ส่องมุมมอง 'คนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม' โลกเปลี่ยนได้ ด้วยกระป๋อง 1 ใบ

ส่องมุมมอง 'คนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม' โลกเปลี่ยนได้ ด้วยกระป๋อง 1 ใบ

TBC ร่วมกับ Aluminium Loop จัดประกวดหาคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ เจาะกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ University Can Do : To Be a Creator ปลุกปั้นเยาวชนที่มีความสามารถ สร้างคอนเทนต์ออนไลน์เพื่อกระตุ้นการรับรู้ และความใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อม

KEY

POINTS

  • กระป๋องอะลูมิเนียมลูป สามารถรีไซเคิลได้ 100% ไม่มีวันสิ้นสุด และ Aluminum loop รีไซเคิลได้ทั้งใบ ไม่ใช่แค่ห่วง ใน 75% ของอะลูมิเนียมที่ถลุงตั้งแต่ปี พ.ศ.2431 ยังคงนำกลับมาใช้จนถึงปัจจุบัน
  • TBC ผู้นำด้านธุรกิจการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมร่วมกับ Aluminium Loop เฟ้นหาคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่เจาะกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ University Can Do : To Be a Creator
  • ผู้ชนะเลิศประเภททีม ได้แก่ “SNJ ตัวแม่มากู้โลก” กับแรงบันดาลใจในการเป็นหนึ่งพลังที่จะทำให้โลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายๆ เพียงกระป๋องจิ๋ว 1 ใบ และ "จันทกานต์ ทองถิ่น" ผู้ชนะประเภทเดี่ยว ยกระดับสื่อสร้างสรรค์ด้วย AI

อุณหภูมิที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัญหาขยะล้นเมือง อุทกภัยที่ผ่านมา หรือปัญหาภัยแล้งตามแต่ละภาคในประเทศไทย ล้วนมีผลมาจากการกระทำของมนุษย์ที่ไม่เห็นความสำคัญ และเพิกเฉยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งผลกระทบจากการทำลายธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้นย้อนกลับมาสร้างความปั่นป่วนต่อการดำรงชีวิตของเราทุกคนในที่สุด

 

จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เราทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไขนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยกันเป็นกระบอกเสียงเพื่อสิ่งแวดล้อม และช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และแข็งแรงต่อสังคมในอนาคต เพื่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมดุลมากขึ้น

 

กระป๋อง Aluminum loop กู้โลก

ปัจจุบันโลกเรากำลังเผชิญกับปัญหาโลกรวน โลกเดือด ซึ่งทุกคนจะเห็นได้ว่า เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว ฝนตกไม่ตามฤดูกาล แต่กระป๋องจิ๋ว อัศวินผู้กล้าที่จะช่วยโลกใบนี้ได้ นั่นก็ได้คือ “กระป๋อง Aluminum loop กู้โลก” เนื่องจากกระป๋องอะลูมิเนียมลูปนั้นสามารถรีไซเคิลได้ 100% และไม่มีวันสิ้นสุด และ Aluminum loop รีไซเคิลได้ทั้งใบ ไม่ใช่แค่ห่วง

 

ใน 75% ของอะลูมิเนียมที่ถลุงตั้งแต่ปี พ.ศ.2431 ยังคงนำกลับมาใช้จนถึงปัจุบัน และกระป๋องอะลูมิเนียม ลูปยังแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ถ้าคุณใช้กระป๋องอะลูมิเนียมที่มีสัญลักษณ์ Aluminum loop ไม่เพียงแต่จะช่วยโลก และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้พิการทางขาได้มากกว่าการเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์อีกด้วย

 

ส่องมุมมอง \'คนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม\' โลกเปลี่ยนได้ ด้วยกระป๋อง 1 ใบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

เยาวชนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เยาวชนรุ่นใหม่ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันประเภททีม “SNJ ตัวแม่มากู้โลก” ได้แก่ นายชฎารัตน์ อับไพ หรือน้องจีจี้ ชั้นปีที่2 จาก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อายุ 20 ปี, นายพงษ์โชติ นาสร้อย หรือน้องสกาย ชั้นปีที่ 3 จาก วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น อายุ 21 ปี และนายอรปรียา รุ่งรัตน หรือน้องนินิว อายุ 21 ปี เล่าว่า เข้าร่วมโครงการจากการประชาสัมพันธ์ ค้นหา Ceator ด้านสิ่งแวดล้อม ทางเพจ Aluminium Loop ซึ่งทางสมาชิกกลุ่มมีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมานานจึงชักชวนกันมาเข้าร่วมโครงการ University Can Do: To be a Creator

 

