'ปะการังฟอกขาว' การสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี สู่วิกฤติใต้ท้องทะเล

'ปะการังฟอกขาว' การสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี สู่วิกฤติใต้ท้องทะเล

ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) เกิดจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) เนื่องจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย ส่งผลทั้งต่อระบบนิเวศในทะเล การขาดแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และกระทบภาคการท่องเที่ยว

KEY

POINTS

  • ปะการังฟอกขาว ปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลง จากการสูญเสีย สาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) เนื่องจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย
  • สาเหตุจาก อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป มีน้ำจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์
  • ที่ผ่านมา น่านน้ำไทย เคยได้รับผลกระทบเมื่อปี 2534 , 2538 , 2541 , 2546 , 2548 และ 2550 ขณะที่ “แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ของออสเตรเลีย เกิดการฟอกขาวมาแล้วหลายครั้ง จน UN แนะนำให้เพิ่ม แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟในรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย  

 

 

 

ปะการังฟอกขาว (Coral bleaching) ปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อของปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป

 

ที่ผ่านมา น่านน้ำไทย เคยได้รับผลกระทบเมื่อปี 2534 , 2538 , 2541 , 2546 , 2548 และ 2550 โดยปี พ.ศ.2534 และ 2538 แนวปะการังทางฝั่งทะเลอันดามันได้รับความเสียหายมาก ปะการังตายประมาณ 10-20% ส่วนในปี 2541 ก่อให้เกิดความเสียหายมากทางฝั่งอ่าวไทย

 

ขณะเดียวกัน “แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ” เป็นแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเกิดการฟอกขาวมาแล้วหลายครั้ง จน UN แนะนำให้เพิ่ม แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟในรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย  

 

ปะการังฟอกขาว คืออะไร

ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) จากข้อมูล ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อธิบายว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) เกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป มีน้ำจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาดก็ล้วนมีผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

สาหร่ายซูแซนเทลลี กับปะการัง

ปะการังสีซีดจางลงจากการ สูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป วงจรชีวิตของสาหร่ายซูแซนเทลลีกับปะการัง เป็นภาวะพึ่งพาอาศัยกัน (Mutualism)

 

หากแยกกันอยู่จะไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ โดยปกติเนื้อเยื่อของปะการังไม่ได้มีสีสันสวยงาม เป็นเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เท่านั้น ส่วนที่เห็นเป็นสีสันจากปะการังไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีส้ม สีเขียว หรือสีน้ำตาลนั้นมาจากสาหร่ายซูแซนเทลลีทั้งสิ้น

  • สาหร่ายช่วยให้เนื้อเยื่อของปะการังมีสีสันสวยงาม
  • สาหร่ายช่วยสังเคราะห์แสงให้ธาติอาหารแก่ปะการัง เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต และการเจริญเติบโต
  • ปะการังจะเป็นที่อยู่อาศัย และให้สาหร่ายนำของเสีย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไนเตรต ฟอสเฟต มาใช้ในการสร้างสารอาหาร

 

สาเหตุ

  • อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป
  • ความเค็มของน้ำทะเลลดลง
  • ตะกอนสิ่งปฏิกูลจากชายฝั่งถูกน้ำทะเลชะล้างลงสู่ทะเล
  • มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ เช่น การปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด และการทิ้งขยะตามแนวชายหาด

 

 

 

 

ผลกระทบ

  • ปริมาณสัตว์น้ำลดลงเนื่องจากขาดแหล่งอนุบาล
  • ปะการังฟอกขาวทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรม ส่งผลให้กระทบต่อสมดุลในระบบนิเวศแนวปะการัง
  • ปะการังเกิดความเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว

 

ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ 'เกรตแบร์ริเออร์รีฟ'

“แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ” เป็นแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นแนวปะการังที่มีสิ่งมีชีวิตมากมายอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น มีทั้งปะการังกว่า 350 ชนิด รวมถึงปลา และสิ่งมีชีวิตอีกมากมายกว่า 1,500 ชนิด นับว่าเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำ

 

ที่ผ่านมา แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ เผชิญกับการฟอกขาวครั้งแล้วครั้งเล่า โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2541 และอีกครั้งในปี 2545, 2559, 2560 และ 2563 ตามลำดับ

 

ย้อนกลับไปใน “ปี 2559” แอนดรูว์ แบร์ด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ซึ่งอยู่ในทีมที่สำรวจปะการัง “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย พบน้ำทะเลอุ่นรอบๆ เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ทำให้แนวปะการังที่ทอดยาว 700 กิโลเมตร ตายไปแล้วถึง 2 ใน 3 จากแนวปะการังที่นี่มีพื้นที่ 348,000 ตารางกิโลเมตร

