ไม่ใช่แค่ข้าวโพด ผลประโยชน์ป่าคืออีกต้นเหตุสำคัญของวิกฤติฝุ่นควันเหนือ
ปัญหาวิกฤติฝุ่นควันภาคเหนือเพิ่งรุนแรงเมื่อปี 2550 หลังเริ่มนำเข้าข้าวโพดไม่เสียภาษีภายใต้ ACMECS ปี 2547 แต่การปลูกข้าวโพดไม่ใช่สาเหตุเดียวของปัญหาฝุ่นควัน
KEY
POINTS
- ปัญหาวิกฤติฝุ่นควันภาคเหนือเพิ่งรุนแรงเมื่อปี 2550 หลังเริ่มนำเข้าข้าวโพดไม่เสียภาษีภายใต้ ACMECS ปี 2547 แต่การปลูกข้าวโพดไม่ใช่สาเหตุเดียวของปัญหาฝุ่นควัน
- ยักษ์ปีศาจร้ายกาจ ที่เป็นสาเหตุหลักของมลพิษฝุ่นควันในภูมิภาคนี้ มี 2 ตัว คือ การเผาภาคเกษตร และการเผาในป่า
- พิกัดการเกิดไฟป่านั้น พบว่าเกิดอยู่ในป่าของรัฐมากที่สุด ราว 65% และเป็นพื้นที่เกษตรราว 32% ขณะที่ภาคเหนือ สัดส่วนเกิดไฟในป่ามากกว่า 80%
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เพจ BIOTHAI ได้โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจมาก โดยมีใจความว่า..
“รู้หรือไม่ ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือเพิ่งรุนแรงเมื่อปี 2550 หลังเริ่มนำเข้าข้าวโพดไม่เสียภาษีภายใต้ ACMECS ปี 2547”
เมื่อปี 2540 ที่ปัญหา “หมอกควัน” กลายเป็นปัญหาระดับชาติ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้จากการเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกปาล์มที่อินโดนีเซีย
ในช่วงปี 2540-2549 การพูดถึงปัญหาหมอกควันในระดับนโยบายของไทย ไม่ได้โฟกัสที่ภาคเหนือแต่ประการใด ปัญหา “ฝุ่นพิษ” ภาคเหนือกลายเป็นเรื่องใหญ่เมื่อปี 2550 นี่เอง ที่การเผาในพื้นที่ภาคเหนือถูกบรรจุในวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
การทำการเกษตรในวิถีแบบเดิม การหาผักหวาน เห็ดเผาะ ไข่มดแดง ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาระดับชาติ แต่ความต้องการข้าวโพดอาหารสัตว์ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ผลักดันให้มีการเปิดเสรี การนำเข้าข้าวโพดผ่านความตกลง “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง” หรือ ACMECS ที่เกิดขึ้นในปี 2546-2547 ต่างหาก ที่เป็นต้นตอของฝุ่นพิษ จากการขยายพื้นที่การปลูกข้าวโพดอย่างขนานใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพม่า
ในช่วงเริ่มต้นนำเข้าข้าวโพดโดยไม่เสียภาษี ส่งผลให้เกษตรกรไทยขายข้าวโพดได้ในราคาต่ำ พื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทยลดลงในช่วงปี 2546-2550 เกือบล้านไร่ แต่พื้นที่ปลูกข้าวโพดกลับไปเพิ่มในประเทศเพื่อนบ้านแทน
การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ไทย ที่กลายเป็นบริษัทผลิตอาหารสัตว์อันดับ 1 ของโลก ทำให้ความต้องการข้าวโพดเพิ่มมากขึ้น (นั่นทำให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดของไทยเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2551-2553 และแกว่งขึ้นๆ ลงๆ หลังจากนั้น)
ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่เติบโตเร็วที่สุดคือ การปลูกข้าวโพดในประเทศพม่า ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านไร่ระหว่างปี 2547-2564 และมีแนวโน้มแซงพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทยภายในไม่ช้า นั่นทำให้ฝุ่นพิษภาคเหนือกลายเป็นปัญหาร้ายแรงระดับชาติมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หมายเหตุ: มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน 2547 เรื่องการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากกัมพูชา ลาว และพม่า ตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สรุปดังนี้
“คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากกัมพูชา ลาว และพม่า ตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร ซึ่งเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปี 2547 เสนอให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากกัมพูชา ลาว และพม่า ได้เสรีไม่จำกัดปริมาณ และช่วงเวลานำเข้า”
BIOTHAI ชี้ประเด็น พื้นที่ปลูกข้าวโพดในภูมิภาคอาเซียนตอนบน นำมาซึ่งปัญหาฝุ่นควัน
การชี้ประเด็นของ BIOTHAI ช่วยทำให้สังคมเห็นจุดสตาร์ทเชิงนโยบายของการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดในภูมิภาคอาเซียนตอนบน ซึ่งในข้อเท็จจริงก็เริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากขึ้นในช่วงหลังจากนั้น
และในข้อเท็จจริง ราวๆ ปี 2550 +/- โดยประมาณ เริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดในเขตป่าสงวนในภาคเหนือ เช่น ที่แม่แจ่มเริ่มขยายออกมากในช่วงนั้น การขยายพื้นที่ป่ามีผลต่อขนาดของมลพิษในช่วงปีนั้นด้วย
แต่การขยายข้าวโพดไม่ได้ทำแค่ปีเดียว เป็นการทยอยขยายออกในทศวรรษ 2550 เมื่อราวปี 2558 มีการโหมโฆษณาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่อำเภอตอนใต้ของจังหวัดน่าน และเป็นเหตุให้เกิดดอยหัวโล้นที่ชัดเจนมาในพื้นที่น่านใต้
เช่นเดียวกับพื้นที่เพื่อนบ้าน ในรัฐฉานเริ่มขยายพื้นที่ปลูกมากหลังปี 2011 ที่รัฐบาลทหารมีนโยบายปฏิรูปการเมืองจะเปิดให้มีการเลือกตั้งขึ้น ทำให้พื้นที่ต่อสู้สงบลง
ข้าวโพด และพืชไร่อื่นๆ เป็นสาเหตุของมลพิษฝุ่นควันของภูมิภาคอาเซียนตอนบนอย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาการขยายพื้นที่และพฤติกรรมการใช้ไฟโดยรวม
แต่การปลูกข้าวโพดไม่ใช่สาเหตุเดียว ที่ทำให้เกิดวิกฤติฝุ่นควัน
แต่อย่างไรก็ตาม หากจะสรุปเพียงว่า ข้าวโพดเป็นสาเหตุของมลพิษฝุ่นควันในภาคเหนือเพียงประการเดียวจะไม่ถูกต้องนัก
ยักษ์ปีศาจร้ายกาจ ที่เป็นสาเหตุหลักของมลพิษฝุ่นควันในภูมิภาคนี้มี 2 ตัว คือ การเผาภาคเกษตร และการเผาในป่า!!
ซึ่งหากจะเอ่ยเฉพาะข้าวโพดหรือพืชเกษตรเชิงเดี่ยวเพียงด้านเดียว จะไม่ครบสาเหตุปัญหา
ข้อมูล Big Data จากรอยไหม้ดาวเทียมย้อนหลัง 10 ปี ที่ GISTDA ได้ซ้อนดูพฤติกรรมการเกิดไฟในประเทศไทย ชัดเจนว่า พิกัดที่เกิดนั้นอยู่ในป่าของรัฐมากที่สุดราว 65% และเป็นพื้นที่เกษตรราว 32% ขณะที่ภาคเหนือ สัดส่วนเกิดไฟในป่ามากกว่า 80%
ซึ่งอาจมีผู้แย้งว่าพื้นที่ป่าที่ว่าอาจจะเป็นพื้นที่เกษตรทำกินในป่าของราษฎรด้วย เพราะวิธีการแผนที่ของราชการยังให้ยึดเขตป่าเป็นหลัก ซึ่งก็จริงโดยเฉพาะพื้นที่เกษตรในป่าสงวนแห่งชาติที่ส่วนใหญ่แทบไม่เหลือสภาพป่าจริง ในทางปฏิบัติมีไฟไหม้ปนกันทั้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าใกล้เคียง ราษฎรบอกมันลามเข้า ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่บอกว่าราษฎรเผาป่าเพื่อลามเข้าไร่หวังจัดการแปลงปลูก เนื้อที่การไหม้ตรงส่วนนี้ควรมีการศึกษาลงลึกให้ละเอียดขึ้น
ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะถึงไฟในป่า ที่ไหม้ในป่าจริงๆ และเป็นสาเหตุสำคัญ main factor ของพื้นที่ภาคเหนือ เพราะเป็นแหล่งกำเนิดใกล้ มีขนาดใหญ่และปลดปล่อยมลพิษออกต่อเนื่องกรณีไหม้ลามข้ามวันในพื้นที่ป่าใหญ่ๆ
เปิดสถิติไฟป่า อีกหนึ่งต้นเหตุของปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ
สถิติการเกิดไฟเฉพาะพื้นที่ป่า สามารถย้อนกลับไปดูได้จากดาวเทียมระบบ modis แบบที่ GISTDA ใช้ศึกษาไฟแปลงใหญ่ โดยปัจจุบันระบบของ NASA เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ https://firms.modaps.eosdis.nasa.gov/ มีข้อมูลรอยไหม้ดาวเทียม Modis Burned Area ที่ย้อนหลังไปถึงปี 2001 (2544) และสามารถแยกดูได้เป็นรายเดือน ทำให้เห็นพฤติกรรมไฟไหม้ต่อเนื่องจากต้นปีที่ยังไม่เกิดไฟ จนถึงสิ้นฤดูไฟ
รอยไหม้ย้อนหลัง ชี้จุดไฟไหม้ซ้ำซากในพื้นที่ป่าที่เกิดบ่อย เช่น เขตป่าสองฟากแม่น้ำสาละวิน ป่าสาละวินฝั่งไทย ป่าเหนือเขื่อนภูมิพลที่ไหม้เป็นประจำมายาวนาน ในระยะ 10 ปีหลัง มีป่าที่ไหม้ต่อเนื่องซ้ำซากเพิ่มขึ้น เช่น ป่าออบหลวง ป่าจอมทอง ซึ่งประเด็นนี้อาจต้องศึกษาลงลึกว่า เหตุใดเพิ่งมาไหม้ซ้ำซากในระยะหลัง ข้อมูลรอยไหม้จากดาวเทียม ยืนยันถึงพฤติกรรมไฟซ้ำซากและไหม้เป็นวงกว้างขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าจริงๆ ที่จนบัดนี้ไม่มีสภาพเป็นไร่ข้าวโพดแปลงเกษตรเลย
การไหม้ซ้ำซากในป่าที่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของวิกฤติมลพิษภาคเหนือ จำเป็นต้องลงลึกในระดับพื้นที่เพื่อค้นหาสาเหตุแรงจูงใจตามบริบทของแต่ละจุดปัญหา จนถึงบัดนี้ยังไม่มีการรวบรวมและดำเนินการครบถ้วนเป็นระบบ อาจเพราะไม่มีนโยบายแผนงบประมาณตลอดถึงการโยกย้ายของเจ้าหน้าที่ประจำ
........................
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