น้องสกาย กล่าวว่า ตอนแรกมีความกดดัน เมื่อเห็นผลงานเพื่อนในหลายๆ ทีม รู้สึกว่าเพื่อนๆ ตั้งใจทำงานออกมาอย่างดี ตนเองก็ชื่นชอบในผลงานของเพื่อน แต่พอประกาศว่า ทีม “SNJ ตัวแม่มากู้โลก” เป็นผู้ชนะเลิศประเภททีม ก็รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติที่ได้รับทางรางวัลนี้

 

โลกเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยกระป๋องจิ๋ว 1 ใบ

สำหรับแรงบันดาลใจที่ทำให้เข้าร่วมโครงการ น้องจีจี้ กล่าวว่า สมาชิกอยากที่จะสื่อสารกับทุกคนว่า ตอนนี้โลกของเราได้มีการเปลี่ยนแปลงไป จากโลกสีเขียวกลับกลายเป็นโลกที่ร้อนระอุ และเต็มไปด้วยฝุ่นหนา แต่เราจะเป็นหนึ่งแรงพลังที่จะทำให้โลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายๆ เพียงกระป๋องจิ๋ว 1 ใบ สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างไม่รู้จบ

 

อีกทั้ง ยังสามารถนำกระป๋องจิ๋วนี้ไปบริจาคให้กับผู้พิการทางขาเพื่อเป็นขาเทียมได้ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงง่าย ๆ ที่ไม่ใช่แค่การรับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่มันยังสามารถทำอะไรได้หลากหลายมากเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

ส่องมุมมอง \'คนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม\' โลกเปลี่ยนได้ ด้วยกระป๋อง 1 ใบ

 

SNJ ตัวแม่มากู้โลก

“SNJ ตัวแม่มากู้โลก” ภายใต้คอนเซปต์ กระป๋องอะลูมิเนียมเพียงแค่ 1 หนึ่งใบ มีประโยชน์อะไรต่อมนุษย์และโลก รวมไปถึงกระป๋องจิ๋วนี้จะช่วยเหลือธรรมชาติอย่างไร อีกทั้ง นอกจากจะช่วยเหลือคนปกติแล้ว ยังสามารถนำเงินที่ได้จากกระป๋องอะลูมิเนียมไปด้วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือกลุ่มไหนได้บ้าง

 

ซึ่งกระบวนการทำงาน จะแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน คือ คนหาข้อมูล คนตัดต่อคลิป และลงคลิปเสียง ซึ่งเป็นการทำงานกันเป็นทีมเพื่อให้ผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสื่อสารถึงข้อมูลความรู้เพื่อเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด

 

อีกทั้ง ในฐานะของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแค่อะลูมิเนียมรีไซเคิลจากโครงการที่จัดขึ้น น้องๆ ทั้งสามคนยังฝากเยาวชนทุกคนให้สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ และอากาศ

 

น้ำ สิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต

ซึ่งน้องจีจี้ กล่าวว่า “น้ำ” เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอีกหนึ่งอย่าง จากประสบการณ์ที่พบเจอมาคือ น้ำในบางพื้นที่มีความสกปรก และมีความขุ่นจนใช้อาบไม่ได้ หรือแม่น้ำในลำคลองเน่าเสียจนส่งผลกระทบต่อทุกคน

 

"เกิดเป็นคำถามในใจว่า โลกเรากำลังเจอกับอะไรอยู่ ทำไมถึงเป็นน้ำเสียแบบนี้ จนใช้ดำรงชีวิตไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตนเลยอยากสื่อสารเพื่อให้คนเข้าใจว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก อยากให้ทุกคนหันมาสนใจ และดูแลความสะอาดเพื่อการดำรงชีวิต"

 

น้องนินิว กล่าวว่า อย่างที่ทุกคนทราบว่าไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาในเรื่องของฝุ่น ทางภาคเหนือ และอีสานก็ประสบปัญหานี้ไม่แพ้กัน แต่การใช้ชีวิตที่ดีของทุกคนควรตื่นขึ้นมาแล้วได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของทุกคน อยากให้คนหันมาตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน

 

ช่วยกันคนละนิด เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น

ในด้าน น้องสกาย กล่าวเสริมว่า อยากให้ทุกๆ คน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำทุกด้านในมันไปด้วยกัน เพราะคนเรามีแค่หนึ่งสมองกับสองมือ ถ้าทำเพียงคนเดียวก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสักที แต่ถ้าเราช่วยกันคนนิดคนละหน่อย ทำเรื่อยๆ โลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากย่ำแย่ก็อาจจะดีขึ้นได้ในอนาคต โลกก็จะน่าอยู่ และอยู่คู่กับเรา ทั้งมนุษย์ ธรรมชาติ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่สามารถพูดได้

