สังเกตก่อนทิ้ง 7 ประเภท ‘พลาสติก’ ที่ ‘รีไซเคิล’ ได้
เปิดสัญลักษณ์ “พลาสติก” 7 ชนิด เป็นวัสดุถูกนำมาใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ที่สามารถนำไป “รีไซเคิล” ได้ โดยไม่ทิ้งไว้ให้เป็นขยะ
“พลาสติก” เป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายประเภท แต่ไม่ใช่ทุกประเภทที่จะสามารถนำไป “รีไซเคิล” ได้ เพื่อให้รู้ว่าพลาสติกแบบใดสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ จึงมีการทำสัญลักษณ์ รูปสามเหลี่ยมที่มีลูกศรสามตัววิ่งตามกันบนภาชนะพลาสติก ซึ่งพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้มีด้วยกัน 7 ประเภท คือ
โพลิเอทธิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate) หรือ PET
PET ทนแรงกระแทก ไม่เปราะแตกง่าย สามารถทำให้ใสมาก มองเห็นสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในจึงนิยมใช้บรรจุน้ำดื่ม น้ำมันพืช และเครื่องสำอางต่าง ๆ นอกจากนี้ มีคุณสมบัติป้องกันการแพร่ผ่านของก๊าซได้เป็นอย่างดี จึงใช้เป็นภาชนะบรรจุน้ำอัดลม
รีไซเคิลเป็น เส้นใยสำหรับทำเสื้อกันหนาว พรม และเส้นใยสังเคราะห์สำหรับยัดหมอน หรือเสื้อสำหรับเล่นสกี
โพลิเอทธิลีนความหนาแน่นสูง (High density polyethylene) หรือ HDPE
HDPE มีโครงสร้างโมเลกุลเป็นสายตรง ค่อนข้างแข็งแต่ยืดได้มาก ทนทาน ไม่แตกง่าย สามารถขึ้นรูปได้ง่าย
ส่วนใหญ่ทำให้มีสีสันสวยงาม ยกเว้นขวดที่ใช้บรรจุน้ำดื่มที่จะเป็นสีใส แต่ขุ่นกว่าขวด PET มีราคาถูกและทนสารเคมีจึงนิยมใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำยาทำความสะอาด แชมพูสระผม แป้งเด็ก ถุงหูหิ้ว รวมถึงขวดนมเด็ก เนื่องจากมีสมบัติป้องกันการแพร่ผ่านของความชื้นได้ดี
รีไซเคิลเป็น ขวดต่างๆ เช่น ขวดใส่น้ำยาซักผ้า แท่งไม้เทียมเพื่อใช้ทำรั้วหรือม้านั่งในสวน
โพลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride) หรือ PVC
PVC เป็นพลาสติกที่มีสมบัติหลากหลาย โดยถ้าเป็นพลาสติกแข็งจะใช้ทำท่อน้ำ แต่ถ้าใส่สารพลาสติกไซเซอร์ PVC ก็จะนุ่มลง สามารถนำมาผลิตสายยางใส แผ่นฟิล์มสำหรับห่ออาหาร ม่านในห้องอาบน้ำ แผ่นกระเบื้องยาง แผ่นพลาสติกปูโต๊ะ ขวดใส่แชมพูสระผม ได้
นอกจากนี้ PVC ยังสามารถนำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์อื่นได้อีกมาก เช่น ประตู หน้าต่าง วงกบ และหนังเทียม
รีไซเคิลเป็น ท่อประปาสำหรับการเกษตร กรวยจราจร และเฟอร์นิเจอร์ หรือม้านั่งพลาสติก
โพลิเอทธิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low density polyethylene) หรือ LDPE
LDPE มีลักษณะตรงข้ามกับ HDPE โดย LDPE เป็นพลาสติกที่นิ่ม สามารถยืดตัวได้มาก มีความใส มีโครงสร้างที่เรียบง่ายที่สุดในบรรดาพลาสติกทั้งหมด ทำให้ผลิตได้ง่ายและราคาถูก นิยมนำมาทำเป็นฟิล์มสำหรับห่ออาหาร ถุงใส่ขนมปัง และถุงเย็นสำหรับบรรจุอาหาร
รีไซเคิลเป็น ถุงดำสำหรับใส่ขยะ ถุงหูหิ้ว หรือถังขยะ
โพลิโพรพิลีน (Polypropylen) หรือ PP
PP เป็นพลาสติกที่ถูกนำไปใช้ในการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 เนื่องจากเนื้อพลาสติกมีความแข็งแรง ทนต่อแรงกระแทกได้ดี ทนต่อสารเคมี ความร้อน และน้ำมัน ทำให้มีสีสันสวยงามได้ ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำภาชนะบรรจุอาหาร เช่น กล่อง ชาม จาน ถัง ตะกร้า หรือกระบอกทนความเย็น รวมไปถึงผ้าอ้อมแบบใช้แล้วทิ้ง
นอกจากนี้ PP ยังมีคุณสมบัติทนทานต่อความล้าตัวได้ดีมาก จึงถูกไปนำใช้เป็นส่วนประกอบของบานพับ ที่โค้งงอได้ตั้งแต่ 1-180 องศา
รีไซเคิลเป็น กล่องแบตเตอรี่รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น กันชน และกรวยสำหรับน้ำมัน
โพลิสไตรีน (Polystyrene) หรือ PS
PS เป็นพลาสติกที่แข็ง ใส แต่เปราะและแตกง่าย ราคาถูก นิยมนำมาทำเป็นภาชนะบรรจุของใช้ เช่น เทปเพลง สำลี เนื่องจาก PS เปราะและแตกง่าย จึงไม่นิยมนำพลาสติกประเภทนี้มาบรรจุน้ำดื่มหรือแชมพูสระผม เนื่องจากอาจลื่นตกแตกได้
นอกจากนี้ยังการนำพลาสติกประเภทนี้มาใช้ทำภาชนะหรือถาดโฟมสำหรับบรรจุอาหาร โฟมจะมีน้ำหนักที่เบามากเนื่องจากประกอบด้วย PS ประมาณ 2-5% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นอากาศที่แทรกอยู่ในช่องว่าง
PS ถือว่าเป็นพลาสติกที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะมันไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ เนื่องด้วย PS มีความถ่วงจำเพาะต่ำ จึงทำให้มันสามารถโดนลมพัดและลอยน้ำได้ และสัตว์ต่าง ๆ อาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารจนกลืนกินเข้าไป ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ
รีไซเคิลเป็น ไม้แขวนเสื้อ ไม้บรรทัด หรือ ของใช้อื่น ๆ
พลาสติกอื่น ๆ หรือไม่ทราบชนิด
สำหรับพลาสติกในกลุ่มที่ 7 เป็นพลาสติกชนิดอื่นที่ไม่ใช่ 6 ชนิดแรก นอกจะมีตัวเลขระบุแล้ว ควรใส่สัญลักษณ์ภาษาอังกฤษระบุชนิดของพลาสติกนั้น ๆ ไว้ เพื่อสะดวกในการแยกและนำกลับมารีไซเคิล เช่น โพลิคาร์บอเนต (Polycarbonate, PC) ที่นำมาใช้ในการสร้างเลนส์สำหรับแว่นกันแดด แว่นตากีฬา และแว่นตานิรภัย โทรศัพท์มือถือและแผ่นซีดี
รีไซเคิลเป็น ท่อ น็อต ล้อ พาเลท เฟอร์นิเจอร์ใช้กลางแจ้ง
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, European Environment Agency, Plastics For Change, Plastic Oceans
กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี