กระทรวงเกษตรฯ เอาจริง ดำเนินการกับผู้เผาพืชผลเกษตรก่อให้เกิด PM2.5
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ระบุว่า ความสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยรัฐบาลกำลังพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... เพื่อลดผลกระทบจากมลพิษสู่ประชาชน
และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมือและสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรให้ลดการเผาพืชผลทางการเกษตร ทั้งนี้ ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากในประเทศไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องบูรณาการร่วมกัน
สำหรับที่ประชุมฯ ได้รับทราบสถานการณ์จุดความร้อนสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 มีนาคม 2567 (ข้อมูลจาก GISTDA ณ วันที่ 22 มีนาคม 2566) ประเทศไทยมีจุดความร้อนสะสมทั่วประเทศ 9,924 จุด น้อยกว่าปี 2566 ถึง 1,071 จุด
แบ่งเป็นจุดความร้อนสะสมในพื้นที่เกษตรกรรม 3,567 จุด น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 193 จุด (ปี 2566 จำนวน 3,760 จุด) แบ่งเป็น พื้นที่การเกษตร 2,170 จุด และในเขต ส.ป.ก. 1,397 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่การเกษตร 3 จังหวัดแรก ได้แก่ นครราชสีมา 127 จุด เพชรบูรณ์ 123 จุด และขอนแก่น 120 จุด
ในเขต ส.ป.ก. พบจุดความร้อนสะสมสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ สระแก้ว 141 จุด ชัยภูมิ 113 จุด และนครราชสีมา 110 จุด ซึ่งมีการรายงานผลการป้องกันและการเฝ้าระวังการเผาซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม – 22 มีนาคม 2567
โดยชุดปฏิบัติการเพื่อเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ตรวจสอบ พบว่ามี 404 จุด เกิดจากการเผาจริงแต่ไม่ใช่พื้นที่การเกษตร 985 จุด ไม่พบการเผาในพื้นที่จริง และอีก 391 จุด อยู่ระหว่างตรวจสอบ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ มีการดำเนินการเชิงรุก โดยการส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณามอบหมายเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วนจัดตั้งชุดปฏิบัติการเพื่อเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงลงพื้นที่ขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดการเผา
พร้อมทั้งตรวจสอบพิกัดที่พบจุดความร้อนจากข้อมูลดาวเทียมว่ามีการเผาจริงหรือไม่ ทั้งนี้ หากพบว่าผู้ใดทำการเผาบนพืชผลทางการเกษตรบนพื้นที่ ส.ป.ก. เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าได้กระทำจริง จะสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินและแจ้งให้ออกจากพื้นที่ ในส่วนมาตรการรองรับเพื่อความยั่งยืน กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐาน GAP PM2.5 FREE ซึ่งจะมีผลบังคับในปี 2568 ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดการเผาทุกขั้นตอน เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว
ทั้งนี้ยังได้มีการพิจารณาขั้นตอนการดำเนินการกับผู้ที่เผาพืชผลทางการเกษตรอย่างจริงจังเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้มีการกระทำซ้ำและลดผลกระทบกับผู้อื่นในวงกว้าง รวมถึงมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ วางแผนการของบประมาณหรือการทำโครงการให้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินโครงการ