‘ฮ่องกง’ ผุดไอเดีย ‘ขยะแลกข้าว’ แก้ปัญหา ‘บ่อขยะ’ ใกล้เต็ม

‘ฮ่องกง’ ผุดไอเดีย ‘ขยะแลกข้าว’ แก้ปัญหา ‘บ่อขยะ’ ใกล้เต็ม

รัฐบาลประเมินว่า “บ่อขยะ” ของฮ่องกงจะเต็มภายในปี 2026 และมี “ขยะอาหาร” 30% ที่ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ ส่งผลให้เกิด “ก๊าซมีเทน” จำนวนมาก และจนทำให้บ่อขยะกลายเป็นแหล่งกำเนิด “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของฮ่องกง

KEY

POINTS

  • รัฐบาลประเมินว่า “บ่อขยะ” ของฮ่องกงจะเต็มภายในปี 2026 และมี “ขยะอาหาร” 30% ที่ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ ส่งผลให้เกิด “ก๊าซมีเทน” จำนวนมาก และจนทำให้บ่อขยะกลายเป็นแหล่งกำเนิด “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของฮ่องกง
  • รัฐบาลฮ่องกงจัดทำโครงการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดนิสัยรักการรีไซเคิล ด้วยการให้ประชาชนนำเศษอาหารมารีไซเคิลแลกกับอาหารผ่านระบบสะสมแต้ม โดย 150 คะแนนจะสามารถแลกบะหมี่ได้ 1 ห่อ และสามารถใช้ 1,000 คะแนน แลกข้าว 1 กิโลกรัมเป็นรางวัล
  • ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2567 เป็นต้นไป “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” จะถูกแบนในฮ่องกง หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวอาจถูกปรับสูงสุด 12,800 ดอลลาร์

ขยะ” กลายเป็นปัญหาหลักของเมืองใหญ่หลายแห่งในโลก หนึ่งในนั้นคือ “ฮ่องกง” เมืองที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก กำลังประสบปัญหาขยะล้นเมือง โดยรัฐบาลประเมินว่า “บ่อขยะ” ของฮ่องกงจะเต็มภายในปี 2026 และมี “ขยะอาหาร” 30% ที่ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ ส่งผลให้เกิด “ก๊าซมีเทน” จำนวนมาก และจนทำให้บ่อขยะกลายเป็นแหล่งกำเนิด “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของฮ่องกง

ตามข้อมูลโครงการพิมพ์เขียวการบริหารจัดการขยะ” (Waste Blueprint for Hong Kong 2035) ระบุว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายระยะกลางจะลดปริมาณการกำจัดขยะมูลฝอยลง 40-45% และเพิ่มอัตราการนำกลับมารีไซเคิลได้เป็น 55% และตั้งเป้าจะเก็บค่าขยะราว 250 บาทต่อเดือน

ข้อมูลจากกรมคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือ EPD ในปี 2022 ระบุว่าในแต่ละวันชาวฮ่องกงจะทิ้งขยะเฉลี่ยคนละ 1.51 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ เช่น กรุงโซลอยู่ที่คนละ 0.94 กิโลกรัม ส่วนไทเปอยู่ที่ 0.4 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเรียกเก็บค่าขยะจากภาครัฐ และทำให้คนในโซล และไทเปหันมานำขยะไปรีไซเคิลเพิ่มขึ้น 50%

นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีแผนจัดทำโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่เกาะเชกกวูเจ้า ทางตอนใต้ของเกาะลันเตา โดยแต่ละวันละสามารถใช้ขยะ 3,000 ตัน ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นแหล่งพลังงานสำหรับ 100,000 ครัวเรือนต่อปี และรัฐบาลวางแผนที่จะมีโรงไฟฟ้าแห่งที่สองภายในทศวรรษที่ 2030 ซึ่งวางแผนว่าจะสามารถผลิตได้มากถึง 6,000 ตันต่อวัน 

“นิคมอุตสาหกรรมแปรรูปขยะ” ทางออกปัญหาขยะ

ในปี 2022 ฮ่องกงมีขยะมูลฝอยสูงถึง 15,725 ตันต่อวัน โดย 68% ของขยะถูกส่งกลับไปยังสถานที่ฝังกลบ ที่เหลือจะถูกส่งไปรีไซเคิล ซึ่งมีประมาณ 78% ถูกส่งไปรีไซเคิลมีถูกส่งไปรีไซเคิลนอกเมือง และมีเพียง 7% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิลในเมือง โดยขยะที่ถูกนำมารีไซเคิลนั้นจะเป็นพลาสติก โลหะ และขยะอาหาร

หู หยานกั๋ว กรรมการบริหารและรองประธานของ China Everbright Environment Group Limited ผู้พัฒนาโครงการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวว่า ฮ่องกงควรจัดการปัญหาขยะด้วยการเผา ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถกำจัด และลดปริมาณขยะได้ และทั่วโลกนิยมใช้

ขยะ 80% ในญี่ปุ่นถูกกำจัดด้วยการเผา ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ใช้การเผาถึง 70% ขณะที่ยุโรปใช้การเผา 27% ส่วนที่เหลือเป็นการรีไซเคิล