 

ปะการังฟอกขาว เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิน้ำอุ่นเกินไป ทำให้มันสูญเสียสาหร่ายที่อาศัยอยู่ จึงกลายเป็นหินปูนแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว หากฟอกขาวเพียงเล็กน้อยจะสามารถฟื้นตัวได้ถ้าอุณหภูมิลดลง ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้พบได้หลายส่วนทางตอนใต้ของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ที่ปะการังตายน้อยลงมาก

 

แม้ปะการังฟอกขาวจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่นักวิทยาศาสตร์กังวลว่า การที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง ระบบนิเวศวิทยาใต้ทะเลไม่อาจฟื้นตัวได้

 

การค้นพบปะการังฟอกขาวทางตอนเหนือของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการท่องเที่ยวชมปะการัง รายงานของดีลอยแต เอคเซส อิโคโนมิคส์ เมื่อปี 2556 ระบุว่า มรดกโลกแห่งนี้ดึงดูดเม็ดเงินราว 5,200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (138,000 ล้านบาท) ต่อปี

 

เกิดการฟอกขาวอีกครั้ง เสียหายวงกว้าง

ในปีนี้เอง เกิดการฟอกขาวอีกครั้ง และเกิดความเสียหายในวงกว้าง องค์กรด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของออสเตรเลีย (Climate Council) ระบุว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว กำลังเกิดขึ้นรุนแรงทั่วเกรตแบร์ริเออร์รีฟ โดยเกิดความเสียหายที่ทอดยาวเป็นระยะทางกว่า 1,100 กิโลเมตร

 

ขณะที่ งานวิจัยจาก Australian Academy of Science เผยว่า เกรตแบร์ริเออร์รีฟ เกือบ 99% เสี่ยงสูญหายภายในปี 2568 เนื่องจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จนทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น สาเหตุจากอากาศร้อนจัดของออสเตรเลีย ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 2-4 องศาเซลเซียส

 

แนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟ เสี่ยงอันตราย

ขณะที่ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แนะนำให้เพิ่ม แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟในรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย โดยให้เหตุผลว่า ระบบนิเวศของแนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น

 

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า การฟอกขาวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกำลังคุกคามแนวปะการัง “ความสามารถของแนวปะการังในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก” กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ระบุในรายงาน

 

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลของออสเตรเลีย ได้พยายามดำเนินการมานานหลายปี เพื่อไม่ให้เกรตแบร์ริเออร์รีฟอยู่ในสถานะเสี่ยงอันตราย เพราะอาจส่งผลให้แนวปะการังสูญเสียการเป็นแหล่งมรดกโลก และลดการดึงดูดนักท่องเที่ยวบางส่วน

 

ปรากฏการณ์ ปะการังฟอกขาว น่านน้ำไทย

สำหรับ “น่านน้ำไทย” ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า น่านน้ำไทยเคยได้รับผลกระทบเช่นนี้เมื่อปี 2534 , 2538 , 2541 , 2546 , 2548 และ 2550 โดยปี พ.ศ.2534 และ 2538 แนวปะการังทางฝั่งทะเลอันดามันได้รับความเสียหายมาก พบว่า ปะการังตายประมาณ 10-20% ส่วนในปี 2541 ก่อให้เกิดความเสียหายมากทางฝั่งอ่าวไทย แต่ปีต่อๆ มาเกิดทางฝั่งอันดามันแต่ไม่พบความเสียหายมากนัก เพราะปะการังสามารถฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพปกติได้เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมาเร็วในตอนต้นฤดูช่วยบรรเทาทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงได้

 

สำหรับในปี 2553 นับเป็นปีที่แนวปะการังเสียหายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิน้ำทะเลจากปกติ 29 องศาเซลเซียส ได้เริ่มสูงขึ้นเป็น 30 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 สามสัปดาห์ต่อมาปะการังได้เริ่มฟอกขาวแผ่พื้นที่เป็นวงกว้างคลุมทะเลทั้งฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย

 

จากการสำรวจโดยหลายหน่วยงาน พบว่า ในแต่ละพื้นที่มีปะการังฟอกขาวมากน้อยต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณนั้นมีปะการังชนิดใดเป็นพวกที่ขึ้นครอบคลุมพื้นที่มาก (dominant group) หากพวกที่ขึ้นคลุมพื้นที่มากเป็นพวกที่ไวต่อการฟอกขาว พื้นที่นั้นก็จะได้รับผลกระทบมาก เช่น แนวปะการังที่มีปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ขึ้นเป็นดงกว้างใหญ่ พื้นที่นั้นก็จะได้รับผลกระทบมาก

