แคมเปญรักษ์โลก ‘Buy Nothing New’ งานเข้า ถูกมอง ‘ตัวขวาง’ เศรษฐกิจชาติเจริญ?
เปิด 2 มุมมอง “รักษ์โลก” VS “เศรษฐกิจ” เมื่อแคมเปญ "Buy Nothing New" หรือ “ไม่ซื้ออะไรใหม่” จุดกระแสดราม่าในสังคมไอร์แลนด์เหนือ ฝั่งหนึ่งมองว่า โลกถึงคราวเปลี่ยนเพื่อรักษาธรรมชาติ แต่อีกฝั่งมอง จะกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เมื่อช่วงต้นปี 2567 กลุ่มสภาท้องถิ่น Ards & North Down Borough Council ของไอร์แลนด์เหนือได้จัดแคมเปญรักโลกขึ้น ในชื่อว่า "Buy Nothing New" หรือ “ไม่ซื้ออะไรใหม่” เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาทบทวนการซื้ออีกครั้งก่อนจะควักเงินจ่ายออกไป และแทนที่จะซื้อสินค้าใหม่ ก็ควรนำของเก่ามาซ่อมแซม ใช้ซ้ำ หรือยืมคนใกล้ตัวแทน เพื่อลด “พฤติกรรมบริโภคนิยม” ที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมขณะนี้
อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ดังกล่าวถูกกระแสตีกลับ เมื่อผู้ค้าปลีกจำนวนมากประท้วงและมองว่าเป็นแคมเปญที่ “ไร้สาระ” เหมือนการชวนให้ผู้คนลดการจับจ่ายสินค้า
ยิ่งผู้ประกอบการเผชิญความลำบากนับตั้งแต่โควิด-19 จนถึงเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน การเชิญชวนลดบริโภคเช่นนี้อาจทำให้ภาคธุรกิจไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรหรือไม่ จนในที่สุด สภาท้องถิ่นที่รณรงค์เรื่องนี้ก็ยอมถอย และตัดสินใจลบข้อความแคมเปญ "Buy Nothing New" ออก
จากปรากฏการณ์เช่นนี้ หากไปทางบริโภคนิยมสุดโต่งเกินไป ก็อาจทำให้โลกไม่เหลือทรัพยากรให้กับคนรุ่นหลัง ในขณะเดียวกัน ถ้าผู้คนจำนวนมากไม่ซื้อสินค้าใหม่ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยากที่จะเดินหน้าต่อ
ดังนั้น การหา “จุดสมดุล” ระหว่าง “สิ่งแวดล้อม” กับ “เศรษฐกิจ” จึงสำคัญ โดยสำนักข่าว BBC ได้รายงานมุมมองของ 3 คนที่เกี่ยวกับแคมเปญ "Buy Nothing New" ไว้ดังนี้
1. แกนนำแคมเปญสิ่งแวดล้อม
คริส กัวลีย์ (Chris Gourley) แกนนำองค์กรสิ่งแวดล้อม Keep Northern Ireland Beautiful กล่าวว่า อันที่จริงแล้ว ผมสนับสนุนเหล่าธุรกิจรายย่อย แต่ปัญหาของโลกคือ “การบริโภคที่มากเกินไป” เราต้องเปลี่ยนจากวงจรเดิม “ผลิต ใช้ และทำลาย” มาเป็น “ผลิต ใช้ ผลิตซ้ำ และซ่อมแซม” แทน
“พวกเราเพียงต้องการให้ผู้คนหยุดการบริโภคชั่วคราว และทบทวนดูว่าพวกเขาบริโภคอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้บริโภค แต่ควรเป็นการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” กัวลีย์กล่าว
2. ผู้ค้าปลีกไอร์แลนด์เหนือ
กลิน โรเบิรตส์ (Glyn Roberts) ผู้บริหารของ Retail NI องค์การเหล่าธุรกิจไอร์แลนด์เหนือ มองว่า สมาชิกในองค์การได้ดำเนินนโยบายเชิงรุกด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ตั้งแต่การคิดเงินลูกค้าที่รับถุง และเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคให้สามารถนำภาชนะที่มีอยู่ มาใส่น้ำและสิ่งของต่าง ๆ ได้ เพื่อลดการผลิตภาชนะซ้ำ
โรเบิรตส์เห็นว่า “การลดบริโภคมีแนวทางในการเชิญชวน แต่ไม่ใช่รณรงค์ให้ลูกค้าไม่ใช้จ่ายในสินค้า นี่ไม่ได้หมายความว่าผมต่อต้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เพราะแต่ก่อนก็เคยสนับสนุน Green New Deal mark II แผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์”
3. นักธุรกิจ Upcycle
มารี แนนคาร์โรว (Marie Nancarrow) เจ้าของร้าน Titanic Denim ที่นำของเหลือใช้ มาตัดแต่งและซ่อมแซมจนกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง (Upcycle) โดยการนำผ้าเดนิมที่คล้ายยีนส์ เศษผ้าเหลือใช้ตามร้านบริจาคมาเปลี่ยนโฉมใหม่
ยกตัวอย่าง เศษกางเกงยีนส์ที่ขาด เธอจะไม่ทิ้งเหมือนคนทั่วไป แต่เลือกนำมาตัดเย็บ ปะชุนใหม่ ซึ่งนอกจากช่วยสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย
“ฉันทำให้เศษผ้าเหล่านี้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง แทนที่จะถูกทิ้งฝังกลบในลานซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก” แนนคาร์โรวเล่า
ขณะที่ อนา เดสมอนด์ (Ana Desmond) นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์ Ulster University Economic Policy Centre ให้ความเห็นว่า มนุษย์ควรหันไปสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” มากขึ้น ด้วยการลดบริโภค ใช้ผลิตภัณฑ์ซ้ำ และรีไซเคิล ซึ่งแน่นอนว่า ในโลกที่เต็มไปด้วยอินฟลูเอนเซอร์และโฆษณาสินค้ายั่วยวนใจเต็มไปหมด การจะเปลี่ยนสังคมให้บริโภคน้อยลงนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างยาก
“การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนนั้นใช้เวลา แต่ก็จำเป็นต้องทำ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ” เดสมอนด์ให้ข้อคิด
เมื่อย้อนดูปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ผ่านมา จะเห็นอุณหภูมิโลกที่ทำสถิติใหม่สูงขึ้นทุกปี พายุเกิดขึ้นถี่กว่าแต่ก่อน อากาศแปรปรวน และน้ำท่วมที่รุนแรงมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า มนุษย์และเหล่าภาคธุรกิจควรหันมาตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะแม้ว่าการปรับโมเดลธุรกิจให้ยั่งยืน จะมาพร้อมต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยงภัยพิบัติ และหายนะทางมนุษยชาติ
อ้างอิง: bbc, bbc(2)