PRO Model เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ผลักดัน EPR สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง

PRO Model เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ผลักดัน EPR สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง

แต่ละปี ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยชุมชนราว 25 ล้านตัน มีการนำไปใช้ประโยชน์ราว 8 ล้านตัน ขยะที่ยังสามารถรีไซเคิลได้บางส่วนไม่ได้รับการคัดแยก ลงสู่บ่อขยะโดยไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ การสร้างกระบวนการเก็บกลับอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้

KEY

POINTS

  • ขยะมูลฝอยชุมชนในไทย ปริมาณที่เกิดขึ้นราว 25 ล้านตันต่อปี มีการเก็บกลับ นำไปใช้ประโยชน์ราว 8 ล้านตัน โดยกระบวนการเก็บกลับมาใช้ประโยชน์ ครึ่งหนึ่งเกิดจากการคัดแยกจากประชาชน และส่วนที่เหลือ ถูกทิ้งออกไปสู่รถขยะ
  • EPR (Extended Producer Responsibility) หรือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นหลักการที่ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศเพื่อส่งเสริมการเก็บกลับของบรรจุภัณฑ์
  • ล่าสุด มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ อย่าง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ ภาคเอกชน PRO-Thailand Network ในการผลักดัน EPR ด้วย PRO Model เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม 

การจัดการขยะมูลฝอย ของประเทศไทย มีแผนแม่บท ดำเนินการโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ครอบคลุมขยะมูลฝอยทุกประเภท ไม่ว่าจะขยะชุมชน ของเสียอันตราย มูลฝอยติดเชื้อ กากอุตสาหกรรม 

 

อย่างไรก็ตาม ขยะมูลฝอยชุมชน ปริมาณที่เกิดขึ้นราว 25 ล้านตันต่อปี มีการเก็บกลับ นำไปใช้ประโยชน์ราว 8 ล้านตัน โดยกระบวนการเก็บกลับมาใช้ประโยชน์ ครึ่งหนึ่งเกิดจากการคัดแยกจากประชาชน และส่วนที่เหลือ ถูกทิ้งออกไปสู่รถขยะ และค่อยนำไปแยกที่ไซต์ สะท้อนว่าหากเก็บไม่ดีตั้งแต่ต้นทาง จะเกิดการปนเปื้อน พอไปถึงไซต์ขยะ แม้จะมีการคัดแยกก็จะสามารถคัดแยกได้ในระดับหนึ่ง ท้ายที่สุดแล้วจะถูกทิ้งทั้งๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นทรัพยากรที่เราเสียไป

 

ที่ผ่านมา มีการรวมตัวกันระหว่างภาคเอกชน 7 ราย อย่าง PRO-Thailand Network (เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน) เพื่อการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง 3 บรรจุภัณฑ์ คือ ขวดพลาสติก PET , กล่องเครื่องดื่ม UHT และซองขนม 

 

อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้การนำหลักการ EPR มาใช้กับการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภคแล้ว ส่วนที่สำคัญ คือ ภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย และ สร้างแรงจูงใจให้แก่เอกชน

 

PRO Model เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ผลักดัน EPR สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ล่าสุด มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ อย่าง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ ภาคเอกชน PRO-Thailand Network ในการผลักดัน EPR (Extended Producer Responsibility) หรือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ด้วย PRO Model เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม 

 

มุ่งเน้น จัดการขยะต้นทาง

กัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แต่เดิมเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เรามุ่งเน้นในเรื่องของการมีพื้นที่กำจัดขยะให้เพียงพอ แต่ ปัจจุบันองค์ประกอบของขยะมีส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น นโยบายการบริหารจัดการขยะในปัจจุบันมุ่งเน้นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่ที่ประชาชน แต่เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิต ตั้งแต่กระบวนการผลิต มีการบริหารจัดการในเชิงผู้จำหน่าย ผู้บริโภค คัดแยก เก็บขน จนถึงกำจัด

 

เมื่อเราดูองค์ประกอบของขยะตั้งแต่ต้นทาง จนปลายทาง พบว่า ใน 100% กว่า 40% เป็นขยะประเภทพลาสติก แก้ว กระดาษ โลหะ อลูมิเนียม เป็นหมวดที่ไม่อยากให้ถูกทิ้ง และอยากให้เกิดกระบวนการนำกลับมาใช้ประโยชน์ 

 

จึงมองว่า หลักการที่เราจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการ ในเรื่องของ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ มาเขียนเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ และ การทำงานร่วมกับภาคเอกชน PRO-Thailand Network (เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน) 

 

PRO Model เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ผลักดัน EPR สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง

 

ผลิต เก็บกลับ บรรจุภัณฑ์

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อไปว่า มุมมองในเรื่องของ EPR เรามองครบทั้งห่วงโซ่ EPR ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค คือ สิ่งที่เราวางไว้ในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ สำหรับ "EPR กับผู้ผลิต" เรามองตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้า อยากให้กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Eco Design ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบ ดูแลของเสีย มลพิษจากกระบวนการผลิต

 

และเมื่อเกิดการจำหน่ายสู่ "ผู้บริโภค" และผู้บริโภคใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นและกลายเป็นขยะ แต่เรามองว่าเป็นทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงต้องสร้างระบบการเก็บกลับ เอาบรรจุภัณฑ์ที่ตนเองผลิตมาใช้ประโยชน์ใหม่

 

ขณะเดียวกัน "ในเชิงผู้จำหน่าย" เราก็อยากให้ผู้จำหน่าย ส่งเสริมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกขาย เลือกบรรจุภัณฑ์อย่างเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภค ก็เลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การบริโภคไม่ฟุ่มเฟือย คัดแยก จะเป็นห่วงโซ่ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค

 

สร้างความร่วมมือ ภาครัฐ เอกชน

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้แม้จะอยู่ในแผนแต่หากไม่มีการหยิบนำมาใช้ ก็ไม่เกิดกลไก ดังนั้น โดยหลัก คือ นโยบายภาครัฐต้องชัดเจน ขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้ใช้ พ.ร.บ. เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า กฎระเบียบ จัดระเบียบทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้จำหน่าย เป็นสิ่งที่กรมฯ กำลังยกร่าง พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเราจะไม่เรียกว่า "ขยะ" แต่เป็น "การจัดการบรรจุภัณฑ์" 

 

อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริง คือ การจะเกิด พ.ร.บ. ต้องมีขั้นตอน เข้าสภา เข้า ค.ร.ม. เข้ากฤษฎีกา เข้ารัฐสภา อย่างเร็วไม่ต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้น การทำงานคู่ขนาน ทางกรมฯ มีการวางแผน โดยคุยกับภาคเอกชน เพราะความสำเร็จอยู่ที่ภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีภาคเอกชนควบคู่กัน

 

สำหรับการทดสอบระบบร่วมกัน วันนี้เรามี PRO-Thailand Network เกิดขึ้น ในมิติภาคเอกชน ซึ่งเห็นความสำคัญของการคัดแยก และเห็นประโยชน์ในมิติทรัพยากร มีการเดินหน้าควบคู่ไปกับการทำงานของภาครัฐ ดังนั้น จะเป็นการทดสอบกลไก ระหว่างที่กฎหมายกำลังเดินหน้า มีข้อติดขัด หรือ ต้องปรับปรุง แรงจูงใจจากภาครัฐอย่างไร รวมถึงการสื่อสารกับประชาชนในการเรียนรู้

 

PRO Model เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ผลักดัน EPR สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง

 

“PRO Model” สร้างความยั่งยืนบรรจุภัณฑ์

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อไปว่า ในการทดสอบกับ PRO-Thailand Network ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคเอกชน และนำบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวดน้ำดื่ม PET , กล่องนม UHT กล่องเครื่องดื่มน้ำผลไม้ และมองในเรื่องของซองขนม เพราะเหล่านี้เราเห็นในขยะเยอะ แสดงว่า คนไม่รู้ว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เราจะดำเนินการเหล่านี้อย่างไร

 

ซึ่ง PRO-Thailand Network มีการเช็กระบบว่าจะมีกระบวนการเก็บกลับอย่างไร คุยกับร้านรับซื้อของเก่า ร้านรีไซเคิลอย่างไร ปลายทางหากเก็บกลับมาแล้ว ภาคเอกชนจะรับสิ่งเหล่านี้ไปก่อให้เกิดมูลค่าได้อย่างไร เป็นการเซ็ตระบบ ต้องลงทุนลงแรงอย่างไร ต้องปรับระบบอย่างไร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกระทรวงมหาดไทย จะมีการจัด Facility ในระบบการเก็บกลับอย่างไร เป็นสิ่งที่เราทำร่วมกับ PRO-Thailand Network อยู่ในขณะนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า “PRO Model”

 