 

นอกจากนี้ ทีม “SNJ ตัวแม่มากู้โลก” ยังฝากข้อความถึงน้องๆ เยาวชนคนอื่นๆ ให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไว้ว่า อย่าคิดว่าเราเป็นแค่เยาวชน เราไม่สามารถทำได้ หรือไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นออกมา แต่เพราะการกระทำไม่ใช่แค่โครงการของ University Can Do แต่ You ก็ทำได้ ทุกคนสามารถทำได้ แค่เริ่มจากตัวเราก่อน หลังจากนั้นถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือโลกของเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

 

ยกระดับสื่อสร้างสรรค์ ด้วยเทคโนโลยี AI

นางสาวจันทกานต์ ทองถิ่น หรือน้องมิ้ว อายุ 18 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ชนะเลิศในโครงการ University Can Do: To be a Creator ประเภทเดี่ยว เปิดเผยว่า สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เข้าร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคอนเทนต์สายสิ่งแวดล้อมในโครงการนี้ เป็นเพราะตนเองเป็นโรคภูมิแพ้ และมักประสบพบเจอกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่นหรือควัน จึงอยากให้ทุกคนในสังคมตระหนัก และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม

 

ส่องมุมมอง \'คนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม\' โลกเปลี่ยนได้ ด้วยกระป๋อง 1 ใบ

 

นอกจากนี้ น้องมิ้วยังได้จัดทำคลิปวิดีโอสั้นในโจทย์ “กระป๋องอะลูมิเนียม รีไซเคิลได้ทั้งใบ ไม่ใช่แค่ห่วง” ด้วยการแต่งเนื้อร้องขึ้นมาเอง และใช้ทำนองดนตรีที่สร้างด้วย AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาเรียบเรียงเป็นเพลงที่ติดหู ด้วยเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ซึ่งสื่อความหมายได้ว่า “ไม่ว่าคุณจะพกกระป๋องอะลูมิเนียมนี้ไปเที่ยวที่ไหนในประเทศไทย คุณก็สามารถนำกระป๋องนี้ไป loop เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ”

 

นางสาวจันทกานต์ กล่าวต่อว่า Creator ในปัจจุบัน นับเป็นสื่อ และกระบอกเสียงที่สำคัญในการสร้างพลังให้กับสังคมได้ และหากจะขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมในด้านในด้านหนึ่ง คงเลือกขับเคลื่อนปัญหาด้าน Fast Fasion เนื่องจากตนเองนั้นชอบชอปปิงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสนใจที่จะพลิกโฉมปัญหาเหล่านี้ ให้กลายเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากขึ้น

 

ปลุกปั้นเยาวชน กระบอกเสียงเพื่อสิ่งแวดล้อม

TBC ผู้นำด้านธุรกิจการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับ Aluminium Loop รวมทีมเยาวชนคนรุ่นใหม่ จัดกิจกรรมการประกวดหาคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่เจาะกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ University Can Do : To Be a Creator มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพื่อปลุกปั้นเยาวชนที่มีความสามารถ สร้างคอนเทนต์ออนไลน์เพื่อกระตุ้นการรับรู้ และความใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อมไปสู่กลุ่มคนอื่นๆ เป็นพลังในการสื่อสารเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนผ่านคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียม

 

นางกิติยา แสนทวีสุข ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเรา ตามนโยบาย TBC Sustainability Goals 2030 หรือ TBC SG 2030 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และส่งเสริมยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

 

ส่องมุมมอง \'คนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม\' โลกเปลี่ยนได้ ด้วยกระป๋อง 1 ใบ

 

"โรงงานบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มของเราเลือกใช้วัสดุอะลูมิเนียมในการผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง เพราะเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ โดยไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมได้อย่างครบวงจรภายในประเทศ (Aluminium Closed-Loop Recycling) เรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของอะลูมิเนียมรีไซเคิลในการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมใบใหม่ (Recycled Content) จาก 70% เป็น 85% ภายในปี ค.ศ.2030 ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด”

 

นอกจากนี้ ยังเผยถึงโครงการนี้ว่า “ทางบริษัทของเราให้ความสำคัญในเรื่องของพลังเยาวชน เพราะคนเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศในอนาคตได้ เราต้องการใช้ช่องทางออนไลน์ที่เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะเยาวชนในการสร้างการรับรู้ของคนในวัยเดียวกัน เปลี่ยนภาพจำของการรีไซเคิลกระป๋อง ที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าสามารถบริจาคหรือรีไซเคิลได้แค่ห่วง แต่ในความเป็นจริง กระป๋องอะลูมิเนียมเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วนแบบ 100% อย่างไม่รู้จบ”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์