'วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ' สร้างเยาวชน พิทักษ์รักษ์น้ำ
ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย ผนึกกำลัง ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ผ่านโครงการ 'วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ' มุ่งส่งเสริม 'เยาวชน' ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม
KEY
POINTS
- น้ำ เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต การปลูกฝั่งทัศนคติในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดการสร้างการตระหนักรู้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเยาวชน ที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า
- “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ มีการขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ ‘มิซุอิกุ’ ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งถือเป็นบริษัทลำดับที่สอง ในเครือ ซันโทรี่ กรุ๊ป ที่ดำเนินโครงการ ‘มิซุอิกุ’ นอกประเทศญี่ปุ่น
- ล่าสุด ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย ผนึกกำลัง ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ผ่านโครงการ 'วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ' มุ่งส่งเสริม 'เยาวชน' ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม
น้ำ เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต การปลูกฝั่งทัศนคติในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดการสร้างการตระหนักรู้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเยาวชน ที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เพราะเยาวชนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูแลทรัพยากรต่อไปในอนาคต
ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย หนึ่งในบริษัทที่มีความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเติบโตอย่างยั่งยืน (Growing for Good)” ด้วยความตระหนักว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ล้ำค่า ทุกชีวิตล้วนแล้วแต่อาศัย “น้ำ” เพื่อการดำรงชีวิต และ “น้ำ” จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ
ดังนั้น การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกคนและต่อโลกใบนี้ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย จึงดำเนินโครงการหลากหลายเกี่ยวกับ “น้ำ” โดยมีวัถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมา มีการเดินหน้า โครงการ ‘มิซุอิกุ’ ซึ่งริเริ่มในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2547 ก่อนจะขยายไปในอีกกว่า 8 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ในภาษาญี่ปุ่น ‘มิซุ’ หมายถึง ‘น้ำ’ และ ‘อิกุ’ หมายถึง ‘การให้ความรู้’ โครงการมุ่งส่งเสริมให้คนในประเทศนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม รวมถึงสอนให้ทุกคนเข้าใจบทบาทของตนเองที่สามารถมีส่วนร่วมอนุรักษ์น้ำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและส่งต่อให้คนรุ่นหลังต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Sustainability Forum 2024 ความยั่งยืนต้องลงมือทำ “เดี๋ยวนี้”
Sustainability Forum “รัฐ-เอกชน” ผนึกพัฒนาเพื่อยั่งยืน
เยาวชน ฟันเฟืองสำคัญ อนุรักษ์น้ำ
วิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าว เปิดตัวกิจกรรม“ค่ายมิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ”ภายใต้โครงการ“วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ” ประจำปี 2567 ว่า “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เพราะ ‘น้ำ’ คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่งต่อทุกชีวิต
บริษัทฯ จึงขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ ‘มิซุอิกุ’ ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งถือเป็นบริษัทลำดับที่สอง ในเครือ ซันโทรี่ กรุ๊ป ที่ดำเนินโครงการ ‘มิซุอิกุ’ นอกประเทศญี่ปุ่น
ตั้งแต่วันเริ่มต้นของโครงการฯ จนถึงปัจุบัน หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ เยาวชน ชุมชน และพนักงานในบริษัทของเรา เพราะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมหลายหน่วยงานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาในการส่งมอบองค์ความรู้เรื่องความสำคัญของทรัพยากรน้ำ โดยมีนักเรียนกว่า 20,250 คน จาก 345 โรงเรียน เข้าร่วมโครงการ ‘มิซุอิกุ’
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมอบเงินทุนให้แก่โรงเรียเพื่อบูรณาการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในมิติต่าง ๆ ของโรงเรียน รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านทรัพยากรน้ำ ผ่านกิจกรรม ‘อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ’ อาทิ การสร้างฝาย ปลูกหญ้าแฝก และฟื้นฟูระบบนิเวศของป่า พร้อมกันนี้เรายังเปิดโอกาสให้พนักงานได้เข้าร่วมกิจกรรมในทุก ๆ ปี จากการปลูกฝังความรู้สู่การลงมือปฏิบัติ ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย
เดินหน้าสู่ “วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ : เรารักษ์น้ำ”
ล่าสุด บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการ “วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ : เรารักษ์น้ำ” ประจำปี 2567 เป็นครั้งแรก
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายผลโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของทั้งสองบริษัทฯ มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน ผ่านการจัดกิจกรรม “ค่ายมิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ” และ การประกวด “โรงเรียนต้นแบบรักษ์ มิซุอิกุ” ประจำปี 2567 ตลอดจนกิจกรรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ให้แก่คนในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้พนักงานของบริษัทฯ ได้มีส่วนร่วม
ณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย และอินโดไชน่า กล่าวว่า ในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ ครบรอบ 20 ปี ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ ‘มิซุอุกิ’ ในประเทศญี่ปุ่น และเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย และ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ที่จะร่วมกันดำเนินโครงการ ‘วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ’ ประจำปี 2567
เพื่อร่วมกันเสริมสร้างองค์ความรู้และสานต่อกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติสิ่งแวดล้อมและมิติทางสังคม ตอกย้ำค่านิยมองค์กรของเรา คือ ‘การเติบโตอย่างยั่งยืน’ (Growing for Good) และ‘การตอบแทนกลับคืนสู่สังคม’ (Giving Back to Society)
การร่วมมือระหว่างภาครัฐ - เอกชน
โครงการ “วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ” ประจำปี 2567 ได้รับเกียรติจากภาคีภาครัฐร่วมเป็นพันธมิตร ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ยังผนึกกำลังกับ 'ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา' (Environmental Education Centre) องค์กรที่มุ่งหวังในการส่งเสริมให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกันขับเคลื่อนพันธกิจในการจุดประกายให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ซึ่งรูปแบบกิจกรรมหลัก ได้แก่
กิจกรรม“ค่าย มิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ” (Mizuiku Water Hero Camp) คัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาในจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ ระยองและชลบุรี รวมทั้งสิ้น 30 โรงเรียน โดยมีแกนนำนักเรียน ตัวแทนคุณครู และพนักงานจิตอาสาจากทั้งสองบริษัทเข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 4 -6 มิถุนายน 2567 ณ จังหวัดระยอง เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เข้าใจวัฏจักรของน้ำ และปัญหาของน้ำที่พบในท้องที่ ส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจําวัน
การประกวด “โรงเรียนต้นแบบรักษ์น้ำ มิซุอิกุ” (Mizuiku Water Model School) โดยหลังจากจบกิจกรรมค่ายฯ ทางโครงการฯ มีเงินสนับสนุนให้โรงเรียนละ 10,000 บาท เพื่อให้เสนอแผนงานและแข่งขันดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในโรงเรียน ให้ครอบคลุม 4 ด้าน คือด้านนโยบาย ด้านบุคลากร ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการขยายผลสู่ชุมชน พร้อมทั้งจัดตั้ง “มิซุอิกุ คลับ” เพื่อขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ
คัดเลือก 1 โรงเรียนต่อจังหวัดเป้าหมาย เป็น “โรงเรียนต้นแบบรักษ์น้ำ มิซุอิกุ” และได้เดินทางไปดูต้นกำเนิดโครงการ “มิซุอิกุ” ณ ประเทศญี่ปุ่น
โรงเรียนต้นแบบ “อนุบาลรักภาษา” รักษ์สิ่งแวดล้อม
หนึ่งในตัวอย่าง โรงเรียนต้นแบบรักษ์น้ำ ‘มิซุอิกุ’ อย่างโรงเรียนอนุบาลรักษา จังหวัดระยอง ซึ่งมีนโยบาย รักภาษา รักษ์สิ่งแวดล้อม...น้ำคือ ชีวิต ภายใต้การนำของ ดร.สุนิสา สก็อต ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน โดยการเดินทางของโรงเรียนรักภาษา สู่โรงเรียนต้นแบบนั้น เริ่มจากการสร้างแกนนำทั้ง 12 คน และผู้อำนวยการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ ส่งต่อสู่นักเรียน
หลังจากมีการเข้า “ค่าย มิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ” ได้นำความรู้มาปรับใช้ ประชุมวางแผน จัดกิจกรรมมินิแคมป์ จัดกิจกรรม เพื่อให้ทุกคนในโรงเรียนเข้าใจ นอกจาก การสร้างความรับรู้ภายในโรงเรียนแล้ว ยังมีการถ่ายทอดความรู้ไปยังโรงเรียนอื่นๆ อีกด้วย
สำหรับ นโยบาย รักภาษา รักษ์สิ่งแวดล้อม...น้ำคือ ชีวิต สู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน คือ การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และมีประสิทธิภาพ ลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และไฟฟ้าลง ร้อยละ 15 มีนโยบายปิดไฟ ปิดน้ำทุกครั้งหลังใช้งาน รวมถึงมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ระบบบำบัดน้ำ ลดการทิ้งของเสียลงสิ่งแวดล้อม ลดขยะ ร้อยละ 25 ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก และนำขวดน้ำส่วนตัวมาใช้ที่โรงเรียน
