อัปเดต 4 ฉากทัศน์ 'อนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย'
มองอนาคตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ผ่าน 4 ฉากทัศน์สำคัญ ที่ชี้เค้าลางแห่งความเป็นไปได้ และโอกาสที่จะเกิดขึ้น
ความไม่แน่นอนของบริบทโลกล้วนมีผลกระทบกับทุกภาคส่วนทั้งบวก และลบ การรับรู้คำเตือนล่วงหน้า และเตรียมความพร้อมรับมือจึงสำคัญ การวิเคราะห์ภาพอนาคต (Foresight) เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ภาครัฐ และธุรกิจ ได้มีโอกาสขบคิดถึงกระแสการเปลี่ยนแปลง มองความเสี่ยง และข้อจำกัดอย่างรอบด้าน นำไปสู่การออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์
จากการศึกษา และติดตามแผนภาพอนาคตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอีก 10 ปีข้างหน้าของ CEA ผ่าน 4 ฉากทัศน์สำคัญ เริ่มเห็นเค้าลางแห่งความเป็นไปได้ และโอกาสที่จะเกิดขึ้น
- ฉากทัศน์ที่ 1 - มูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรม (Cultural Value Added)
การอนุรักษ์ และฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญของการเพิ่มมูลค่าผลผลิตสร้างสรรค์ ผ่านการตีความใหม่เพื่อการอนุรักษ์ และสืบทอดไม่ให้สูญหาย ยกตัวอย่างในวงการแฟชั่น แบรนด์ชั้นนำอย่าง Christian Dior ได้ร่วมมือกับช่างฝีมือท้องถิ่นจากเมืองอารยธรรมต่างๆ เช่น อินเดีย และโมร็อกโก ร่วมกันสร้างคอลเลกชันที่สะท้อนถึงความงดงาม และคุณค่าทางวัฒนธรรม
งานดีไซน์ของพวกเขาไม่เพียงแต่ช่วยรักษาเทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิมไว้ แต่ยังเสริมสร้างความเข้าใจ และการหลอมรวมระหว่างวัฒนธรรม แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของทั้งแบรนด์ และประเทศต้นทางงานฝีมือ
- ฉากทัศน์ที่ 2 - การสร้างจุดสมดุลใหม่เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Rebalanced)
ความยั่งยืนกลายเป็นหัวใจสำคัญของทุกอุตสาหกรรมไม่เว้นแม้วงการสร้างสรรค์ที่ดูจะสนับสนุนภาพลักษณ์ของความหรูหราฟุ่มเฟือย แต่จริงๆ แล้วการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มต้นได้ง่ายผ่านการออกแบบที่เน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้วัสดุท้องถิ่นเพื่อลดมลภาวะจากการขนส่ง
สำหรับวงการผลิตสื่อหรือคอนเทนต์จะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้อย่างไร สื่อระดับโลกอย่าง BCC ได้ทำตัวอย่างให้เห็นด้วยการออกกลยุทธ์ใหม่ภายใต้ชื่อ “Greener Broadcasting” มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อย CO2 จากกระบวนการผลิตสื่อควบคู่ไปกับการสร้างเนื้อหาที่ทั้งให้ความรู้ และดึงดูดผู้ชมเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนภายในอุตสาหกรรม
- ฉากทัศน์ที่ 3 - การผสมผสานเทคโนโลยีในทุกระดับ (Technological Blending for Every Scale)
การผสานเทคโนโลยีในทุกกระบวนการผลิตเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning ไม่เพียงแต่เพิ่มความสามารถในการผลิตงานศิลปะที่มีคุณภาพ และซับซ้อนได้เทียบเท่ามนุษย์ แต่ยังเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ๆ เช่น โปรเจกต์ของ Baltimore Symphony Orchestra ชื่อ “AI in A minor” ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำ AI มาใช้ช่วยประพันธ์เพลงแต่การสร้างสุนทรียศาสตร์ทางดนตรีเพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้ชม ก็ยังคงต้องใช้อารมณ์ของมนุษย์ถ่ายทอดผ่านการเล่นดนตรีสดอยู่ดี
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยียังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างโอกาสหรือสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเรื่องการใช้ AI ในกระบวนการสร้างสรรค์ ข้อขัดแย้งในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของงานที่สร้างจาก AI จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- ฉากทัศน์ที่ 4 - การเติบโตที่ถดถอย (Prosperity Downturn)
ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ความไม่สงบของประเทศขั้วอำนาจต่างๆ การเปลี่ยนแปลงความชอบของผู้บริโภคที่รวดเร็ว การละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน ปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนในโครงการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้
จะเห็นได้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ยังคงเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย และการปรับตัวตลอดเวลาธุรกิจที่ไม่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง อาจประสบกับภาวะขาดทุนหรือแม้แต่จะสูญหายไปจากตลาดได้ ข้อแนะนำสำหรับภาคธุรกิจ และนักสร้างสรรค์ ควรทำความเข้าใจ ยอมรับ และปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์