'RECO' เปลี่ยนวงการแฟชั่น บ่มเพาะดีไซเนอร์ สร้างแบรนด์รักษ์โลก
RECO COLLECTIVE ปั้นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ สร้างแบรนด์รักษ์โลก บ่มเพาะตั้งแต่การให้ความรู้วัสดุ กระบวนการผลิต และวางจำหน่าย เปลี่ยนวงการแฟชั่น จากสร้างขยะ สู่การรีไซเคิล วัสดุเหลือใช้ให้เป็นสินค้า Ready-to-Wear
Key Point :
- แม้ว่าแบรนด์แฟชั่นใหญ่ๆ หลายแบรนด์ จะหันมาให้ความสำคัญ กับการนำวัสดุรีไซเคิลมาผลิตเป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า หรือสิ่งของต่างๆ
- แต่ยังมีข้อจำกัด ของดีไซเนอร์ หรือผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีความตั้งใจ และไอเดีย แต่เข้าไม่ถึงวัสดุรีไซเคิล เช่น ผ้าทอ ที่ต้องซื้อต่อครั้งในปริมาณที่มาก
- โครงการ RECO COLLECTIVE โดย อินโดรามา เวนเจอร์ส จึงเกิดขึ้น ในการปั้นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ สนับสนุนไอเดีย ความรู้ วัสดุ การผลิต ไปจนการจัดจำหน่าย เพื่อสร้างแบรนด์รักษ์โลกให้เกิดขึ้นได้จริง
“อุตสาหกรรมแฟชั่น” ในปัจจุบัน ถูกมองว่าสร้างขยะให้กับโลกมหาศาล ทำให้หลากหลายแบรนด์เริ่มหันมาใส่ใจในการนำวัสดุรีไซเคิลมาผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีไอเดียแต่เข้าไม่ถึงวัตถุดิบ เช่น ผ้าทอที่ต้องซื้อในจำนวนมาก หรือไม่มีช่องทางในการจำหน่าย การส่งเสริมอีโคซิสเต็ม จึงเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
เป็นที่มาของโครงการ RECO COLLECTIVE โดย บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งถ่ายทอดแนวคิดการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปยังนักออกแบบรุ่นใหม่ ต่อยอดจากโครงการ RECO Young Designer Competition ที่ก่อตั้งในปี 2011 ด้วยความตั้งใจที่ต้องการให้คนทั่วไปเกิดความคุ้นเคยกับวัสดุรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น ได้เห็นว่านำไปใช้งานเป็นอะไรได้บ้าง ผ่านการประกวดไอเดียออกแบบชุดจากดีไซเนอร์รุ่นใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แฟชั่นมือ 2 อนาคตธุรกิจใหม่ ไลฟ์สไตล์ความยั่งยืนแบบฉบับคน "รักษ์โลก"
- ‘เอ-เมส มัลติสโตร์’ ชู ‘แฟชั่นรักษ์โลก’ คืนชีวิตผ้าสู่ ‘ผ้าย้อมคราม’
- ‘Fast Fashion’ ก็รักษ์โลกได้ H&M X HKRITA รีไซเคิลเศษหนังลด ‘ขยะแฟชั่น’
RECO เปลี่ยนอุตสาหกรรม
นวีนสุดา กระบวนรัตน์ Global Head of CSR บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” เกี่ยวกับ RECO ซึ่งครบรอบ 10 ปี ว่า ความพิเศษของโครงการในปีนี้ คือ เราเปลี่ยนจากสร้างการรับรู้ มาสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม เพราะอย่างที่ทราบว่าทุกคนพูดถึงวงการแฟชั่นว่าทำให้เกิดขยะ ในฐานะที่เราอยู่ในธุรกิจรีไซเคิล จะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม
เป็นที่มาของโครงการในปีนี้ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น RECO COLLECTIVE มีการร่วมมือกันในหลายๆ ฝ่าย เพราะโฟกัสในเรื่องของการสร้างแพลตฟอร์ม เกิดการเชื่อมโยงตลอด Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำอย่างอินโดรามาที่เป็นคนผลิตวัตถุดิบ ไปจนถึงโรงทอ ลูกค้าที่รับผ้าจากโรงทอไปผลิตเป็นเสื้อผ้า ผู้จัดจำหน่าย และลูกค้า ทำอย่างไรให้ขับเคลื่อน และทุกคนมีส่วนร่วม อิมแพคจะไม่เกิดหากเราทำคนเดียว และจบที่งานโชว์ ไม่ได้ต่อยอด ไม่ได้เข้าถึงผู้บริโภคจริงๆ
สร้างแบรนด์รักษ์โลก
สำหรับ RECO COLLECTIVE จะไม่ใช่การประกวดอีกต่อไป แต่เป็นการรวมตัวกันของเหล่าดีไซเนอร์ 7 ทีม ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกับอินโดรามา เวนเจอร์ส และพันธมิตรที่คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นหมุนเวียน (Circular Fashion) ของประเทศไทย ในการสร้างแบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกภายใต้คอนเซปต์ “Innovensity Fashion” ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำนวัตกรรมสมัยใหม่ มาผสานเข้ากับการสร้างแบรนด์แฟชั่นอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งหัวใจสำคัญของ RECO ที่มุ่งเน้นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น
ในครั้งนี้ บริษัท ไทย แทฟฟิต้า จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอินโดรามา เวนเจอร์ส ในโครงการ RECO ได้ร่วมให้การสนับสนุนเส้นด้ายที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิลแก่บรรดาเหล่าดีไซเนอร์ เพื่อใช้ในการผลิตคอลเล็กชันพิเศษ และสินค้า Ready-to-Wear โดยจะวางจำหน่ายผ่านเครือข่ายพันธมิตรของ RECO ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงสินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลได้สะดวก ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
บ่มเพาะดีไซเนอร์
นวีนสุดา กล่าวต่อไปว่า โครงการในปีนี้มุ่งเน้นสร้างอาชีพ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของวงการแฟชั่น เพราะการให้ความรู้ จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต กิจกรรมสำคัญใน RECO COLLECTIVE อย่างหนึ่ง คือ Incubation Lab โดยมี คุณอุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี มาช่วยออกแบบหลักสูตรตั้งแต่วัสดุ การสร้างแบรนด์ การสร้างตัวตน กลยุทธ์การตลาด และ Business Model
รวมถึง เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านในอุตสาหกรรมมาแชร์ความรู้ และเมื่อจบ Incubation Lab ดีไซเนอร์ต้องมีแผนในการทำแบรนด์ในใจ และพยายามคอนเนคปลายทางทั้งการตั้งราคา เพื่อดึงดูดคนซื้อ สมเหตุสมผล สร้างผู้ประกอบการด้านแฟชั่นโดยคำนึงถึงวัสดุรีไซเคิล
“เวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า คนเริ่มเข้าใจเรื่องของการออกแบบเสื้อผ้าโดยใช้วัสดุรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น จากปีแรกๆ เวลาเราบอกว่ารีไซเคิลทำเสื้อผ้า คนจะคิดถึงงานประดิษฐ์มากกว่า ตัดเป็นชิ้นมาเย็บ แต่ในช่วงหลังเริ่มเข้าใจ มีการใช้เทคนิค นวัตกรรมเข้ามาจับ เทรนด์ตอนนี้หลายแบรนด์ก็พยายามจะใช้วัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์มากขึ้น หากช่วยกันสุดท้ายอยากให้คนมองว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวัน”
สนับสนุนตลอดเส้นทางผลิต
ทั้งนี้ การสนับสนุนดีไซเนอร์ในครั้งนี้ โครงการ RECO COLLECTIVE ได้มีการสนับสนุนตั้งแต่ “วัสดุ” โดยเตรียมวัสดุหลักในการออกแบบ ซึ่งทำมาจากเส้นใย PET รีไซเคิล และผ้าที่เกิดจากการหมุนเวียน 100% เพื่อผลิตสินค้า Sample Lot จำนวนขั้นต่ำ 50 ชิ้น
“สนับสนุนเงินทุนในการผลิต” ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสูงสุด 80,000 บาทต่อทีม เพื่อใช้ในการผลิต ขนส่ง และทำแบรนด์สินค้า ไปจนถึง “การสนับสนุนด้านการตลาด” โดยมีสถานที่จัดแสดงสินค้า วางจำหน่าย ผ่านเครือข่ายพันธมิตรของ RECO เพื่อให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงสินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลได้สะดวก เป็นการช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
“ดีไซเนอร์ทั่วไปหากไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ๆ เขาก็ไม่รู้จะไปซื้อวัสดุที่ไหน เพราะไม่ได้มีกำลังในการซื้อล็อตใหญ่ จากที่สัมผัสน้องๆ ดีไซเนอร์ในโครงการ พบว่า เขามี Passion แต่แค่ไม่รู้ว่าจะเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบได้อย่างไร เมื่อโครงการทำงานร่วมกับ ไทย แทฟฟิต้า ก็สามารถมีช่องทางในการเข้าถึงผ้าทอ รวมถึงช่องทางอื่นๆ เป็นการสร้างเครือข่าย และต่อยอด อยากให้สุดท้ายแล้วคนรับรู้ว่ามีโครงการนี้เกิดขึ้น และเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีพาร์ตเนอร์เยอะ ดีไซเนอร์ก็จะมีตัวเลือกเยอะ สามารถผลิตสิ่งที่ยั่งยืนได้เองในอนาคตต่อไป”
ท้ายนี้ นวีนสุดา กล่าวถึง การต่อยอดโครงการในปีถัดๆ ไปโดยมองถึงการขยายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพื่อกระจายอิมแพคออกไปให้ได้กว้างยิ่งขึ้น แฟชั่นเป็นภาษาสากลที่ทุกคนเข้าใจง่าย โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเข้าใจ และจับต้องได้ ช่วยในเรื่องของการสร้างความคุ้นเคยและสร้างความรู้สึกที่อยากจะใช้แบรนด์นั้นๆ และท้ายที่สุด มันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์