“ความรับผิดชอบมองได้ 2 แบบ คือ ภาคเอกชนที่ต้องรับผิดชอบ แต่ระบบเก็บกลับ เวลาที่เราแยกกันทำต้นทุนต่อหน่วยสูง แต่ละภาคเอกชนต้องไปสู้รบปรบมือกับระบบเก็บรวบรวม ดังนั้น มองว่า หากภาคเอกชนรายไหนที่มีเครือข่ายที่ดี สามารถเก็บกลับได้ และอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การตั้งตัวแทนของภาคเอกชนในการทำหน้าที่ เพื่อให้มีการใช้ Facility ร่วมกันโดยการลงทุนครั้งเดียว เก็บได้หลายผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนในการเก็บกลับ โอกาสทางธุรกิจก็จะดีขึ้น”

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังเป็นภาคสมัครใจ และภาครัฐจะต้องช่วยเช่นกัน มีเวทีในการพูดคุยมาตรการสนับสนุน จูงใจให้ภาคเอกชนสามารถเดินต่อไปได้ และในส่วนของกฎหมายจะต้องออก โดย กรมฯ มีการใช้งบประมาณในปี 2566 จัดจ้างในเรื่องของกฎหมายเสร็จออกมาแล้ว และในขั้นที่มีการยกร่าง และต้องเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เป้าหมายของเราวางแผนว่าปลายปีนี้จะไปถึง ค.ร.ม. และในปีหน้าคาดว่าจะเข้าไปอยู่ในชั้นของกรรมาธิการ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

 

ทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน สร้างกลไกยั่งยืน

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อไปว่า ภาครัฐไม่สามารถให้ภาคเอกชนเดินอย่างโดดเดี่ยว ต้องซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน โดยภาครัฐเองก็ต้องทำงานร่วมกับสมาคมซาเล้ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องเข้ามาสร้างระบบเก็บรวบรวม เพื่อลดภาระของ PRO ด้วย

 

“ตอนนี้ ระบบเก็บกลับ ภาคเอกชนต้องสละเม็ดเงินในการทดสอบระบบ และสร้างกลไก ดังนั้น ต้องทำงานคู่ขนานโดยไม่จำเป็นต้องรอกฎหมาย แต่ผลสำเร็จตรงนี้จะใช้สร้างความมั่นใจคนที่พิจารณากฎหมาย กระทรวงฯ มีคณะกรรมการโดยมีท่านปลัดเป็นประธาน ในเรื่องของระบบ EPR โดยตรง"

 

"ผลของการดำเนินงานไม่ว่าจะมูลนิธิ 3R หรือทางกรมฯ จะถูกนำเสนอในชุดคณะกรรมการ ซึ่งมีตัวแทนของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย อยู่ด้วย เพราะหวังอยากให้คณะทำงานชุดนี้ได้เห็นไปพร้อมกัน และนำไปสู่มาตรการสนับสนุน” รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

 

สร้างความเข้าใจ สู่การนำมาใช้ประโยชน์ทั้ง Value Chain

วันเพ็ญ โล่ห์เลิศพิภพ ตัวแทนผู้บริหาร PRO-Thailand Network กล่าวว่า PRO-Thailand Network เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 จากจุดเริ่มต้นภาคเอกชน 5 บริษัท โดยมองว่าหน้าที่ คือ ทำอย่างไรให้บรรจุภัณฑ์ที่เราใช้ ถูกหมุนเวียนกลับมาในระบบอย่างแท้จริง จึงเป็นสิ่งที่ 5 บริษัทรวมตัวกัน และศึกษา PRO ในต่างประเทศ

 

“สิ่งที่เรียนรู้มา คือ การทำงานเชิงการขับเคลื่อนของภาคเอกชน จะทำให้เกิดการเก็บกลับได้ก็ต่อเมื่อ เราทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประเทศไทย มีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียครบ เรามีซาเล้งทั่วประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ทำอย่างไรให้ซาเล้ง เก็บกลับกล่องเครื่องดื่ม คัดแยก เก็บกลับเข้ามา ดังนั้น PRO ทำงานกับกลุ่มผู้รับซื้อทั้งรายใหญ่และรายย่อย และที่สำคัญ โรงงานรีไซเคิล ที่มีส่วนสำคัญให้วัสดุที่ใช้งานแล้ว กลับมาหมุนเวียนได้”

 

ปัจจุบัน PRO-Thailand Network มีสมาชิกรวมกัน 7 ราย ประกอบด้วย ผู้ผลิตสินค้า ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และเจ้าของตราสินค้า ได้แก่

  • บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
  • บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
  • บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด
  • บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด

 

หากดูกลุ่มบรรจุภัณฑ์ในไทย จะมีกลุ่มที่มีมูลค่าและไม่มีมูลค่า ความคาดหวังของเรา คือ กลุ่มที่มีมูลค่าสูง อยากมั่นใจว่าจะถูกเข้ามาสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง และ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ยังไม่มีมูลค่า อยากทำให้กลับเข้ามาในระบบให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ ทั้งการส่งเสริมการเก็บกลับ การส่งเสริมคัดแยกกลางทาง ไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดสินค้าที่พัฒนาวัสดุประเภทนั้นให้กลับมามีมูลค่า เพื่อให้โรงงานรีไซเคิลสามารถอยู่ได้ ไม่กลายเป็นขยะ เป็นจุดที่เราคาดหวังว่า การทำ PRO Model ในประเทศไทย อยากจะทำให้เกิดสิ่งนี้ให้ได้”

 

"การทำงานร่วมกับภาครัฐและเดินไปพร้อมกัน จะทำให้ PRO Model เกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็นระบบคัดแยก และเป็นประโยชน์ในการทำงานภาพรวมของประเทศ PRO-Thailand ก็ให้ความสำคัญมากๆ กับการทำงานกับซาเล้ง เพราะประเทศไทย มีซาเล้งเก็บไปขาย การทำงานที่เข้มแข็งกับระบบซาเล้ง จะช่วยให้การเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของบรรจุภัณฑ์ เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน"

 

PRO Model เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ผลักดัน EPR สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง

 

มองให้เห็นคุณค่า ทั้ง Value Chain

ด้าน ธารทิพย์ โพธิตันติมงคล ตัวแทนผู้บริหาร PRO-Thailand Network กล่าวเสริมว่า เรามีภารกิจร่วมกัน คือ ทำอย่างไรให้บรรจุภัณฑ์ที่เราใช้ ถูกหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด และอันไหนสามารถรีไซเคิล หรือใช้ประโยชน์ได้ ก็พยายามนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด หรือ บรรจุภัณฑ์ไหนที่มี Value Chain ที่ยังไม่สมบูรณ์พอ PRO-Thailand จะเข้าไปดูว่าเราจะสามารถพัฒนา ปรับปรุงเพิ่มได้อย่างไร

 

การทำงานของ PRO-Thailand ในปัจจุบันทำงานร่วมกับ มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) ซึ่งส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นการจัดการพื้นฐานให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน การทำงานของ PRO-Thailand เบื้องต้นมองไว้ 3 บรรจุภัณฑ์ คือ ขวดพลาสติก PET , กล่องเครื่องดื่ม UHT และซองขนม เนื่องจาก 3 บรรจุภัณฑ์มี Value Chain ไม่เหมือนกัน

 

วิธีการหลักๆ ของเรา คือ ต้องการทำให้คนที่อยู่ใน Value Chain เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีมูลค่าและเกิดการเก็บกลับ กล่องเครื่องดื่มที่ไม่เคยถูกเก็บกลับ ทำอย่างไรให้ซาเล้ง หรือประชาชน รู้ว่านำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ หรือแม้กระทั่งซองขนมที่มีน้ำหนักเบา และดูไม่มีมูลค่า แต่หากเราสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจว่าสามารถเก็บและขายได้ เอาไปผลิตเป็นสินค้าอื่นได้ จะทำให้คนใน Value Chain เห็นว่ามีมูลค่า

 

และส่งเสริมในเรื่องของโรงงานรีไซเคิล หรือแม้กระทั่งซาเล้งให้เขารู้ว่าหากคุณรับซื้อมันมีทางไป บรรจุภัณฑ์เหล่านี้สามารถขายได้และนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้ จะทำให้เกิดการเก็บกลับ เอามาหมุนเวียน ใช้ประโยชน์ในเชิงอื่น สร้างมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว

 

4 ปี PRO-Thailand กับการเก็บบรรจุภัณฑ์กลับเข้าระบบ

ธารทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลา การทำงานของ PRO-Thailand มีการทดลอง Pilot Project ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 – 2023 สามารถเก็บกลับขวดพลาสติก PET เข้าสู่ระบบการรีไซเคิล 40,000 ตัน กล่องเครื่องดื่มที่ไม่เคยถูกเก็บกลับอย่างเป็นรูปธรรมมาก่อน 4 ปีที่ผ่านมา PRO-Thailand สามารถเก็บกล่อง UHT ได้มากถึง 466 ตัน และ ซองขนม ซองถุงเติม เก็บได้กว่า 1,100 ตัน

 

