โมเดล PES ลดฝุ่นพิษระยะยาว | ธราธร รัตนนฤมิตศร
สาเหตุส่วนหนึ่งของ ฝุุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในเชียงใหม่และบริเวณภาคเหนือมีต้นตอเกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณป่าทั้งภายในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งเกิดจากไฟป่าจากการหาของป่า และอีกส่วนเกิดจากการเผาพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
การใช้มาตรการทางกฎหมายด้วยการบังคับอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการเผาและการห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นที่มีประโยชน์ แต่เมื่อมองในระยะยาวอาจยังไม่ได้ผล เนื่องจากรากของปัญหายังเป็นปัญหาที่เกิดจากความยากจน
แนวทางหนึ่งที่ทำให้เรื่องคนกับป่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน คือการทำให้ชุมชนที่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าเข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาป่า โดยโมเดลทางเศรษฐศาสตร์หนึ่งที่มีการใช้คือโมเดลการจ่ายเงินเพื่อนิเวศบริการ (Payment for Ecosystem Services, PES) บริการจากระบบนิเวศเหล่านี้รวมถึงบริการน้ำสะอาด บริการกักเก็บคาร์บอน บริการการควบคุมการพังทลายของดิน และอื่นๆ อีกมากมาย
โดยหลักการของ PES แล้ว ผู้คนหรือบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากบริการจากระบบนิเวศทางธรรมชาติ ควรจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่มีส่วนในการดูแลบริการจากระบบนิเวศเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ต้องการน้ำสะอาดเพื่อทำน้ำแร่หรือใช้ในทางอุตสาหกรรมควรจ่ายเงินให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่ต้นน้ำเพื่อปกป้องป่าไม้และทำให้แม่น้ำสะอาด
ด้วยวิธีนี้ ผู้คนที่อยู่ใกล้บริเวณป่าต้นน้ำจะมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นในการดูแลธรรมชาติโดยได้รับรางวัลสำหรับความพยายามของพวกเขาในการดูแลป่าต้นน้ำ และประชาชนในพื้นราบก็ยังคงได้รับประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่ดีต่อไป การจ่ายเงินเพื่อนิเวศบริการ (PES) จึงเป็นแนวทางสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกิดอนุรักษ์และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยผ่านการให้แรงจูงใจทางการเงินสำหรับชุมชนผู้ใช้ทรัพยากรบริเวณนั้น เช่น พื้นที่ป่า ดำเนินกิจกรรมที่รักษาหรือปรับปรุงบริการของระบบนิเวศ
หลักการพื้นฐานของ PES คือ “ผู้ให้บริการระบบนิเวศควรได้รับการชดเชยจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากบริการเหล่านั้น” เพื่อทำให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ระบบนิเวศ กลไก PES สามารถนำไปใช้ได้ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติ และสามารถใช้มาตรการแรงจูงใจที่หลากหลาย เช่น การชำระเงินให้โดยตรง การให้เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการใช้กลไกจากคาร์บอนเครดิต
โดยพื้นฐานแล้ว PES ออกแบบมาให้เป็นกลไกสมัครใจและมีประโยชน์ร่วมกัน มีข้อตกลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขการชำระเงินและผลลัพธ์ที่คาดหวัง ส่งเสริมให้ชุมชนในบริเวณป่าไม้หรือใกล้เคียงและผู้ใช้ทรัพยากรนำแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมาใช้
ที่ผ่านมา มีการดำเนินโครงการโดยใช้ PES ในประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นและปกป้องสิ่งแวดล้อม ตัวอย่าง PES ที่ประสบความสำเร็จ เช่น โครงการบริการด้านสิ่งแวดล้อมของคอสตาริกา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปกป้องป่าต้นน้ำ ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อตอบสนองความต้องการทางอุตสาหกรรมสำหรับไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้อื่นๆ ชุมชนในป่าหรือเจ้าของสิทธิทำกินในป่าไม้จะได้รับการชำระเงินโดยตรงสำหรับบริการทางนิเวศที่ตนผลิตได้ เมื่อพวกเขานำแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนมาใช้ ซึ่งเป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำ
โครงการจ่ายเงินเพื่อนิเวศบริการของเนปาล มุ่งเน้นที่การอนุรักษ์ระบบนิเวศและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมแนวทางการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และมีส่วนช่วยลดความยากจนในพื้นที่ชนบท
โครงการจ่ายเงินเพื่อนิเวศบริการของเนปาลของจีน มีส่วนส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าไม้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และช่วยลดความยากจนในพื้นที่ชนบทด้วยการสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ป่า
โมเดล PES ยังถือว่าเกี่ยวข้องกับการลด PM 2.5 ด้วย แม้ว่า PES จะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะ โดยโมเดล PES ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ป่าไม้สามารถช่วยลดระดับ PM 2.5 ได้ เพราะสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์ป่าไม้ จึงสามารถช่วยลดแหล่งที่มาของฝุ่นพิษที่เกี่ยวข้องกับการเผาป่าและสนับสนุนแนวทางเกษตรที่ยั่งยืน เช่น การปลูกพืชคลุมดิน การไถพรวนเพื่อการอนุรักษ์ และวนเกษตร และลดการใช้การเผาทางการเกษตร หรือสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนพืชจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปปลูกพืชที่อยู่กับป่าได้โดยไม่ต้องเผา เช่น ชา กาแฟ ซึ่งสามารถช่วยลดแหล่งที่มาของฝุ่นพิษได้
โมเดล PES สามารถเป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีส่วนช่วยลดระดับฝุ่นได้นอกเหนือจากการจัดการกับมลพิษทางอากาศแบบมุ่งเป้าจากต้นเหตุต่างๆ เช่น อุตสาหกรรม การขนส่ง และแหล่งที่มาอื่นๆ
ดังนั้น นอกจากการแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยมาตรการกฎหมายต่างๆ แล้ว การนำโมเดล PES มาใช้ในประเทศไทยน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว และให้ชุมชนที่สูงได้ประโยชน์ในด้านการดูแล “บริการจากระบบนิเวศ” ในภาพใหญ่ของประเทศ
ในอนาคต นอกจากการดำเนินการนำโมเดล PES มาใช้ในประเทศไทยแล้ว รัฐบาลอาจผลักดันร่วมกับอาเซียนขยายผลไปสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการรักษาป่าไม้ คนอยู่กับป่าได้ และลด PM 2.5 เพื่อให้เกิดการจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืนในภูมิภาคนี้ต่อไป .