ส่องผลกระทบทั้งบวกและลบ 'หลังม่านแฟชั่นวีค'
เม็ดเงินมหาศาลสะพัดงานแฟชั่นวีค (Fashion Week) หลักหมื่นล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่าแสนคน แต่โลกก็ยังต้องการคำอธิบายจากบิ๊กอีเวนต์นี้ ในเรื่องผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
ช่วง ม.ค.-ก.พ. ของทุกปี เมืองสำคัญต่าง ๆ ทั้งปารีส มิลาน และนิวยอร์ก กำลังเริ่มต้นสัปดาห์แฟชั่นของตน เป็นเวทีสำคัญสำหรับการเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ ดึงดูดนักออกแบบ นางแบบ และแฟชั่นนิสต้าทั่วโลกเข้าร่วม ไม่เพียงแต่เป็นการนำเสนอเทรนด์ล่าสุด แต่แฟชั่นวีคยังสร้างความคึกคักและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเมืองจากการค้า ท่องเที่ยว บริการ และสื่อ
แฟชั่นวีคมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นของเมืองเจ้าภาพ ตัวอย่างเช่นงาน New York Fashion Week (NYFW) รายงานจาก Zoe Report พบว่าแฟชั่นวีคประจำปี สามารถสร้างรายได้เข้าสู่เมืองถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสูงกว่าการจัดการแข่งขันเทนนิส U.S. Open หรือ Super Bowlโดย NYFW สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้กว่า 232,000 คน สร้างการจ้างงานราว 180,000 ตำแหน่ง ในสาขาอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่ออแกไนเซอร์ ช่างแต่งหน้า ไปจนถึงคนจัดเลี้ยงและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
ผลในเชิงบวกจาก NYFW ไม่ได้มีเฉพาะในวงการแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ของเมือง เกิดการลงทุนและกระตุ้นการบริโภคในท้องถิ่น โรงแรมมักถูกจองจนเต็ม และธุรกิจในท้องถิ่น เช่น ร้านอาหาร ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการจัดงาน
นอกจากนี้ การปรากฏตัวของเหล่า “อินฟลูเอนเซอร์” ในงานแฟชั่นวีคแต่ละครั้ง สร้างมูลค่าเพิ่มและนำมาซึ่งยอดซื้อจากเหล่าแฟนคลับได้มหาศาล ตัวอย่างจากงานล่าสุด “Paris Haute Couture Week 2024” นักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้ Han So-hee ซึ่งโด่งดังจากซีรีย์เรื่อง “Gyeongseong Creature” ได้ปรากฏตัวที่โชว์ของ Dior ในฐานะ House ambassador ของแบรนด์
รายงานจาก Lefty เว็บไซต์จัดเก็บข้อมูลด้านแฟชั่น ได้ทำการคำนวณมูลค่าทางสื่อ (Earned Media Value: EMV) จากโพสต์ที่เธอร่วมชมโชว์คอลเล็กชันล่าสุดบนอินสตาแกรม ตีมูลค่าได้สูงถึง 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 220 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์และผู้ติดตามเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อตลาดสินค้าแฟชั่นทั่วโลก ดันกระแสบริโภคนิยมให้เติบโตต่อเนื่องสวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะความตึงเครียดระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้แฟชั่นวีคจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลแต่ก็สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมมากเช่นเดียวกัน
นักเคลื่อนไหวหลายคนชี้ให้เห็นว่าการแสดงโชว์แต่ละครั้งก่อให้เกิดขยะปริมาณมหาศาล ใช้พลังงานสูง และปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจากการขนส่งและการเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน รวมไปถึงส่งเสริมวัฒนธรรมฟาสต์แฟชั่นและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน โดยปลูกฝังเทรนด์ที่ฉาบฉวยและส่งสัญญาณว่าเสื้อผ้าของฤดูกาลที่แล้วล้าสมัย
ปรัชญานี้ไหลลงมาสู่แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น เร่งผลิตเสื้อผ้าใหม่ออกมาวางขายอย่างรวดเร็ว เพื่อทันให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ใส่เสื้อผ้าที่มีอินสไปซ์มาจากรันเวย์หลังจบโชว์ รวม ๆ แล้วแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นในแต่ละปีผลิตเสื้อผ้าใหม่ราว 150 พันล้านชิ้นต่อปี
การสร้างอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องคิดใหม่ เพื่อผลิตผลงานและโชว์ที่สอดคล้องกับกระแสความยั่งยืน เช่น ลดจำนวนวันจัดงาน ลดจำนวนแขก หรือ ลดความอลังการของฉากประกอบโชว์
สำหรับประเทศไทย ด้วยทรัพยากรที่จำกัดอาจต้องกลับมาทบทวนการจัดแฟชั่นวีคของเรา จะเลือกเดินไปสุดทางปั่นกระแสบริโภคนิยมเพื่อเป็นหนึ่งในเมืองแฟชั่นโลก หรือเลือกที่จะชูเรื่องความยั่งยืนเป็นแกน พร้อมพัฒนาสู่งานต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นในอาเซียนได้เดินตาม