ทั้งนี้ การเก็บกลับดังกล่าว เป็นปริมาณการเก็บผ่านระบบการซื้อขาย ซึ่งซาเล้งมีความเข้าใจว่า ขยะเหล่านี้สามารถซื้อขายได้ มีโรงงานรีไซเคิลพร้อมรับซื้อและผลิตเป็นสินค้ารีไซเคิล รวมถึง ซองขนม ซองกาแฟ สามารถนำไปเป็นจุดเริ่มต้นของพลังงานเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดีและมีมูลค่า โดย PRO-Thailand เข้าไปทำงานเสริมระบบการจัดการกลุ่มก้อนที่มีอยู่แล้วให้แน่นหนา และเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนได้

 

“จากที่ทำ Pilot Project ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าช่วยในการขับเคลื่อน สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น คือ มาตรการจูงใจ การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เคยมีมูลค่ามาก่อน พอเราใส่แรงจูงใจเข้าไป ตรงนี้ทำให้คนในระบบห่วงโซ่เห็นคุณค่ามากขึ้น PRO-Thailand มองว่ามาตรการจูงใจที่เหมาะสมจากทางภาครัฐ เป็นเรื่องหนึ่งที่ภาคเอกชน หันมาอยากเข้ามามีส่วนรวมกับ PRO-Thailand มากขึ้น”

 

PRO Model เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ผลักดัน EPR สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง

 

ธารทิพย์ มองว่า การทำงานในลักษณะ Public-Private Partnership เป็นการทำงานที่ทำให้การพัฒนากฎหมาย หรือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต่อการจัดการบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืน เป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด เนื่องจากภาครัฐจะมีมุมมองในการออกกฎระเบียบ กรอบการดำเนินการ และนโยบาย

 

ขณะที่ภาคเอกชน ถนัดในการเข้าไปเป็นโมเดล เป็นเครื่องมือช่วยให้ภาครัฐขับเคลื่อนได้อย่างเหมาะสม และการทำงานลักษณะนี้ จะช่วยตอบโจทย์ทุกห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค ตรงนี้หากภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ว่าแต่ละหน่วยงานควรมีหน้าที่ที่เหมาะสมอย่างไร จะเป็นการขับเคลื่อนได้อย่างราบรื่นและส่งผลให้การใช้กฎหมายในอนาคตเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ก้าวข้ามอุปสรรค สร้างความร่วมมือ 

อย่างไรก็ตาม ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา อุปสรรคที่พบในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว "สุเวช หาญเชาว์วงศ์" ตัวแทนผู้บริหาร PRO-Thailand Network กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาอุปสรรค ที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินการ  คือ ความแตกต่างกันของบรรจุภัณฑ์ ในตัวบรรจุภัณฑ์ PET มีมูลค่าสูงอยู่แล้ว และสามารถถูกนำไปใช้ซ้ำได้ ในขณะที่ กล่องนม UHT หรือ ซองขนม อาจจะยังขาดความรู้ความเข้าใจว่าสามารถนำไปรีไซเคิลได้

 

ดังนั้น การทำงานของ PRO-Thailand พยายามที่จะสร้างความรับรู้ว่า สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ และตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้ดำเนินการได้อย่างคล่องตัว ในการสนับสนุนการเก็บกลับ และมีเครื่องมือที่เหมาะสม สามารถขับเคลื่อนไปได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่เรามองเห็น คือ เราอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในภาคธุรกิจ ดังนั้น จึงพยายามชักชวนภาคธุรกิจ หันมาเห็นความสำคัญของการดำเนินการในลักษณะนี้

 

PRO Model เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ผลักดัน EPR สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง

 

"เราคาดหวังความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งเอกชน ประชาชน ที่สำคัญ คือ ทางภาครัฐเองที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย การเปลี่ยนผ่านบรรจุภัณฑ์ จะมีประสิทธิหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ PRO-Thailand เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องมาจากความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการกำหนดนโยบาย ที่เหมือนการกำหนดเส้นทางให้กับทุกฝ่ายว่าจะต้องเดินไปทางไหน หวังว่า การเปลี่ยนผ่านการจัดการบรรจุภัณฑ์ การขับเคลื่อนของภาครัฐ จะมีส่วนช่วยแก้ไขอุปสรรคของภาคเอกชน และประชาชนได้ดำเนินการ อยากให้มีกติกาถูกต้อง เหมาะสมกับบริบทของไทย" สุเวช กล่าวทิ้งท้าย 

 

PRO Model เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ผลักดัน EPR สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง