‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ ‘รีไซเคิล’ ต่ำ ต้นตอ ‘โลกร้อน’
สหประชาชาติเตือน “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในขณะที่อัตราการรีไซเคิลยังต่ำ และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ
KEY
POINTS
- ในปี 2565 โลกสร้าง “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” (E-Waste) จำนวน 62 ล้านตัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 32% เป็น 82 ล้านตันในปี 2573 แต่ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเพียงแค่ 22.3% เท่านั้น
- ขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้อุปกรณ์ที่หลากหลาย รวมถึงใช้โลหะหายาก ที่ถูกสกัด และแปรรูปด้วยกระบวนการที่ใช้พลังงานสูง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
- หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มแก้ไขวิกฤติขยะอิเล็กทรอนิกส์คือ ประเทศร่ำรวยจะต้องหยุดส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศที่ไม่มีความสามารถในการจัดการขยะเหล่านี้ โดยเฉพาะในประเทศยากจน และกำลังพัฒนา
สหประชาชาติเตือน “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในขณะที่อัตราการรีไซเคิลยังต่ำ และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ
จากรายงานของ Global E-waste Monitor ของสถาบันเพื่อการฝึกอบรม และการวิจัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNITAR ระบุว่า ในปี 2565 โลกสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) จำนวน 62 ล้านตัน สามารถนำขยะเหล่านี้ไปใส่รถบรรทุกขนาด 40 ตัน ได้มากกว่า 1.5 ล้านคัน ซึ่งสามารถเอารถมาเรียงต่อกันได้ความยาวรอบโลก
สำหรับ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” เป็นคำที่ใช้เรียกขยะที่เป็นอุปกรณ์มีปลั๊กหรือแบตเตอรี่ และมีสารพิษ และสารอันตรายเป็นส่วนประกอบ เช่น ปรอท และตะกั่ว รวมถึงโทรศัพท์มือถือ ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ ทีวี เตาไมโครเวฟ บุหรี่ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป และแผงโซลาร์เซลล์
โดยเฉลี่ยแล้ว ในแต่ละปีทุกคนบนโลกสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 7.8 กิโลกรัม ทั้งนี้ยุโรปเป็นทวีปที่สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อหัวมากที่สุดถึง 16 กิโลกรัม แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นในเอเชีย
“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ล้นโลก
ในโลกที่ชีวิตผู้คนต้องพึ่งพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิต และเทคโนโลยีต่างๆ เริ่มเข้าไปสู่ทั่วทุกมุมโลก ยิ่งทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าเดิม โดยประมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้น 82% เมื่อเทียบกับปี 2553 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 32% เป็น 82 ล้านตันในปี 2573 โดยที่ไม่สามารถนำไป “รีไซเคิล” ได้อย่างคุ้มค่า
รายงานของ UNITAR ยังระบุด้วยว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในปี 2565 เพียง 22.3% ที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2010 เป็นต้นมา ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีมากกว่าการนำไปรีไซเคิลถึง 5 เท่า โดยส่วนใหญ่แล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์จะถูกทิ้งที่หลุมฝังกลบ อีกส่วนจะนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น ของเล่น เครื่องดูดฝุ่น และบุหรี่ไฟฟ้า มีอัตราการรีไซเคิลต่ำที่สุดประมาณ 12% เท่านั้น แม้ว่าที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้จะมีมากถึง 1 ใน 3 ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดก็ตาม ส่วนชิ้นส่วนขยะที่มีน้ำหนักมาก และมีขนาดใหญ่ เช่น เครื่องปรับอากาศ และหน้าจอทีวี จะมีอัตราการรีไซเคิลมากที่สุด
นอกจากนี้ รายงานคาดว่าอัตราการรวบรวม และการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จะลดลงเหลือ 20% ในปี 2573 โดย จิม พัคเก็ตต์ ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการบริหาร Basel Action Network กลุ่มเฝ้าระวังขยะอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยกับ CNN ว่า ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักจะละเลย และไม่แสดงความรับผิดชอบ หากเกิดอะไรขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว
“ต้องมีกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตทำแผนที่ชัดเจนสำหรับการกำจัด การรวบรวม และการรีไซเคิลชิ้นส่วนที่เป็นพิษและเป็นอันตรายจากผลิตภัณฑ์ของตน ไม่ใช่ว่าสักแต่จะของใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภคอย่างเดียว” พัคเก็ตต์ กล่าว
“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ต้นตอโลกร้อน
นอกจากจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้อุปกรณ์ที่หลากหลาย รวมถึงใช้โลหะหายาก ที่ถูกสกัด และแปรรูปด้วยกระบวนการที่ใช้พลังงานสูง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
เมื่อความต้องการเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคโดนชักจูงให้เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่บ่อยขึ้น ก็เท่ากับต้องผลิตสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศมากขึ้นกว่าเดิม
รายงานพบว่าการจัดการ และกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสมสามารถช่วยลดการเกิดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ด้วยเรียกคืนอุปกรณ์เก่า และรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นวัสดุใหม่
“ยิ่งเรารีไซเคิลโลหะมากเท่าไร ก็ช่วยให้เราขุดโลหะน้อยลงเท่านั้น” คีส บัลเด ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ และผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์อาวุโสของสถาบันฝึกอบรม และการวิจัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับ CNN
“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ต้อง “รีไซเคิล” ให้ถูกวิธี
แม้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนจะล้นโลก แต่มีเพียง 81 ประเทศเท่านั้นที่มีนโยบายการจัดการดูแลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในสหภาพยุโรป
สหรัฐ ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในโลก ยังไม่มีกฎหมายจากรัฐบาลกลางที่บังคับใช้การรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงบางรัฐ เช่น วอชิงตัน ดี.ซี. ที่บังคับใช้กฎระเบียบขยะอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองแล้ว
การรีไซเคิลโลหะจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ แทนที่จะสกัดวัตถุดิบใหม่ สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาวะโลกร้อนได้ประมาณ 52 ล้านตันในปี 2565 ที่สำคัญการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สารทำความเย็น ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก เช่น ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้สามารถลดผลกระทบที่อันตรายต่อสภาพภูมิอากาศได้
การรีไซเคิลโลหะยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย รายงานพบว่ามีโลหะต่างๆ เช่น ทองแดง ทอง และเหล็ก มูลค่าประมาณ 91,000 ล้านดอลลาร์ ถูกฝังอยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งในปี 2565 โดยคิดเป็นทองคำมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มแก้ไขวิกฤติขยะอิเล็กทรอนิกส์คือ ประเทศร่ำรวยจะต้องหยุดส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศที่ไม่มีความสามารถในการจัดการขยะเหล่านี้ โดยเฉพาะในประเทศยากจน และกำลังพัฒนา ที่มักจะรับขยะนำเข้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และมักจะนำไปจัดการในระบบรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีการควบคุม จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และมลภาวะอย่างรุนแรง
ที่มา: Aljazeera, CNN, Reuters
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์