‘มีเทน’ ตัวการ ‘ก๊าซเรือนกระจก’ รั่วไหลจาก ‘บ่อขยะ’ 1,200 ครั้งทั่วโลก
ข้อมูลจากดาวเทียมชี้ “ก๊าซมีเทน” หนึ่งใน “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รั่วไหลรุนแรงจาก “บ่อขยะ” กว่า 1,200 ครั้ง ซึ่งเกิดจากการไม่แยกขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร ซากพืช ออกก่อนทิ้งขยะ ผู้เชี่ยวชาญชี้ต้องรีบแก้ไข “ปัญหาขยะ” ก่อนสายเกินแก้
สำนักข่าว The Guardian เปิดเผยการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมทั่วโลก พบว่าเกิดการรั่วไหลของ “ก๊าซมีเทน” เป็นหนึ่งใน “ก๊าซเรือนกระจก” ตัวการที่ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” จากบ่อขยะมากกว่า 1,000 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2019 โดยประเทศที่พบการรั่วไหลของก๊าซมีเทนจากประเทศในเอเชียใต้ทั้ง ปากีสถาน อินเดีย และบังกลาเทศ ตามมาด้วย อาร์เจนตินา อุซเบกิสถาน และสเปน ซึ่งเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีปัญหาการปล่อยก๊าซมีเทนจากบ่อขยะ
พื้นที่ฝังกลบขยะจะปล่อยก๊าซมีเทนเมื่อขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร ไม้ การ์ด กระดาษ และซากพืชซากสัตว์ ย่อยสลายโดยไม่มีออกซิเจน ซึ่งมีเทนสามารถดักจับความมร้อนในชั้นบรรยากาศได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 86 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนให้ได้
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลุมขยะที่ไม่มีการจัดการที่ดีจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2050 หากประชากรในเมืองจะยังเพิ่มขึ้น และไม่สามารถหลีกเลี่ยงพิบัติทางธรรมชาติได้เลย
ข้อมูลใหม่นี้ระบุว่าตั้งแต่ปี 2019 จนถึง มิถุนายน 2566 มีการปล่อยก๊าซมีเทนครั้งใหญ่จากหลุมขยะ 1,256 ครั้ง
- ก๊าซมีเทน ตัวการใหญ่ปัญหาโลกร้อน
การปล่อยก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2007 และคิดเป็น 1 ใน 3 ทั้งหมดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลกในปัจจุบัน และยังเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ นอกจากจะเกิดจากบ่อขยะแล้วยังมีเกิดในธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำ
ประเด็นนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่า มีเทนอาจจะเป็นตัวขัดขวางที่ใหญ่ที่สุดในการรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และอาจก่อให้เกิดหายนะต่อสภาพอากาศ
เมื่อจำแนกประเภทการปล่อยก๊าซมีเทนทั้งหมดในปัจจุบัน พบว่า มี 20% ที่ปล่อยมาจากการทิ้งขยะอินทรีย์ของมนุษย์ อีก 40% เกิดจากการทำนาและปศุสัตว์
ส่วนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 40% โดยในปี 2022 เพียงปีเดียวเกิดเหตุการณ์ปะทุก๊าซมีเทนครั้งใหญ่จากแหล่งน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินมากกว่า 1,000 ครั้ง
ศ.ยวน นิสเบต ผู้เชี่ยวชาญด้านก๊าซมีเทนจากมหาวิทยาลัยรอยัลฮอลโลเวย์แห่งลอนดอน กล่าวว่า “การฝังกลบขนาดใหญ่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ที่มีกลิ่นเหม็นจะติดไฟง่าย อีกทั้งจุลินทรีย์ในดินยังเปลี่ยนก๊าซมีเทนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 97%”
ทางด้าน คาร์ลอส ซิลวา ฟิลโญ ประธานสมาคมขยะมูลฝอยระหว่างประเทศกล่าวว่า ปัจจุบันมี 150 ประเทศที่ลงนามในคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลดลง 30% ภายในปี 2030 ซึ่งจะทำไม่ได้เลย ถ้าเกิดประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมขยะได้ เพราะในตอนนี้มีขยะทั่วโลกประมาณ 40% ยังคงไม่ได้ถูกจัดการ
อองตวน ฮาล์ฟ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Kayrros บริษัทให้บริการการวิเคราะห์ภาพดาวเทียม กล่าวว่า “หลุมขยะเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่หลาย ๆ ประเทศสูญเสียโอกาสในการเปลี่ยนก๊าซเหล่านี้กลายเป็นเชื้อเพลิงใช้ในประเทศได้ กลับกลายเป็นแค่ก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น”
- ปัญหาขยะเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
ในปี 2020 เกิดการรั่วไหลของ นิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย มีเหตุการณ์ปลดปล่อยก๊าซมีเทนครั้งใหญ่อย่างน้อย 124 ครั้งจากการฝังกลบขยะ ดร. ริชา ซิงห์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในเมืองนี้ กล่าวว่า ในตอนนี้มีเทนรั่วไหลจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซทั่วโลก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดจากการรั่วไหลของก๊าซมีเทนในอินเดีย เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2022 ที่กรุงนิวเดลี ในครั้งนั้นมีก๊าซมีเทนไหลเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในอัตรา 434 ตันต่อชั่วโมง เทียบเท่ากับมลพิษที่เกิดจากรถเบนซินจำนวน 68 ล้านคันที่วิ่งพร้อมกัน
นอกจากจะทำให้อากาศสกปรกแล้ว “ภูเขาขยะ” ที่มีสูงถึง 60 เมตร และมีความกว้างสุดลูกหูลูกตา ยังส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วอาณาบริเวณ และในช่วงฤดูร้อนจะเกิดไฟลุกไหม้ตลอดสัปดาห์ ทำให้ผู้คนในละแวกนั้นหายใจไม่ออกและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งได้
ดร.ซิงห์กล่าวว่า ปรกติแล้วมีเทนเป็นก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศประมาณ 0.0002% แต่บ่อขยะในอินเดียมีปริมาณก๊าซมีเทนระหว่าง 3-15% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
อินเดียเผชิญกับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการลดก๊าซมีเทนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การจัดการกับหลุมขยะจะสามารถช่วยลดการเกิดเหตุเพลิงไหม้ มลพิษทางอากาศและน้ำได้
แม้ว่าประเทศที่ร่ำรวยส่วนใหญ่จัดการกับการรั่วไหลของมีเทนจากการทิ้งขยะได้อย่างดีเยี่ยม แต่การก็ยังมีการรั่วไหลอยู่ อย่างเช่น สหราชอาณาจักรก็ยังมีก๊าซรั่วถึง 4%
“ขยะยังคงเป็นประเด็นที่ถูกละเลยและไม่ได้รับความสำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบซีกโลกใต้ ผู้คนไม่ได้สนใจว่าขยะจะถูกส่งไปที่ไหน ถูกจัดการอย่างไร ขอแค่เอาขยะออกไปให้พ้นสายตาเท่านั้นก็พอแล้ว” ซิลวา ฟิลโญกล่าว
- จัดการการฝังกลบขยะให้ถูกวิธี
การฝังกลบขยะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและราคาถูก แต่เป็นเพียงวิธีแก้ปัญหามลพิษบางส่วนเท่านั้น แถมสถานที่ฝังกลบส่วนใหญ่ในอินเดียและประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ และไม่มีกลไกกำจัดของเสียและก๊าซมีเทน
“หลุมขยะถือเป็นศูนย์กลางมลพิษก็ว่าได้ เพราะคุณจะพบมลพิษครบทุกประเภท ทั้งทางบก หน้าดิน น้ำใต้ดิน และอากาศอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก” ซิงห์กล่าว
ทั้งนี้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการฝังกลบได้ด้วยการไม่ทิ้งขยะอินทรีย์ หรือมีการดักจับมีเทนที่ออกมาจากหลุมฝังกลบ ซึ่งทุกคนสามารถเริ่มต้นทำได้ด้วยตัวเอง และมีต้นทุนต่ำ และถือเป็นว่าอีกวิธีที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างรวดเร็ว
เมืองอินเทาร์ รัฐมัธยประเทศ ของอินเดีย ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดของอินเดีย มีมาตรการแยกขยะอินทรีย์จำนวนมากตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดการฝังกลบขยะที่สามารถสร้างก๊าซมีเทนในอนาคตได้ พร้อมส่งขยะอินทรีย์เหล่านั้นให้กับโรงงานไบโอมีสำหรับผลิตเชื้อเพลิงแทน นอกจากนี้ เมืองยังได้ปรับปรุงพื้นที่ฝังกลบขนาด 100 เอเคอร์ และมีการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
การลดก๊าซมีเทนนับเป็นการลงทุนด้านสภาพอากาศที่ดี ทำได้ง่าย เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว และเป็นสิ่งที่หลาย ๆ ประเทศมองข้าม
ที่มา: The Guardian