ขณะเดียวกัน โรงเรียนมีขยะหลักๆ คือ ถุงนม กล่องนม ดังนั้น น้องๆ นักเรียนจะนำมาล้างให้สะอาดและส่งต่อให้เทศบาล รวมถึงให้ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก ในการอนุรักษ์น้ำ ทรัพยากรทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน จัดทำนิทรรศการเพื่อให้นักเรียนได้ค้นคว้า เพื่อให้ทุกคนนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยทางโรงเรียนอนุบาลรักภาษา จะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการต่างๆ ต่อไปอย่างงยั่งยืน
เยาวชน บทบาทสำคัญดูแลทรัพยากรน้ำ
ธีระชุณ บุญสิทธิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำ คือการกำกับ ควบคุม อนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งนี้ การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมให้ความรู้และกระตุ้นจิตสำนึกของเยาวชนในการอนุรักษ์น้ำ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมฯ
เนื่องด้วย กรมฯ เล็งเห็นว่าเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะต้องเร่งปลูกฝังและเสริมสร้างองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเยาวชนเป็นอนาคตของชาติและจะมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการดูแลทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานของโครงการ ‘มิซุอิกุ’
"ที่ผ่านมา มีความสอดคล้องกับภารกิจดังกล่าวของกรมทรัพยากรน้ำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในปี 2567 นี้ เราจะยังให้ความร่วมมือและเดินหน้าสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการฯ เพื่อร่วมปลูกจิตสำนึกที่ดีในหมู่เยาวชนให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป”
สร้างความตระหนักรู้ เยาวชน
ด้าน วัฒน์ ทาบึงกาฬ เลขานุการกรม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจในการเสนอแนะและจัดทำนโยบาย แผน และมาตรการ เกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ซึ่งการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 ในการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ ในการสร้างความตระหนักรู้และเสริมศักยภาพ
กรมฯ มีบทบาทในการสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชน โดยในด้านทรัพยากรน้ำ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนและส่งเสริมแนวทางการดูแลรักษาแม่น้ำคูคลอง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสิ่งแวดล้อมศึกษาและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาด้านการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำผ่านกิจกรรมมากมาย
“ซึ่งเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนโครงการ ‘วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ’ ทั้งในส่วนของข้อมูลและองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินกิจกรรม เพื่อร่วมสร้างพลเมืองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ปลูกฝังเยาวชน สู่พลเมืองสังคม
อีกหนึ่งพันธมิตรภาครัฐ ดร.ชานัน ติรณะรัต ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่จัดการและควบคุมมลพิษทางน้ำโดยตรง กรมควบคุมมลพิษตระหนักดีว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมจะต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
สิ่งแรกที่ควรเน้นย้ำและปลูกฝังคือทัศนคติและองค์ความรู้ของผู้คน โดยเฉพาะกับเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองของสังคม โดยผ่านกระบวนการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของน้ำ การอนุรักษ์น้ำในชีวิตประจำวัน โครงการ ‘วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ’ ประจำปี 2567 ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะของเยาวชนในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำในโรงเรียนและชุมชนของตน รวมถึงปลูกจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ไม่มีน้ำ ไม่มีเรา
อเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) กล่าวว่า “ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาให้ความสำคัญกับการทำงานในเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติร่วมกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะพวกเขาคืออนาคตของชาติ ‘ค่าย มิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ’ (Mizuiku Water Hero Camp) จะช่วยให้เยาวชนในพื้นที่มีความเข้าใจว่าการดำรงชีวิตของตัวเอง สร้างผลกระทบอะไรให้กับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
"รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการดูแลสิ่งแวดล้อมในสังคมของเยาวชน ซึ่งกิจกรรมค่ายสิ่งแวดล้อมศึกษาเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ผ่านห้องเรียนธรรมชาติ ด้วยแนวคิดการเรียนรู้แบบการลงมือทําจริงที่สอดแทรกความสนุกสนาน โดยมีผมเป็นผู้นำกิจกรรม พร้อมด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมอีกหลายท่าน ภายใต้คอนเซปต์ “ไม่มีน้ำ ไม่มีเรา” เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ของน้ำในทุกมิติ”