‘เยอรมนี’ ขึ้นแท่นประเทศ ‘รีไซเคิล’ มากที่สุดในโลก
เปิดวิธีปลูกฝังนิสัยรักการรีไซเคิลของ “เยอรมนี” เป็นประเทศที่มีการรีไซเคิลมากที่สุดในกลุ่มประเทศ OCED ในปี 2023 ด้วยสัดส่วน 66.1% เป็นผลมาจากการมีโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมาย และการสนับสนุนให้เกิดการรีไซเคิล ช่วยให้ชุมชนมีส่วนร่วมหลากหลายวิธี รับ "วันรีไซเคิลโลก"
KEY
POINTS
- Global Recycling Foundation กำหนดให้วันที่ 18 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันรีไซเคิลโลก” (Global Recycling Day) เพื่อสร้างความตระหนักถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแสดงให้เห็นว่าการรีไซเคิลมีบทบาทสำคัญในการรักษาอนาคตของโลกใบนี้
- “เยอรมนี” เป็นประเทศที่มีการรีไซเคิลมากที่สุดในกลุ่มประเทศ OCED ในปี 2023 ด้วยสัดส่วน 66.1% เป็นผลมาจากการมีโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายและการสนับสนุนให้เกิดการรีไซเคิล ช่วยให้ชุมชนมีส่วนร่วมหลากหลายวิธี
- ขณะที่ “แบตเตอรี่ตะกั่ว” ครองตำแหน่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการรีไซเคิลมากที่สุดในสหรัฐ และนับเป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ยั่งยืนที่สุด โดยมีอัตราการรีไซเคิลสูงถึง 99%
ในแต่ละปี โลกสูญเสียทรัพยากรธรรมชาตินับพันล้านตัน เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิดใช้แล้วหมดไป ซึ่งอีกไม่กี่ปีทรัพยากรจะหมดลง ขณะเดียวกัน “ปัญหาขยะ” ก็กลายเป็นปัญหาระดับโลก จากการไม่มีระบบจัดการจัดขยะที่ดี
อีกทั้งในปี 2023 กลายเป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ และสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว จนเกิดการละลายของน้ำแข็ง และคลื่นความร้อนทั่วโลก
ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาความยากจน และสงครามที่ยืดเยื้อ เมื่อยิ่งรวมกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ยิ่งทำให้มนุษยชาติได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในวิธีที่ยับยั้งไม่ให้ผลกระทบรุนแรงมากยิ่งขึ้น คือ “การรีไซเคิล” ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ของสหประชาชาติ
วันรีไซเคิลโลก
Global Recycling Foundation องค์กรสนับสนุนการรีไซเคิล และอุตสาหกรรมรีไซเคิลทั่วโลก กำหนดให้วันที่ 18 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันรีไซเคิลโลก” (Global Recycling Day) เพื่อสร้างความตระหนักถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ทิ้งให้เป็นขยะ และแสดงให้เห็นว่าการรีไซเคิลมีบทบาทสำคัญในการรักษาอนาคตของโลกใบนี้
สำหรับในปีนี้ Global Recycling Foundation ประกาศธีมของวันรีไซเคิลโลกปี 2024 ในชื่อ #RecyclingHeroes เพื่อเชิดชูผู้คน สถานที่ และกิจกรรมที่แสดงให้เห็นว่าการรีไซเคิลมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางสิ่งแวดล้อม มีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไร
มีเป้าหมายเพื่อบอกผู้นำและทุกคนในโลกว่าการรีไซเคิลมีความสำคัญอย่างมาก สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งต้องการให้ทุกคนตระหนักว่า วัสดุที่รีไซเคิลได้ ไม่ใช่ขยะ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ซ้ำได้
วันรีไซเคิลโลกเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2018 เพื่อช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการรีไซเคิล ที่ช่วยรักษาทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป และถือเป็นวันที่มาให้ความสำคัญกับโลกของเรา
“เยอรมนี” ประเทศที่รีไซเคิลมากที่สุด
การรีไซเคิลเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จนวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ยกให้เป็น “ทรัพยากรลำดับที่ 7” ต่อจากน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ โลหะ หิน และทราย ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป การรีไซเคิลสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 700 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านตันภายในปี 2030
การรีไซเคิลจึงกลายเป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญในการปกป้องโลกในนี้ และอนาคตของมวลมนุษยชาติ
จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OCED ระบุว่า “เยอรมนี” เป็นประเทศที่มีการรีไซเคิลมากที่สุดในกลุ่มประเทศ OCED ในปี 2023 ด้วยสัดส่วน 66.1% เป็นผลมาจากการมีโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมาย และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สนับสนุนให้เกิดการรีไซเคิล ช่วยให้ชุมชนมีส่วนร่วมหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนสำหรับการแยกขยะ ขั้นตอนการรีไซเคิล และประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมจากการรีไซเคิล พร้อมจัดการอบรมเชิงปฏิบัติในชุมชน เช่น เวิร์กช็อปการรีไซเคิลและการขับเคลื่อนการเก็บขยะ
นอกจากนี้ เยอรมนียังส่งเสริมความรู้ให้แก่เด็กๆ ตั้งแต่ในโรงเรียน ด้วยการบูรณาการเรียนการสอนเรื่องการรีไซเคิลเข้ากับหลักสูตร เพื่อให้นักเรียนได้รู้ถึงความสำคัญของการรีไซเคิลตั้งแต่เด็ก ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างวัฒนธรรมความยั่งยืนให้แก่คนรุ่นใหม่
ความสำเร็จในการรีไซเคิลของเยอรมนี ยังเป็นผลมาจากโครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิลที่หลากหลาย ช่วยให้กระบวนการคล่องตัว และเพิ่มการกู้คืนทรัพยากรได้สูงสุด ได้แก่
เทคโนโลยีการคัดแยก: ศูนย์รีไซเคิลในประเทศเยอรมนี ใช้เทคโนโลยีการคัดแยกที่ทันสมัยซึ่งแยกวัสดุต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถลดการปนเปื้อน และช่วยให้มั่นใจว่าขยะรีไซเคิลได้รับการจัดหมวดหมู่อย่างเหมาะสม
ระบบการคัดแยก: เมืองต่างๆ ในเยอรมนีมีโรงคัดแยกขยะรีไซเคิลที่ให้ประชาชนสามารถทิ้งสิ่งของบางอย่างได้ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเสียอันตราย และสิ่งของขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการนำขยะรีไซเคิลไปฝังกลบได้ดี
ระบบฝากขวด: “Pfand” เป็นระบบมัดจำคืนเงินบรรจุภัณฑ์ โดยผู้ซื้อจะต้องเสียค่ามัดจำเมื่อซื้อสินค้าที่เป็นขวด และจะได้เงินมัดจำคืนเมื่อนำขวดไปหยอดคืนที่ตู้ หรือจะเก็บสะสมไว้สำหรับใช้เป็นส่วนลดก็ได้ ประชาชนระบบให้ความสนใจกับ Pfand เป็นอย่างมาก มีคนนำขวดใช้ครั้งเดียวทิ้งมาคืนถึง 97% ส่วนกระป๋องอะลูมิเนียมมีคนมาคืน 99%
การนำทรัพยากรกลับมาผลิตใหม่: ผู้ผลิตสินค้าในเยอรมนีหันมาใช้ผลิตสินค้าจากวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้มากขึ้น เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรกลับมาผลิตใหม่ (Resource Recovery) ได้ ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ มักจะถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานผ่าน “โรงไฟฟ้ารีไซเคิล” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
ความสำเร็จในการรีไซเคิลของเยอรมนีถือเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนทั่วโลก ในการจัดลำดับความสำคัญของการมีส่วนร่วมของพลเมือง การใช้โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นนวัตกรรม ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน และทำให้โลกได้เห็นว่าการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพสามารถทำได้ และเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวมอย่างไร
“แบตเตอรี่ตะกั่ว” วัสดุที่มีการรีไซเคิลมากที่สุดใน “สหรัฐ”
การศึกษาของแบตเตอรี่สภานานาชาติ หรือ BCI สมาคมการค้าในอเมริกาเหนือซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทแบตเตอรี่ตะกั่ว พบว่า “แบตเตอรี่ตะกั่ว” ครองตำแหน่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการรีไซเคิลมากที่สุดในสหรัฐ และนับเป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ยั่งยืนที่สุด โดยมีอัตราการรีไซเคิลสูงถึง 99%
แบตเตอรี่ตะกั่วได้รับการออกแบบให้รีไซเคิลได้ ส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ ตะกั่ว พลาสติก และกรด ซึ่งสามารถรีไซเคิลได้ 100% โดนตะกั่วสามารถนำมารีไซเคิลได้โดยที่ไม่สูญเสียประสิทธิภาพอีกด้วย หมายความว่าอย่างน้อย 80% ของแบตเตอรี่ใหม่ถูกผลิตจากแบตเตอรี่เก่าทั้งสิ้น และเกือบ 70% ของตะกั่วที่ใช้ในแบตเตอรี่มาจากการรีไซเคิล
การผลิตแบตเตอรี่ตะกั่วมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำที่สุด อีกทั้งการรีไซเคิลตะกั่วมาผลิตแบตเตอรี่ใหม่ ใช้พลังงานในการผลิตแบตเตอรี่ต่ำกว่าการใช้แบตเตอรี่ใหม่ เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดอีกด้วย
แบตเตอรี่ตะกั่วเป็นหัวใจสำคัญในการลดใช้คาร์บอน และการเปลี่ยนแปลงพลังงานในอนาคต เป็นแหล่งพลังงานสำรองที่ปลอดภัย และถูกใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งเป็นอุปกรณ์จ่ายไฟสำรองในโรงพยาบาล และศูนย์จัดเก็บข้อมูล รถไฟฟ้า ตลอดจนใช้เป็นจัดเก็บพลังงานหมุนเวียน
ในยุโรปเองก็มีการพิสูจน์แล้วว่า แบตเตอรี่ตะกั่วมีความยั่งยืนในเชิงเศรษฐกิจ และช่วยให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และความยั่งยืน เมื่อแบตเตอรี่ตะกั่วหมดอายุการใช้งาน แบตเตอรี่ตะกั่วจะถูกรีไซเคิล และกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่ตะกั่วใหม่ และเริ่มวงจรการใช้-รีไซเคิล-ผลิตใหม่ไม่รู้จักจบ
ที่มา: Global Recycling Day, International Lead Association, LinkedIn
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์