21 มีนาคม 'วันป่าไม้โลก' มองให้เห็นความสำคัญของป่าไม้
21 มีนาคม วันป่าไม้โลก มองให้เห็นความสำคัญของป่าไม้ รักษาสมดุลทางธรรมชาติ เปิดสถิติป่าไม้ไทย 2566 เหลือ 31.47% ของพื้นที่ประเทศ สาเหตุสำคัญ ใช้ประโยชน์ที่ดิน ไฟป่า บุกรุกทำลายป่า ส่องกิจกรรมวันป่าไม้สากล 2567 จัดขึ้นที่ไหนบ้าง? ประชาชนรักษ์โลก รักษาป่าไม้ไทยได้อย่างไร
วันที่ 21 มีนาคมของทุกปีถูกเลือกให้เป็น วันป่าไม้โลก (World Forestry Day) หรือ วันป่าไม้สากล 2567 ตามมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.2012 เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้
ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ให้มนุษย์ได้บริโภคใช้สอยและประกอบอาชีพในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนจำนวนมาก และป่าไม้ยังช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติ รักษาต้นน้ำลำธาร และเป็นที่อยู่ให้กับสัตว์นานาชนิด
สถิติป่าไม้ไทย ข้อมูลรวมพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย ปี 2566
จากระบบบัญชีข้อมูลกรมป่าไม้ ปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้รวมทั้งหมด 101,818,155.7 ไร่ คิดเป็นประมาณร้อยละ 31.47 หรือ 31.47% ของพื้นที่ประเทศ ลดลงจากข้อมูลในปี 2565 ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดรวม 102,135,974.9 ไร่ ซึ่งพื้นที่ลดลงคิดเป็นร้อยละ 0.31 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยมีการลดลงต่อเนื่อง
สาเหตุสำคัญพื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยลดลง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change)
- การเกิดจากปัญหาไฟป่า (Forest Fire)
- การบุกรุกทำลายป่า
แม้ว่าภาครัฐจะมีการดำเนินมาตรการที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟู เพิ่มพื้นที่พื้นที่สีเขียวทั้งหมดเป็น 177.94 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 55 ของพื้นที่ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย รวมถึงมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่า แต่ผลจากการดำเนินงานยังคงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ความสำคัญของป่าไม้ ประโยชน์ของป่าไม้ทางอ้อม
1.) ป่าทำให้น้ำไหลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี และมีคุณภาพดี เนื่องจากต้นไม้ในป่าจะดูดซับน้ำเอาไว้เมื่อฝนตกลงมาและทำให้ค่อยๆ ซึมลงดินสะสมน้ำไว้ใต้ดิน แล้วค่อยๆปล่อยออกสู่ห้วยลำธาร
2.) บรรเทาความรุนแรงของลมพายุ ป่าไม้เป็นฉากกำบังที่จะช่วยลดความเร็วของลมพายุซึ่งจะสามารถบังได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับ ความสูง ความหนาแน่นของหมู่ไม้และเรือนยอดของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดว่ามีความแน่นทึบเพียงใด
ต้นไม้ที่เป็นแนวกันลมสูงจากพื้นดิน 2 ฟุต จะสามารถลดความเร็วของลมพายุให้เหลือเพียงร้อยละ 20 และแนวกันลมจะสามารถป้องกันลมคิดได้เป็นระยะทางเท่ากับ 20 – 25 เท่าของความสูงต้นไม้นั้นในด้านใต้ลม และ 3 เท่าในด้านเหนือลม
3.) ป้องกันการพังทลายของดิน เรือนยอดของป่าไม้จะสกัดกั้นความรุนแรงของฝนที่ตกลงมามิให้กระทบผิวดินโดยตรง น้ำบางส่วนจะค้างอยู่ตามเรือนยอดของต้นไม้ บางส่วนจะไหลไปตามลำต้น บางส่วนจะตกทะลุเรือนยอดลงสู่พื้นป่า
บริเวณพื้นป่ามักจะมีเศษไม้ใบไม้และซากเหลือต่างๆ ของทั้งพืชและสัตว์คอยดูดซับน้ำฝนและชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลบ่า ทำให้ลดการพังทลายของดิน ประกอบกับดินป่าไม้มักจะเป็นดินดีมีอินทรียวัตถุสูง มีการดูดซับน้ำได้ดีน้ำจึงซึมลงดินได้มาก ทำให้น้ำไหลบ่าลดลง
4.) บรรเทาอุทกภัย การทำลายป่านอกจากจะทำให้เกิดการพังทลายของดิน ยังทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำลำธารเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และน้ำที่ไหลมาจะขุ่นข้นเพราะเต็มไปด้วยกรวดทรายและดินตะกอนต่างๆ เมื่อไหลลงไปถึงลำน้ำ ก็ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำนั้นๆ สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
5.) เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
6.) เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ป่าไม้บางแห่งมีทิวทัศน์สวยงาม มีความสงบ ร่มเย็น มีอากาศบริสุทธิ์ จึงเป็นแหล่งเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ท่องเที่ยวของคน
7.) ป่าให้ความชุ่มชื้น ป่ามีส่วนช่วยให้ฝนตกเพิ่มขึ้นและทำให้มีความชุ่มชื้นในอากาศสม่ำเสมอ
8.) เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าเป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืช สัตว์ ที่จะเป็นแหล่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่สำคัญที่จะเป็นทุนในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
9.) รักษาคุณภาพของอากาศ ต้นไม้ในป่าช่วยดูดซับฝุ่นละออง ดูดซับก๊าซที่เป็นมลพิษ สร้างออกซิเจน จึงทำให้อากาศบริสุทธิ์
10.) ป่าช่วยรักษาอุณหภูมิ ร่มเงาของต้นไม้ช่วยลดอุณหภูมิทำให้ลดการใช้พลังงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะในคราวเดียวกัน
ประชาชนทุกภาคส่วน มีส่วนสำคัญในการช่วยดูแลรักษาป่า
จากสถานการณ์ป่าไม้ พบว่า มีกลุ่มบุคคล นายทุน เข้าไปบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ทำให้ที่สาธารณะสมบัติถูกบุกรุกยึดครองเป็นจำนวนมาก หากไม่ได้รับการร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ ให้ความสนใจ เอาใจใส่ แจ้งเจ้าหน้าที่ อาจจะไม่สามารถยับยั้งได้ทันท่วงที
ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือ ประชาชนทุกคนเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ช่วยกันดูแล รักษาป่า คุ้มครอง ป้องกัน เป็นส่วนร่วมกับข้าราชการในการคุ้มครองรักษาป่า ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ที่กรมป่าไม้ ดำเนินการในเชิงรุก ดึงประชาชนมาร่วมดูแลป่า เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน สมดุล และดูแลป่าอย่างมั่นคงถาวรต่อไป
การจัดกิจกรรมวันป่าไม้สากล 2567 จะรักษ์โลก รักษาป่าไม้ไทยได้อย่างไร?
งานวันป่าไม้สากล ประจำปี 2567 (International Day of Forests 2024) จะจัดขึ้น ภายใต้ประเด็นหลัก “Forests and Innovation” หรือ “ป่าไม้และนวัตกรรม”
และมีประเด็นเสริม “New solutions for a better world” หรือ “ทางเลือกใหม่ เพื่อโลกที่ดีขึ้น” ในวันที่ 21 มีนาคม 2567 โดยมีกิจกรรม อาทิ ปลูกต้นไม้ นิทรรศการ บรรยายพิเศษคาร์บอนเครดิต กิจกรรมอาบป่า การดูงานการจัดการสวนป่ายั่งยืน นำเสนอนวัตกรรมดูแลต้นไม้โดยบริษัทเอกชน เป็นต้น ณ เขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.00 น.
อ้างอิง : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , มูลนิธิสืบนาคะเสถียร , ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้