ไทยกับบทบาทผู้นำทางคาร์บอนเครดิต

ไทยกับบทบาทผู้นำทางคาร์บอนเครดิต

เมื่อวิกฤติสภาพอากาศกลายเป็นความท้าทายของมนุษยชาติ การพยายามค้นหาวิธีลดผลกระทบจึงเป็นเรื่องด่วนที่สุด ท่ามกลางความพยายามนี้ “คาร์บอนเครดิต”

ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางการเงินได้เข้ามามีบทบาทผลักดันให้องค์กรต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการสร้างแรงจูงใจทางการเงินผ่านการขาย และการซื้อเครดิตเหล่านี้

คาร์บอนเครดิต เป็นหน่วยวัดที่แสดงถึงการลดหรือกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกจากบรรยากาศ โดย 1 คาร์บอนเครดิต จะเท่ากับการลดหรือกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน คาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือที่ถูกสร้างเพื่อสนับสนุน และกระตุ้นให้บริษัท และประเทศใช้พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

บริษัทหรือกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าขีดจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Cap) สามารถได้รับสิทธิการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อมาชดเชยกับการปล่อยคาร์บอนที่เกินขีดจำกัดนั้น

ในขณะเดียวกันบริษัทหรือกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าขีดจำกัดดังกล่าว ก็สามารถได้รับสิทธิขายคาร์บอนเครดิตในส่วนต่างจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับขีดจำกัดนั้นได้ วิธีการสร้างมูลค่า และสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านระบบคาร์บอนเครดิต มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ

1) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นผู้ที่มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยของตนเอง โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตโดยการลด หรือกักเก็บ CO2 และหน่วยงานกำกับดูแลทำหน้าที่ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องของคาร์บอนเครดิต 

2) กิจกรรมหลัก ได้แก่ การพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อสร้าง และดำเนินการโครงการที่จะช่วยลดหรือกักเก็บ CO2 การตรวจสอบ และรับรองเพื่อยืนยันว่าโครงการได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อจัดการกับการซื้อขายสิทธิในการปล่อย CO2 

3) ทรัพยากรหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีที่ใช้ในการติดตาม และตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเชี่ยวชาญในการพัฒนา และการจัดการโครงการลดก๊าซเรือนกระจก

4) ช่องทางการจัดจำหน่าย ได้แก่ แพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ซึ่งเป็นสื่อกลางสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่สะดวก เป็นระบบ real time โบรกเกอร์ และที่ปรึกษาทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

5) โครงสร้างต้นทุน ได้แก่ ต้นทุนในการพัฒนารวมถึงค่าดำเนินการโครงการต่างๆ ต้นทุนในการตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องของโครงการ

6) กระแสรายได้ การขายคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้จากการขายสิทธิในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในปัจจุบันสังคมโลกกำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยถือประเทศที่มีศักยภาพประเทศหนึ่ง และพยายามผลักดันให้ตนเองเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในตลาดคาร์บอนเครดิต

จะเห็นว่าที่ผ่านมามีการวิจัย และพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด และความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนอย่างต่อเนื่อง

ตามข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ตลาดคาร์บอนเครดิตโลกมีมูลค่าประมาณ 400 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 และคาดว่าจะพุ่งสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2573

สำหรับประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ราว 256 ล้านตันต่อปี อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก คิดเป็นเพียง 1% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก ส่วนใหญ่เกิดมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าถึง 39% (World Resources Institute, 2020)

ความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาโครงการสนับสนุนตลาดคาร์บอนเครดิต สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อการดำเนินการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

ซึ่งนอกจากจะเปิดทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการรวมกันของนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ และการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะไม่เพียงแต่บรรลุเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถยกระดับสถานะบนเวทีโลกในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนอีกด้วย

คาร์บอนเครดิตยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเคลื่อนย้ายเงินทุนสู่ท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะชุมชนใกล้พื้นที่ป่าสามารถรับรายได้จากการปกป้องและรักษาธรรมชาติ

การมีส่วนร่วมของชุมชนไม่เพียงช่วยให้พวกเขามีรายได้ผ่านการขายคาร์บอนเครดิตเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเข้มแข็ง สร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม 

คาร์บอนเครดิตจึงเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมที่สามารถเชื่อมโยงความต้องการทางเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กล่าวโดยสรุปคือ คาร์บอนเครดิตคือ นวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งจะเป็นกลไกแห่งอนาคตสู่การพัฒนา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำในขับเคลื่อนประเทศ และชุมชนโลกให้เดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยสร้างสมดุลของโลกใบนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่สำหรับเราแต่สำหรับรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต 

รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งผลักดันเรื่องนี้เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติด้วยเช่นกัน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์