 

นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับว่าชายฝั่งที่แนวปะการังขึ้นอยู่นั้นได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมมากน้อยเพียงไรด้วย ด้านที่รับแรงจากคลื่นลมจะเป็นด้านที่อุณหภูมิไม่สูงอยู่ตลอดเวลา (เช่น ด้านตะวันตกของเกาะต่างๆ ทางฝั่งทะเลอันดามัน) ปะการังจึงฟอกขาวน้อยกว่าด้านอื่น เมื่อประมาณโดยภาพรวมทั่วประเทศแล้ว พบว่า ปะการังแต่ละแห่งฟอกขาวมากถึง 30-95% ปะการังทุกชนิดฟอกขาวเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียง 3-4 ชนิดเท่านั้นที่ยังคงต้านอยู่ได้ เช่น ปะการังสีน้ำเงิน (Heliopora coerulea) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona decussata) และปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora)

 

สถานการณ์ “ปะการังไทย” ปี 2564

สำหรับในปี 2564 ไม่ปรากฏแนวโน้มการเกิดปะการังฟอกขาวในน่านน้ำไทย หรือหากเกิดขึ้นจะอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง มีลักษณะคล้ายกับปี 2563 นั่นคือ ฝั่งอ่าวไทย ปะการังเริ่มมีสีจางลง และฟอกขาวในบางพื้นที่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะพื้นที่ ที่แนวปะการังโผล่พื้นน้ำในช่วงน้ำลง ได้แก่ หาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี (สำรวจเฉพาะปะการังที่โผล่พ้นน้ำ) เกาะมันใน หาดพลา จังหวัดระยอง แหลมแสมสาร หาดค่ายเจษฎาราชเจ้า จังหวัดชลบุรี

 

ซึ่งส่งผลให้ปะการังส่วนที่โผล่พ้นน้ำดังกล่าวตายลงไปบางส่วน แต่ปะการังที่อยู่ใต้น้ำตลอดเวลาฟอกขาวเพียงเล็กน้อย ในขณะที่แนวปะการังฝั่งอันดามันได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวน้อยมาก ไม่มีรายงานสถานีที่พบปะการังฟอกขาว พบเพียงปะการังมีสีจางลงเล็กน้อยในบางพื้นที่

 

ปะการังที่เกิดการฟอกขาว กลับคืนสู่ปกติได้หรือไม่

สำหรับปะการังฟอกขาว สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ หากสาหร่ายซูแซนเทลลีเหล่านั้นกลับเข้าสู่ตัวปะการังอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปกลับคืนสู่ภาวะปกติ ปะการังจะสามารถดำรงชีวิตโดยปราศจากสาหร่ายซูแซนเทลลีได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์

 

หากมีเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง และระยะเวลายาวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การฟื้นตัวของปะการังโดยธรรมชาติมีโอกาสเป็นไปได้ต่ำ หรือไม่มีเลย และถ้าสาหร่ายซูแซนเทลลีไม่กลับเข้าสู่ปะการังในช่วงเวลาดังกล่าวปะการังเหล่านั้นก็จะตายในที่สุด

 

เราจะช่วยดูแลปะการังได้อย่างไร

เราสามารถที่จะช่วยกันดูแลรักษา และอนุรักษ์แนวปะการังได้ เริ่มจากการลดการสร้างมลภาวะที่สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • ลดการใช้รถโดยไม่จำเป็น
  • ลดการเผาสิ่งปฏิกูล
  • หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นการทำลายแนวปะการัง ด้วยการทำระบบบำบัดน้ำเสีย
  • ระมัดระวังการใช้ปุ๋ยในการเกษตร เพราะเมื่อถูกชะล้างลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อสาหร่ายในแนวปะการัง
  • ไม่ทิ้งขยะตามชายฝั่งทะเล

 

มาตรการรับมือ

สำหรับมาตรการรับมือ ข้อมูลจาก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ได้ทำการประเมินผลกระทบจากปรากฏการณ์ฟอกขาวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงผลกระทบในด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งระยะสั้น และระยะยาว

  • สำรวจสถานการณ์ปะการังฟอกขาว และจัดทำมาตรการสำหรับป้องกันผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในแนวปะการัง
  • ประกาศใช้กฎหมายในแหล่งท่องเที่ยวเพื่อระงับผลกระทบจากมนุษย์
  • ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิน้ำทะเลในแนวปะการัง
  • ฟื้นฟูแนวปะการังในบางพื้นที่

 

 

อ้างอิง : สถาบันการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (สพท.) , กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม , ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา , กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์