนจากการขุดลอกปากแม่น้ำ
  • โรคระบาดในหญ้าทะเล
  • การถูกกินโดยสัตว์น้ำ
  • หรือประเด็นเรื่องสารพิษ ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีภาวะความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพแย่ลงไป

 

\'หญ้าทะเลที่หายไป\' ความเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศ

 

ปัจจุบัน พบว่า หญ้าทะเลบางพื้นที่ เช่น เกาะลิบง มีพื้นที่หญ้าทะเลหายไปมากกว่า 50% และยังพบว่าสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลหายไป เช่น หอยชักตีน หอบตลับ ปลิงทะเล รวมถึงปลาหน้าดินหลายชนิด

 

อีกทั้ง การกำหนดแนวทางการฟื้นฟูจำเป็นต้องทราบสาเหตุที่ชัดเจนก่อน หากเป็นเรื่องของการทับถมของตะกอนจากการขุดลอกร่องน้ำ ก็ต้องมีแนวทางลดผลกระทบจากการขุดลอกให้ได้ก่อนทั้งในระยะดำเนินการ

 

สถานการณ์หญ้าทะเลเกาะลิบงและพื้นที่ใกล้เคียง ข้อมูล ณ ธันวาคม 2566 พบว่า

  • พื้นที่หญ้าทะเล 15,547 ไร่
  • พื้นที่หญ้าคาทะเลเสื่อมโทรม ประมาณ 7,997 ไร่ (51% ของพื้นที่สำรวจ)
  • การปกคลุมพื้นที่เฉลี่ยลดลงจาก 224% เป็น 9% (ธ.ค. 66 เทียบกับ ก.พ. 66)

อนึ่ง หญ้าทะเลมีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราสามารถช่วยกระบวนการฟื้นตัวได้ โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม

 

\'หญ้าทะเลที่หายไป\' ความเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศ

 

 

อ้างอิง :