‘PM 2.5’ บุกทั่วโลก มีแค่ 7 เมืองที่อากาศดี ‘ไทย’ ท็อป 5 อากาศแย่สุดใน ‘อาเซียน’

‘PM 2.5’ บุกทั่วโลก มีแค่ 7 เมืองที่อากาศดี ‘ไทย’ ท็อป 5 อากาศแย่สุดใน ‘อาเซียน’

IQAir บริษัทติดตามคุณภาพอากาศทั่วโลก รายงานสภาพอากาศประจำปี 2023 พบว่า 100 เมืองที่มีอากาศแย่ที่สุด อยู่ในเอเชียไปแล้ว 99 เมือง และมีถึง 83 เมือง อยู่ใน “อินเดีย” ส่วนเมืองที่อากาศแย่ที่สุดในไทยคือ อ.พาน จ.เชียงราย ติดอันดับ 115

KEY

POINTS

  • รายงานสภาพอากาศประจำปี 2023 ของ IQAir พบว่า “เบกูซาไร” ของ “อินเดีย” ครองตำแหน่งเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ด้วยความเข้มข้นของ PM2.5 มากกว่าเกณฑ์ของ WHO ถึง 23 เท่า ขณะที่ “บังกลาเทศ” กลายเป็นประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก มากกว่าเกณฑ์ของ WHO ถึง 16 เท่า 
  • “ประเทศไทย” มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 36 ของโลก และอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอ.พาน ใน จ.เชียงราย และ อ. ปาย ของ จ.แม่ฮ่องสอน ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของพื้นที่ที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 แย่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • จาก 134 ประเทศและภูมิภาคที่สำรวจในรายงาน มีเพียง 7 เมืองเท่านั้นที่มีอากาศสะอาด ค่า PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์ที่ WHO กำหนด คือระดับ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

IQAir บริษัทติดตามคุณภาพอากาศทั่วโลก รายงานสภาพอากาศประจำปี 2023 พบว่า 100 เมืองที่มีอากาศแย่ที่สุด อยู่ในเอเชียไปแล้ว 99 เมือง และมีถึง 83 เมือง อยู่ใน “อินเดีย” โดยมี “PM2.5” เกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO มากกว่า 10 เท่า ส่วนเมืองที่อากาศแย่ที่สุดในไทย คือ อ.พาน จ.เชียงราย ติดอันดับ 115

ทั้งนี้วิกฤติสภาพภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คุณภาพอากาศไม่ดี เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก

 

“เอเชียใต้” อ่วม อากาศเป็นพิษที่สุดในโลก

การศึกษานี้เก็บข้อมูลเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ซึ่งเป็นมลพิษที่มีขนาดเล็กที่สุด มีขนาดเพียง 2.5 ไมครอน หรือ 1 ใน 30 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมเส้นเดียว แต่ก็เป็นอันตรายมากที่สุด โดยทำการเก็บข้อมูล 7,812 เมือง ครอบคลุม 134 ประเทศ ภูมิภาค และเขตแดน พบว่า มีเมืองเพียง 9% ที่มีคุณภาพอากาศตรงตามมาตรฐานของ WHO ที่ระบุว่าระดับ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

“เบกูซาไร” เมืองที่มีประชากรราว 500,000 คน ตั้งอยู่ในรัฐพิหารทางตอนเหนือของอินเดีย ครองตำแหน่งเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกเมื่อปี 2023 มีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 118.9 ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ของ WHO ถึง 23 เท่า

โดยอันดับที่ 2-4 ก็ยังคงเป็นเมืองในอินเดีย ได้แก่ อันดับที่ 2 คือ เมืองกูวาฮาติ ในรัฐอัสสัม ส่วนอันดับ 3 เมืองเดลี และอันดับที่ 4 เมืองมุลลันปูร์ ในรัฐปัญจาบ

รายงานระบุว่า ประชากรอินเดียจำนวน 1,300 ล้านคน หรือคิดเป็น 96% ของประเทศ ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มี ค่า PM2.5 สูงกว่ากำหนดถึง 7 เท่า

10 อันดับประเทศที่มีค่า PM2.5 สูงที่สุดในปี 2023 จะพบว่า

1. “บังกลาเทศ” กลายเป็น ประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ด้วยค่า PM2.5 ที่สูงถึง 79.9 ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ของ WHO ถึง 16 เท่า 

  1. ปากีสถาน (73.7)
  2. อินเดีย (54.4)
  3. ทาจิกิสถาน (49)
  4. บูร์กินาฟาโซ (46.6)
  5. อิรัก (43.8)
  6. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (43)
  7. เนปาล (42.4)
  8. อียิปต์ (42.4)
  9. ดีอาร์ คองโก (40.8)

จะเห็นได้ว่าประเทศทั้งหมดอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียกลาง และแอฟริกา แต่ที่น่ากังวลมากที่สุดคือ “เอเชียใต้” เพราะมีถึง 29 เมืองของอินเดีย ปากีสถาน หรือบังกลาเทศ ติด 30 อันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด

“เราเห็นแล้วว่ามลพิษทางอากาศมีผลกระทบในทุกส่วนของชีวิต และสภาพอากาศที่ย่ำแย่สามารถคร่าชีวิตคนได้ในเวลา 3-6 ปี สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ประชาชน” แฟรงค์ แฮมเมส ซีอีโอของ IQAir Global กล่าว 

ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแหล่งที่มาหลากหลาย ทั้ง การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ พายุฝุ่น การเผาขยะและไฟป่า เมื่อสูดดม PM2.5 เข้าไปในร่างกาย ฝุ่นจิ๋ว นี้สามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อปอด และเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า PM2.5 ทำให้เป็นโรคหอบหืด โรคหัวใจและปอด มะเร็ง และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ รวมถึงความบกพร่องทางสติปัญญาในเด็ก

มลพิษทางอากาศ คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปประมาณ 7 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าโรคเอดส์และมาลาเรียรวมกัน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศยากจนที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงสกปรก (dirty fuels) ในการให้ความร้อน ปรุงอาหารและให้ความสว่างภายในครอบครัว ซึ่งจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศภายในที่อยู่อาศัยด้วย

แฮมเมสกล่าวว่าระดับมลพิษจะไม่ดีขึ้นถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและการเกษตร 

“ไทย” ติดอันดับ “ท็อป 5” อากาศแย่ของ “อาเซียน”

IQAir พบว่า คุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2023 แย่กว่า 2022 โดยมีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เพิ่มขึ้นกว่า 20% และใน 5 พื้นที่ที่คุณภาพอากาศแย่ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปี 2022 ไม่มีพื้นที่ไหนที่มีค่าเฉลี่ยรายปีสูงเกินนี้ 

“ประเทศไทย” มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 36 ของโลก และอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปีที่ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 4.7 เท่า ซึ่งเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2022 

ขณะที่ อ.พาน ใน จ.เชียงราย และ อ. ปาย ของ จ.แม่ฮ่องสอน ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของพื้นที่ที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 แย่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 18.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2023 เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด ในจังหวัดเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายเดือนเพิ่มจาก 53.4 เป็น 106.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 150% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายเดือนของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2022

ส่วนกรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 37 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลก มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี 21.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ข้อมูลจากรายงานของกรีนพีซ ประเทศไทยเผยว่าการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือตัวการสำคัญในการขยายการลงทุนข้ามแดนและพื้นที่เพาะปลูกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ท้ายที่สุดก็ก่อฝุ่นพิษข้ามแดนกลับมายังไทย รัฐควรเร่งกำหนดให้พ.ร.บ.อากาศสะอาดมีระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานและบังคับใช้กฎหมายที่สามารถเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนและการทำลายป่า เพราะนี่คือวิกฤตเร่งด่วนที่รัฐต้องให้ความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน มากกว่าผลกำไรของบริษัทอุตสาหกรรม”

 