นอกจากนี้ นายหู ยังแนะนำว่า ฮ่องกงควรพิจารณาการสร้าง “นิคมอุตสาหกรรม” สำหรับการแปรรูปขยะประเภทต่างๆ เช่น ของแข็ง อาหาร และกากตะกอนน้ำเสีย โดยให้โรงงานต่างๆ อยู่ในพื้นที่เดียวกัน วิธีนี้ช่วยให้นำไอน้ำ น้ำ และก๊าซมีเทนกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังสามารถความต้องการพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน พร้อมลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อีกด้วย

“การพัฒนาโครงการแบบรวมศูนย์ยังสามารถส่งผลให้ประหยัดทรัพยากรที่ดิน การก่อสร้าง และต้นทุนการดำเนินงาน” เขากล่าว

นายหู ยังอ้างถึงตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนในเมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน ที่มีโรงบำบัดขยะ 8 โรงอยู่รวมกันในพื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตร โดยใช้งบประมาณลงทุนเพียง 279 ล้านดอลลาร์ และเตรียมจะสร้างเพิ่มเติมอีก 27 แห่ง

กระตุ้นให้ชาวฮ่องกงช่วยกันลด “ขยะอาหาร”

ขยะอาหารในฮ่องกงมีมากถึง 30% ของขยะทั้งหมด โดย 68% นั้นมาจากครัวเรือนโดยตรง ส่วนที่เหลือมาจากร้านอาหาร โรงแรม ตลาด อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะจบลงที่บ่อขยะ ทำให้รัฐบาลต้องหาทางลดปริมาณขยะอาหารลง  

กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ชาวบ้านในย่านอเบอร์ดีน ทางตอนใต้ของเกาะฮ่องกงจะนำเศษอาหารมาทิ้งในถังขยะรีไซเคิลอัจฉริยะหลังจากกินอาหารเย็นเสร็จ นี่เป็นหนึ่งในโครงการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดนิสัยรักการรีไซเคิล

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2566 โดยประชาชนที่นำเศษอาหารมารีไซเคิลจะได้รับคะแนนสูงสุด 50 คะแนนต่อวัน ตามน้ำหนักขยะที่นำมาทิ้ง ซึ่งสามารถนำคะแนนมาแลกเป็นของรางวัลเพื่อจูงใจให้ผู้คนหันมาร่วมโครงการ เมื่อสะสมครบ 150 คะแนน จะสามารถแลกบะหมี่ได้ 1 ห่อ และสามารถใช้ 1,000 คะแนนแลกข้าว 1 กิโลกรัมเป็นรางวัล

นับตั้งแต่เริ่มโครงการนี้มา มีประชาชนนำขยะมาร่วมรีไซเคิลแล้วกว่า 43 ตัน ใน 5 พื้นที่ทำการทดลอง แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าโครงการนี้จะยังมีอยู่ในระยะยาวหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลจะต้องศึกษาความคุ้มทุนเพิ่มเติม

 

แบน “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ใน “ฮ่องกง”

รัฐบาลฮ่องกงออกกฎหมายห้ามให้ร้านอาหารใช้ “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ไม่ว่าจะเป็นหลอด ภาชนะ ช้อนส้อม มีด และฝาแก้ว ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยจะมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือนหลังจากกฎหมายประกาศใช้ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ยังกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นหากเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่ทำจากไม้ และกระดาษแทน

ไซมอน หว่อง ประธานกิตติมศักดิ์ของสถาบันผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร กล่าวว่า ร้านอาหารขนาดเล็ก และขนาดกลางพยายามจะยื้อเวลาใช้อุปกรณ์พลาสติกให้ได้นานที่สุด เพราะราคาอุปกรณ์ที่ทำจากไม้ และกระดาษสูงกว่าพลาสติกถึง 2 เท่า อีกทั้งจำเป็นต้องใช้สินค้าที่มีอยู่ให้หมดก่อน 

ขณะที่ แกรี ชาน สมาชิกนิติบัญญัติ ระบุว่า ประชาชนยังไม่เข้าใจว่าอะไรใช้ได้บ้าง อะไรที่ห้ามใช้ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับองค์กร และหน่วยงานของรัฐต้องทำการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และต้องเน้นกับประชาชนถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ ซึ่งก็คือ การลดจำนวนขยะพลาสติกให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวอาจถูกปรับสูงสุด 12,800 ดอลลาร์ โดยเจ้าหน้าที่สามารถสั่งปรับได้ 255 ดอลลาร์ทันที หากพบการกระทำความผิดซึ่งหน้า อีกทั้งกฎหมายนี้ยังครอบคลุมไปถึงการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งอื่นๆ เช่น สำลีก้าน ปลอกร่ม และแท่งเรืองแสง อีกด้วย

แม้จะมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือนก่อนบังคับใช้กฎหมายจริง แต่พร้อมจะใช้กฎหมายทันทีหากเจ้าหน้าที่ตักเตือนหลายครั้งแล้วยังคงทำความผิดซ้ำซาก


ที่มา:  CNASCMP 1SCMP 2

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์