อุทาหรณ์ 'โลกรวน' เมื่อพยากรณ์อุตุฯ ทั่วโลกพลาด ไฟป่าแสนรู้ยังเงิบ

อุทาหรณ์ 'สภาวะโลกรวน' เมื่อพยากรณ์อุตุฯ ทั่วโลกพลาด ไฟป่าแสนรู้ยังเงิบ

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจนเกิด "สภาวะโลกรวน" มีผลต่อการพยากรณ์ในทางอุตุนิยมวิทยามากขึ้น มีข่าวสารที่เกี่ยวข้องปรากฏออกมามากมาย รวมถึงมีตัวอย่างของการ "พยากรณ์ผิดพลาด" เพิ่มมากขึ้นในทั่วโลก!

"ภาวะโลกรวน" ที่ส่งผลให้เกิดการพยากรณ์ผิดพลาดดังกล่าว เคยเกิดกับประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วในเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา เมื่อประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าจะมีฝนตก แต่เมื่อถึงวันจริงกลับไม่ปรากฏ มีแต่เพียงการแก้ไขถ้อยคำในประกาศฉบับถัดไป

เหตุการณ์เริ่มจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 1 (91/2566) ลงวันที่ 4 เมษายน 2566 แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 6-9 เมษายน 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนลงมา ฯ ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง

รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ และเริ่มให้รายละเอียดตามประกาศฉบับที่ 2 (92/2566)  ถึงพื้นที่ผลกระทบ โดยบอกว่าจะเริ่มมีผลกระทบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกก่อน ส่วน ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป

อุทาหรณ์ \'โลกรวน\' เมื่อพยากรณ์อุตุฯ ทั่วโลกพลาด ไฟป่าแสนรู้ยังเงิบ

ในส่วนของชาวภาคเหนือซึ่งขณะนั้นประสบวิกฤติมลพิษฝุ่นควันเมื่อได้ยินประกาศดังกล่าวย่อมดีใจเป็นธรรมดา มีสื่อท้องถิ่นที่หยิบไปนำเสนอพาดหัวต่อทำนองว่า อีกไม่กี่วันจะเกิดมีพายุฝน บรรเทาความทุกข์ยากที่กำลังเผชิญ เพราะในประกาศฉบับที่ 1 ได้ระบุชัดเจนว่า จะเริ่มมีฝนในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ที่จังหวัดตอนล่างและซีกตะวันออกของภาค คือ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ขณะที่ในวันที่ 8 เมษายน 2566 พายุฝนจะเกิดในพื้นที่ตอนบน คือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์  ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 9 เมษายนทั้งวัน 

หากฝนตกต่อเนื่องสองวันตามประกาศจริง จะทำให้ไฟที่เกิดท่วมไปทุกหย่อมหญ้าเวลานั้นดับลง อากาศก็จะดีขึ้นมาก 

กรมอุตุฯ ยังมีประกาศต่อเนื่องเช้า-เย็นวันละสองรอบ ยืนยันว่าจะมีพายุฝนในภาคเหนือแน่ จนถึงฉบับที่ 6 (96/2566) ลงวันที่ 7 เมษายน 2566 เมื่อเวลา 05.00 น. ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าคำพยากรณ์ที่บอกว่า จะมีฝนภาคเหนือในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 8 เมษายน  โดยจะมีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

สถานการณ์แปรเปลี่ยนไปตลอดทั้งวันที่ 7 เมษายน โมเดลพยากรณ์ของกรมอุตุฯ ให้ข้อมูลใหม่ เปลี่ยนไปจากเดิม ต้องขยับวันเลื่อนออกไป

เมื่อถึงวันที่ 8 เมษายน ในเวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับใหม่ เป็นฉบับที่ 8 (98/2566) เปลี่ยนแปลงพื้นที่พยากรณ์ โดยระบุว่าในภาคเหนือจะมีฝนที่โซนล่าง/ตะวันออก คือ จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ ตาก พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เท่านั้น ส่วนโซนบนคือเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ฝนจะมาในวันที่ 9 เมษายน 

อุทาหรณ์ \'โลกรวน\' เมื่อพยากรณ์อุตุฯ ทั่วโลกพลาด ไฟป่าแสนรู้ยังเงิบ

เอาล่ะ ชาวเหนือจำนวนหนึ่งยังใจชื้นคือ แค่เลื่อนวันจากเดิมคือจากวันที่ 8 เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 9 เมษายน..ก็แค่วันเดียว  ! 

และปรากฏว่าจริงตามที่เปลี่ยนนั้นเพราะ ตลอดทั้งวันที่ 8 เมษายน ไม่ปรากฏฝนในจังหวัดภาคเหนือโซนบน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ยังคงแห้งร้อนและท่วมไปด้วยฝุ่นไฟ แต่ก็ยังคงมีความหวังเพราะว่าอุตุฯ บอกว่าฝนจะมาในวันรุ่งขึ้น

ในเย็นวันที่ 8 เมษายน เวลา 17.00 น. ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 9 (99/2566) ก็ยังยืนยันว่ารุ่งขึ้น วันที่ 9 เมษายน เหนือตอนบน คือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตรพิษณุโลก และเพชรบูรณ์ จะยังมีฝนตกลงมา

อุทาหรณ์ \'โลกรวน\' เมื่อพยากรณ์อุตุฯ ทั่วโลกพลาด ไฟป่าแสนรู้ยังเงิบ

ข่าวสารทำให้คนรอคอยและทำให้ผู้คนทำอะไรต่อมิอะไรรอรับสิ่งที่คาดว่าจะเกิด คนที่รอคอยฝนเพราะทนทุกข์ทรมานกับมลพิษฝุ่นควันมีไม่น้อย แต่ในภาคเหนือก็ยังมีพวกมือเผา ชอบจุดไฟโดยเหตุผลต่างๆ นานา ที่เมื่อทราบข่าวว่า จะมีงบก็จุดดักรอไว้ก่อน สถิติการเกิดไฟไหม้มากขึ้นเกิดขึ้นแทบทุกครั้งเมื่อเริ่มมีข่าวฝนจะตก ในรอบนี้ก็เช่นกัน ไฟเริ่มมากขึ้นตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศแล้ว

อุทาหรณ์ \'โลกรวน\' เมื่อพยากรณ์อุตุฯ ทั่วโลกพลาด ไฟป่าแสนรู้ยังเงิบ

เช้าวันที่ 9 เมษายน 2566 อันเป็นเช้าที่คนภาคเหนือจำนวนมากรอคอย กลับกลายเป็นเช้าที่น่าผิดหวังยิ่ง เพราะกรมอุตุนิยมวิทยา เปลี่ยนแปลงคำประกาศ กลับลำฝนจะไม่มีในเขตภาคเหนือตอนบนเช่นที่บอกไว้เมื่อวาน 

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่ 10 (100/2566) ลงวันที่ 9 เมษายน 2566 ณ เวลา 05.00 น. บอกว่า จังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ ได้แก่ ภาคเหนือ: จังหวัดตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ตัดคำประกาศเดิมฉบับที่ 9 เมื่อวานตอนห้าโมงเย็นที่ระบุว่า เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จะมีฝนออกไปดื้อๆ และวันนั้นก็ไม่มีฝนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจริงๆ ! 

อุทาหรณ์ \'โลกรวน\' เมื่อพยากรณ์อุตุฯ ทั่วโลกพลาด ไฟป่าแสนรู้ยังเงิบ

อุทาหรณ์ สี่เท้ารู้พลาด คำทำนายในยุคโลกรวน ! 

คำประกาศเตือนตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน ต่อเนื่องมาถึงเย็นวันที่ 8 เมษายน รวมแล้ว 4 วันเต็มที่กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้ว่า ภาคเหนือตอนบน คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง จะมีพายุฝน แล้วกลับไม่มีฝนตามที่คาดในวันสุดท้าย คือเช้าที่พยากรณ์ว่าจะเกิดมี ไม่ใช่ความผิดพลาดเลินเล่อของผู้พยากรณ์อย่างแน่นอน นั่นเพราะในช่วงดังกล่าวโมเดลพยากรณ์ระดับโลกของค่ายอเมริกา GFS และค่ายยุโรป ECMWF ก็พร้อมใจกันรายงานว่า ภาคเหนือของไทยจะเกิดมีฝนตกเช่นเดียวกัน 

คำทำนายอากาศก่อนสงกรานต์ผิดพลาดกรณีนี้ ไม่ใช่แค่กรมอุตุฯ  แม้กระทั่งโมเดลพยากรณ์ระดับโลกก็พลาดเช่นเดียวกัน !

นี่เป็นอีกกรณีตัวอย่างของความผิดพลาดของการพยากรณ์ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก ที่ผู้เกี่ยวข้องเริ่มสนใจว่า การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศทำให้ไม่อาจใช้รูปแบบความรู้ พฤติกรรมเดิมๆ มาสรุปผลหรือพยากรณ์ตามแนวทางแบบแผนหรือชุดสถิติเดิมได้ 

การทำนายพลาดในครั้งนี้ เป็นบทเรียนให้อุตุนิยมวิทยาทั่วโลก ต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ขณะเดียวกันก็เป็นอุทาหรณ์สำหรับภาคประชาชนคนทั่วไปด้วย อย่างน้อยคือผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคำทำนายสภาพอากาศ และผู้ที่อยู่ในวงการแก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นควันและไฟป่า

ไฟป่าในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์เผา มีนักเผา มือเผาให้เกิดไฟตรงกับช่วงจะเกิดฝนตกที่มีการตั้งฉายาว่า “ไฟแสนรู้” มือเผากลุ่มนี้พยายามหาช่องในการเผาป่าโดยคำนวนว่าหากเผาแล้วมีฝนตกลงมาจะช่วยดับให้ไม่ลามไปไกล ต่อไปการเผาป่าเพราะเชื่อคำพยากรณ์ว่าเผาไปเถอะ เดี๋ยวฝนก็ตก อาจไม่เป็นจริงแล้ว คำพยากรณ์ของหน่วยงานรัฐหรือโมเดลต่างประเทศเองก็สามารถผิดพลาดได้ทั้งสิ้น

 

........................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