มีเพียง 7 เมืองที่อากาศบริสุทธิ์

จาก 134 ประเทศและภูมิภาคที่สำรวจในรายงาน มีเพียง 7 เมืองเท่านั้นที่มีอากาศสะอาด ค่า PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์ที่ WHO กำหนด

1. เมืองซานฮวน ในเปอร์โตริโก (2.7) เป็นเมืองที่มีอากาศดีที่สุดในโลก

  1. กรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ (3.1)
  2. กรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย (3.8)
  3. กรุงเรคยาวิก เมืองหลวงประเทศไอซ์แลนด์ (3.9) 
  4. เมืองแฮมิลตัน เมืองหลวงของดินแดนเบอร์มิวดา (4.1)
  5. กรุงทาลลินน์ เอสโตเนีย (4.6) 
  6. กรุงเฮลซิงกิ ของฟินแลนด์ 

โดยทั่วไปแล้วอากาศของโลกจะสะอาดกว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมามาก แต่ก็ยังมีสถานที่หลายแห่งที่ระดับมลพิษเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังได้รับผลกระทบนี้ อย่างเช่น ทวีปอเมริกาเหนือได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไฟป่าในแคนาดาช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมปีที่แล้ว รายงานพบว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนของมลพิษทางอากาศในเดือนพฤษภาคมของรัฐอัลเบอร์ตา แคนาดาสูงกว่าปี 2022 ถึง 9 เท่า ทำให้ปี 2023 เป็นครั้งแรกที่แคนาดามีระดับมลพิษสูงกว่าสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ไฟป่า ยังส่งผลกระทบต่อเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐ ทั้งมินนีแอโพลิส และดีทรอยต์ ด้วยเช่นกัน โดยมีมลพิษเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 30% ถึง 50% ตามลำดับ แต่เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในสหรัฐประจำปี 2023 คือเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ ซึ่งครองตำแหน่งต่อเนื่องเป็นปีที่สองติดต่อกัน 

แฮมเมสกล่าวว่า “มลพิษข้ามพรมแดน” เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของโลก เพราะ ควันพิษสามารถแพร่กระจายจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศอื่น ๆ ได้ และอาจส่งผลให้ประเทศปลายทางมีคุณภาพอากาศที่แย่ลง 

อย่างเช่นเมืองในสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าในแคนาดา ขณะที่ทางเหนือของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเกิดจุดความร้อนในพม่า ส่วนเกาหลีใต้ต้องรับมือมลพิษ PM2.5 จากลมที่พัดเอาควันไฟโรงไฟฟ้าถ่านหินทางตอนเหนือของจีนเข้าประเทศ ในขณะเดียวกัน หลายประเทศในทะเลแคริบเบียนมีอากาศที่ดี เพราะลมได้พัดพามลพิษทางอากาศออกไป

แม้ว่าส่วนใหญ่ของโลกจะมีมลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ในโลกที่มีคุณภาพอากาศดีขึ้น  ตัวอย่างเช่น จีนที่แม้ในปีที่แล้วภาคอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังสามารถจัดการกับ PM2.5 ได้ดีพอสมควร ทำให้ระดับฝุ่นเพิ่มขึ้นเพียง 6.5% ส่วนชิลีที่มีไฟป่าครั้งใหญ่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่รายงานมลพิษ PM2.5 ลดลง 15% จากปี 2022 เช่นเดียวกับความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีของแอฟริกาใต้ก็ลดลงในจำนวนที่ใกล้เคียงกันกับชิลี

จากข้อมูลรายงาน คุณภาพอากาศโลกปี 2566 แสดงให้เห็นว่าทุกประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่ต้นเหตุของแหล่งกำเนิด PM 2.5 อย่างจริงจัง โดยต้องกำหนดนโยบาย งบประมาณ และยกระดับให้เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเหนือกลุ่มทุนอุตสาหกรรม เพราะการเข้าถึงอากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนบนโลกใบนี้


ที่มา: BloombergCNNThe Guardian