เปิด 10 อันดับประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในโลก

เปิด 10 อันดับประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในโลก

‘รัสเซีย’ ครองแชมป์ประเทศที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดในโลก คิดเป็น 1 ใน 5 ของทั้งหมดในโลก แต่พื้นที่ป่ายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1990 สะท้อนปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่รุนแรงขึ้น แม้จะมีความพยายามปลูกป่าทดแทนก็ตาม

KEY

POINTS

  • รัสเซีย” ครองแชมป์ประเทศที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดในโลก คิดเป็น 1 ใน 5 ของทั้งหมดในโลก แต่พื้นที่ป่ายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1990 สะท้อนปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่รุนแรงขึ้น แม้จะมีความพยายามปลูกป่าทดแทนก็ตาม
  • ป่าไม้ทั้งหมดที่อยู่ในโลกมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ “ป่าปฐมภูมิ” ซึ่งเป็นป่าที่เกิดขึ้นเองเป็นระยะเวลานาน และไม่ถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ ส่วน “ป่าปลูก” เป็นป่าไม้ที่เกิดขึ้นจากการปลูกป่าทดแทนโดยมนุษย์ ทั้งนี้ป่าปฐมภูมิถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ดีกว่าและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าป่าที่มนุษย์ปลูก
  • ตามข้อมูลจากกรมป่าไม้ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 101,818,155.76 ไร่ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทยมีป่าปฐมภูมิ 82% และอีก 18% เป็นป่าปลูก

นับตั้งแต่ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย พื้นที่ป่าปกคลุมโลกลดลง 20 ล้านตารางกิโลเมตร หรือ 2 พันล้านเฮกตาร์ ครึ่งหนึ่งของการสูญเสียเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1900 เนื่องจากการขยายการเกษตร และอุตสาหกรรม

จากข้อมูลของธนาคารโลก พบว่า ในปี 2021 โลกของเรามีพื้นที่ป่าไม้ 40,449,474 ตารางกิโลเมตร ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1992 ที่มีพื้นที่ป่า 42,034,236 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 30% ของพื้นที่ทั่วโลก โดยมีต้นไม้มากกว่า 3 ล้านล้านต้นในปัจจุบัน 

แบ่งออกเป็น ภูมิภาคเขตร้อน และกึ่งเขตร้อนมีจำนวนต้นไม้ทั้งหมดเกือบครึ่งของทั้งหมดราว 1.3 ล้านล้านต้น ขณะที่ป่าเขตหนาวทางซีกโลกเหนือของโลกมีต้นไม้ราว 740,000 ล้านต้น และบริเวณเขตอบอุ่นมีต้นไม้ประมาณ 660,000 ล้านต้น

 

10 อันดับประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในโลก

ปกติแล้วประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ย่อมมีพื้นที่ป่าไม้ในมากกว่าประเทศที่เล็กกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละประเทศจะมีการจัดการหรือมีนโยบายดูแลป่าไม้อย่างไร

รัสเซียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีพื้นที่มากถึง 20.2% ซึ่งเท่ากับ 8 ล้านตารางกิโลเมตร พืชที่ขึ้นในป่าของรัสเซียส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ผลัดใบ และต้นสน ที่ต้องปรับให้สามารถอยู่รอดได้ในดินแดนที่หนาวเย็น และแห้งแล้ง

อันดับที่ 2 คือ บราซิล ประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 6 โดยมีพื้นที่ป่ามากกว่า 12.3% หรือเกือบ 5 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็น 60% ของทั้งประเทศ พื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็น “ป่าแอมะซอน” แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สูญเสียป่าไม้ไปกว่า 237,000 ตารางกิโลเมตร จากการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งนี้ป่าแอมะซอนยังเป็นส่วนสำคัญของพื้นที่ป่าปกคลุมของเปรู ซึ่งติดอันดับที่ 9 พื้นที่ป่ามากที่สุด ด้วยสัดส่วน 1.8%

ขณะที่อันดับ 3 เป็นของแคนาดา ด้วยพื้นที่ป่าไม้คิดเป็น 8.6% ตามมาด้วยสหรัฐในสัดส่วน 7.7% โดยทั้ง 2 ประเทศมีอุทยานแห่งชาติจำนวนมากแห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติของทวีป

จีนติดอยู่ในอันดับที่ 5 คิดเป็น 5.5% ของโลก เดิมทีป่าไม้ในจีนมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา จีนสามารถสร้างพื้นที่ป่าเพิ่ม 511,807 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย นอกจากนี้จีนตั้งเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็น 30% ของประเทศให้ได้ภายในปี 2050 ทั้งนี้การพยายามจะเพิ่มที่ป่าไม้ขนาดใหญ่นี้ อาจต้องแลกมาด้วยต้นทุนในการรักษาพันธุ์ไม้ตามธรรมชาติ และภาครัฐจะต้องไม่ส่งเสริมการปลูกพืชสายพันธุ์ต่างถิ่น

ส่วนอันดับที่ 6 เป็นของออสเตรเลียด้วยพื้นที่ 3.3% ของโลก ขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) อยู่ในอันดับที่ 7 ในสัดส่วน 3.1% โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ของคองโก มาจากพื้นที่แอ่งรอบลุ่มน้ำคองโก เป็นป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ที่ครอบคลุมพื้นที่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ คองโก แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง อิเควทอเรียลกินี และกาบอง

ขณะที่ 8 คือ อินโดนีเซีย (2.3%) ซึ่งมีพื้นที่ป่าลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 1990 จากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และอันดับที่ 9 คือ อินเดียร่วมกับเปรู (1.8%)

ตามข้อมูลจากกรมป่าไม้ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 101,818,155.76 ไร่ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทองเป็น 3 จังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าไม้เลยแม้แต่ไร่เดียว

พื้นที่ป่าไม้ตั้งแต่ปี 1992-2021 ตามข้อมูลจากธนาคารโลก พื้นที่ป่าไม้ในโลกตั้งแต่ปี 1992-2021 ตามข้อมูลจากธนาคารโลก

เพิ่มพื้นที่ “ป่าปลูก”

ป่าไม้ทั้งหมดที่อยู่ในโลกมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ “ป่าปฐมภูมิ” ซึ่งเป็นป่าที่เกิดขึ้นเองเป็นระยะเวลานาน และไม่ถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ ส่วน “ป่าปลูก” เป็นป่าไม้ที่เกิดขึ้นจากการปลูกป่าทดแทนโดยมนุษย์ ไม่ได้เป็นป่าไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ 

ทั้งนี้ป่าปฐมภูมิถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ดีกว่า และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าป่าที่มนุษย์ปลูก

ในปัจจุบันมีอยู่ 4 ประเทศที่มีพื้นที่ป่าเป็นป่าปลูก 100% คือ บาห์เรน คูเวต อียิปต์ และลิเบีย เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีความแห้งแล้งรุนแรงจนป่าไม้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ 

เช่นเดียวกับในยุโรป ก็มีหลายประเทศที่มีสัดส่วนป่าปลูกมากกว่าป่าปฐมภูมิ แสดงให้เห็นว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าเกิดขึ้นจำนวนมากในทวีปนี้ในช่วงสามศตวรรษที่ผ่านมา และกำลังพยายามทำให้ป่ากลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประเทศไทยมีป่าปฐมภูมิ 82% และอีก 18% เป็นป่าปลูก ตามข้อมูลจากธนาคารโลก

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ประเทศต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับการพลิกฟื้นความเสื่อมโทรมของป่า และการปกป้องป่าปฐมภูมิ มากกว่าตัดไม้ทำลายป่าแล้วค่อยมาปลูกป่าใหม่ 

 

ที่มา: Visual Capitalist 1Visual Capitalist 2

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์