“ สมศักดิ์” ห่วงริมโขง รับผลสารเคมี สปป.ลาว รั่ว สั่ง สทนช. เกาะติดสถานการณ์

“ สมศักดิ์” ห่วงริมโขง รับผลสารเคมี สปป.ลาว รั่ว สั่ง สทนช. เกาะติดสถานการณ์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี สั่ง สทนช. ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงใกล้ชิด หลังเกิดอุบัติเหตุทำให้มีกรดซัลฟิวริกรั่วไหลลงสู่แม่น้ำคาน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยผลจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ณ แก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จ.เลย ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลลงแม่น้ำคาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 3 เม.ย. 67 ว่า จากการตรวจสอบเหตุดังกล่าว พบว่า สถานที่เกิดเหตุอยู่ที่หมู่บ้าน Ban Phou Xang Kham เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว โดยเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ส่งผลให้มีกรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid) หรือกรดกำมะถัน รั่วไหลเข้าสู่แม่น้ำคาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ผ่านทางระบายน้ำริมถนน บริเวณด้านเหนือน้ำของแม่น้ำโขงประมาณ 10 กิโลเมตร (กม.)

“ สมศักดิ์” ห่วงริมโขง รับผลสารเคมี สปป.ลาว รั่ว สั่ง สทนช. เกาะติดสถานการณ์

 

ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลผ่านเมืองหลวงพระบาง ไปถึงเขื่อนไซยะบุรี ประมาณ 102 กม. แล้วไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรีออกไปยังพรมแดนไทย - ลาว ประมาณ 204 กม. ทั้งนี้ จากจุดที่เกิดเหตุถึงจุดแก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จ.เลย มีระยะทางประมาณ 340 กม. ใช้ระยะเวลาการเดินทางของน้ำ 3 วัน

โดยภายหลังเกิดเหตุดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และกำกับดูแล สทนช. มีความห่วงใยชาวริมโขงที่อาจจะได้รับผลกระทบ จึงได้มีข้อกำชับให้ สทนช. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

โดย สทนช. ในฐานะ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้เร่งรัดประสานงานกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และ สปป.ลาว ตามแนวทางปฏิบัติด้านเทคนิคของระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำ ภายใต้ บทที่ 4 ว่าด้วย “แนวทางการตอบสนองและการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำ" ภายใต้กลไกความร่วมมือ “กระบวนการสื่อสารระหว่างประเทศ”

 

นอกจากนี้ สทนช. ได้ประสานกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานของประเทศไทย (National Foal Point)ติดตามประเมินระดับความรุนแรงของสถานการณ์และคุณภาพน้ำ โดยกรมควบคุมมลพิษได้เข้าร่วมและให้ข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำจากกรณีสารเคมีประเภทกรดรั่วไหลต่อคณะทำงานของจังหวัดเลย และลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบและคุณภาพน้ำของแม่น้ำโขง บริเวณจุดสถานที่ท่องเที่ยวแก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จ.เลย

ทั้งนี้ ผลจากการตรวจวัดค่าคุณภาพน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ปัจจุบันได้ค่าเท่ากับ 8 ถือว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ สัตว์น้ำและคนสามารถใช้น้ำได้โดยปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงร่วมปฏิบัติตามแผนดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในพื้นที่ อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม อย่างเคร่งครัด โดยเฝ้าระวังคุณภาพน้ำจำนวน 3 จุด ในเวลา 09.00 น. และ 15.00 น. ตั้งแต่วันที่ 5 – 12 เม.ย. 67

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลยเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น และให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ รวมถึงแจ้ง สทนช. เพื่อประสานงานในระดับชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเลยประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง

“จากเหตุดังกล่าว วานนี้ (5 เม.ย. 67) สทนช. ได้ออกประกาศเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง โดยกรดซัลฟิวริกมีฤทธิ์กัดกร่อนสูงแต่สามารถเจือจางได้ง่ายภายใต้น้ำปริมาตรมาก ซึ่งผลจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในขณะนี้ พบว่า แม่น้ำโขงบริเวณ จ.เลย ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะยังคงมีการติดตามเฝ้าระวังและแจ้งข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

โดย สทนช. จะมีการประสานงานภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และขอเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ จ.เลย จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด”