Livable Scape เมืองสร้างสรรค์ที่เราร่วมกันสร้างได้
ทำไมเมืองต้องสร้างสรรค์? แนวคิดเบื้องหลังการปลุกให้ กลาสโกว์ เปลี่ยนจากเมือง “ลูกเป็ดขี้เหร่แห่งยุโรป” กลายเป็น “หงส์” พร้อมตัวอย่างจากเมืองอื่น ๆ รวมถึงกรุงเทพฯ และงาน Bangkok Design Week
แนวคิดของเมืองสร้างสรรค์เริ่มต้นและพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงของการวางผังเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ และนโยบายทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เมืองต่าง ๆ ได้เห็นถึงคุณค่าของระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่เมือง สำหรับทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมและธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการถดถอยของอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมในเขตเมือง ทำให้เกิดพื้นที่ว่างและอาคารต่าง ๆ ถูกทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก
ปฐมบทของการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์คงหนีไม่พ้นการอ้างอิงทฤษฎี "Creative Class" ของริชาร์ด ฟลอริดา ที่ชี้ให้เห็นถึง บทบาทของศิลปินและนักสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมือง การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจฐานการผลิตไปสู่เศรษฐกิจบริการ ปรับโฉมและฟื้นฟูพื้นที่เมืองที่ทรุดโทรมให้กลายเป็นย่านที่มีชีวิตชีวา ดึงดูดนักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัย และนักลงทุน
เมืองชั้นนำหลายแห่งขานรับแนวคิดนี้ด้วยเห็นว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เสริมการแข่งขันของประเทศ สร้างความแตกต่าง และแสดงให้เห็นถึงสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองบนเวทีโลก
นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม รัฐบาลและนักวางผังเมืองเริ่มบูรณาการงานพัฒนาเมืองสร้างสรรค์เข้ากับแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจสร้างสรรค์เข้ามาตั้งถิ่นฐานหรือทำกิจกรรมในพื้นที่เหล่านี้มากขึ้น
เมื่องที่เปลี่ยนจาก 'เป็ด' เป็น 'หงส์'
"กลาสโกว์" (Glasgow) เมืองที่เคยถูกมองข้าม ได้กลายเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาและทันสมัยอย่างไม่น่าเชื่อหลังจากได้รับตำแหน่งเมืองแห่งวัฒนธรรมของยุโรป (European Capital of Culture) ในปี 1990 การลงทุนครั้งใหญ่ในศิลปะและวัฒนธรรมไม่เพียงเปลี่ยนแปลงทัศนียภาพของเมือง แต่ยังสร้างการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาอัตลักษณ์เฉพาะตัวของเมืองไว้ได้ด้วย
ในกลาสโกว์มีเทศกาลและกิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่เน้นย้ำถึงสถานะของเมืองสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น Celtic Connections เทศกาลดนตรีพื้นบ้านและดนตรีโฟล์กที่มีรากฐานจากดนตรีสก็อตแบบดั้งเดิม หรือ งานเทศกาลตลกนานาชาติกลาสโกว์ (Glasgow International Comedy Festival) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้กลาสโกว์เป็นเมืองที่สนุกที่สุดในโลก พร้อมทั้งเฉลิมฉลองบทบาทของนักแสดงตลกตามวิถีวัฒนธรรมสก็อต
ทั้งนี้นอกเหนือจากการส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองแล้ว กลาสโกว์ยังมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น โดยในอนาคตเมืองวางแผนที่จะยกระดับคลัสเตอร์ “Digital and Creative Economy” ให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุด มุ่งเป้าสร้างการจ้างงานราว 34,000 ตำแหน่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 พันล้านปอนด์ เป็นจุดดึงดูดนักสร้างสรรค์และนวัตกรทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและนานาชาติ เป็นแหล่งรวมธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน CreaTech ที่สำคัญของสหราชอาณาจักร
"เมืองออสติน" (Austin) ในรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เป็นที่รู้จักในฐานะ "The home of live music" ออสตินเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงดนตรีสดและเทศกาลต่าง ๆ มากมาย ทั้งงาน Austin City Limits และ South by Southwest (SXSW) ซึ่งเมืองให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์อันโดดเด่นนี้ โดยแผนกพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง ตั้งโปรแกรมสนับสนุนทุนที่ชื่อว่า “Austin's Live Music Event Fund Program” เพื่อให้ทุนในวงเงิน 5,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อราย แก่นักดนตรี วงดนตรี และโปรโมเตอร์ เพื่อชูจุดขาย “เมืองหลวงแห่งดนตรีสดของโลก”
นอกจากนี้ออสตินยังมีโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญอื่น ๆ เช่น โรงละคร The Paramount Theatre และโรงภาพยนตร์ Alamo Drafthouse เป็นต้น
"เมืองไครสต์เชิร์ช" (Christchurch) ของนิวซีแลนด์ ได้แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2010 ไครสต์เชิร์ชกลายเป็นที่รู้จักในด้านนวัตกรรมการฟื้นฟูเมืองและการใช้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์พัฒนาเมือง โดยเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญต่าง ๆ เช่น งาน World Buskers Festival เป็นเทศกาลนานาชาติประจำปีของนักแสดงข้างถนน (Street performers) ซึ่งในบริบทของเทศกาลนั้น ครอบคลุมทุกด้านของสตรีทอาร์ตและโรงละครริมถนน เช่น การเล่นกล การแสดงผาดโผน การแสดงตลก หรือการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน เวทีแสดงจัดขึ้นใจกลางเมืองโดยเฉพาะในจัตุรัส Cathedral Square, Victoria Square the Arts Centre และ City Mall
การสนับสนุนเมืองไครสต์เชิร์ชด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์นี้ จากข้อมูลปี 2022 พบว่า เมืองได้สร้างการจ้างงานมากกว่า 5,500 คน และมีส่วนสนับสนุน GDP ของประเทศนิวซีแลนด์ คิดเป็นมูลค่าราว 718 ล้านดอลลาร์
แนวคิดเมืองสร้างสรรค์ของไทย
ประเทศไทยเองก็มีคอนเซ็ปต์การพัฒนาเมืองและย่านสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน โดยมีหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อน คือ สำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของ CEA ร่วมกับเครือข่ายทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ดำเนินงานผ่านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเมืองใน 5 ด้าน ประกอบด้วย
- Strategic planning & development – สร้างเครื่องมือและกลไกในการยกระดับพื้นที่ให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดทำแผนหรือเพิ่มเติมแผนพัฒนาย่านบูรณาการเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด การพัฒนาเครื่องมือประเมินเชิงนโยบาย
- Creative placemaking – การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ โดยทดลองนำพื้นที่เก่าในเมืองมาฟื้นการใช้ประโยชน์ใหม่
- Strengthen creative business – การพัฒนาสภาวะเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ภายในย่าน
- District branding - การสร้าง เผยแพร่ สื่อสาร และส่งเสริมการรับรู้อัตลักษณ์ย่านสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ Storytelling เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ของพื้นที่นำไปต่อยอดในมิติต่าง ๆ
- Co-creating a creative community – การบริหารการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ด้วยเครื่องมือ Design Week หรือ เทศกาลการออกแบบ ในแต่ละพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และพื้นที่อื่น ๆ
จากยุทธศาสตร์ทั้ง 5 จะเห็นได้ว่า เป็นการตั้งต้นจากการพัฒนาพื้นที่เล็ก ๆ อย่าง “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพราะเมื่อย่านหลาย ๆ ย่านมีโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็เป็นเสมือนผลรวมที่ทำให้เมืองทั้งเมืองดีตามไปด้วย รวมไปถึงการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างแบรนด์ หรือการจัดกิจกรรมเท่านั้น แต่คือการจัดองค์ประกอบของเมืองทั้งหมดที่สะท้อนอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของเมือง และนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับเมืองและผู้คนในเมือง
อย่างไรก็ตาม จากตัวอย่างเมืองในประเทศต่าง ๆ ข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า เกือบทุกเมือง สร้างภาพจำและแบรนด์ของตัวเองผ่านงานเทศกาล ด้วยเพราะเป็นสิ่งที่สื่อสารและดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมกับเมืองได้ง่ายที่สุด การจัดงานเทศกาลเป็นกลยุทธ์หลักที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มคุณค่าทางวัฒนธรรม ทำให้เมืองน่าดึงดูดทั้งในแง่ของการท่องเที่ยวและการลงทุน ส่งเสริมการจ้างงาน และสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น
กรุงเทพฯ กับงาน Bangkok Design Week
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week (BKKDW) เริ่มต้นจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2018 มุ่งเน้นนำเสนองานออกแบบและงานสร้างสรรค์ ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
งานนี้เป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ตั้งแต่ขั้นทดลองไปจนถึงผลงานระดับมืออาชีพ จัดแสดงผ่านการใช้งานพื้นที่ในเมืองและย่านสร้างสรรค์ พร้อมด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสีสันและประสบการณ์น่าจดจำให้กับชาวเมือง อีกทั้งยังดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของกรุงเทพฯ โดยงานยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นด้วย เกิดการจับจ่ายใช้สอยร้านค้า ร้านอาหาร และที่พักในบริเวณย่านที่จัดงาน ช่วยกระตุ้นธุรกิจในท้องถิ่น
จากการประเมินผลกระทบในปี 2023 พบว่าเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ สร้างให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 721 ล้านบาท คิดเป็น 23 เท่าโดยประมาณจากเงินลงทุนในการจัดงาน และเกิดการจ้างงานอยู่ที่ 1,392 อัตรา อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคมมากถึง 86.5% โดยเป็นผลที่ได้มาจากการสำรวจข้อมูลผู้เข้าชมงานและประชาชนที่อาศัยภายในย่าน
ปี 2024 เทศกาลการออกแบบกรุงเทพ กลับมาจัดอีกครั้งด้วยแนวคิดที่มองเมืองเหมือนชีวิตของคนที่มักพบกับความไม่สมบูรณ์แบบอยู่เสมอ แม้กรุงเทพฯ จะยังคงน่าเที่ยวโดยเฉพาะกับชาวต่างชาติ แต่ยังไม่ค่อยน่าอยู่ นั่นเพราะกรุงเทพฯ ต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในหลายมิติ
นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับงาน “Bangkok Design Week 2024” ที่อยากชวนทุกคนมาร่วมลงมือเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมือง “น่าเที่ยว” “น่าลงทุน”และ “น่าอยู่” ทั้งกับผู้คนในเมือง นักลงทุน และผู้มาเยี่ยมเยือน ภายใต้แนวคิด "Livable Scape" มุ่งหวังที่จะเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีต่อการอยู่อาศัยมากกว่าเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว โดยการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งทางกายภาพ จิตใจ และสังคม ให้สอดรับกับการใช้ชีวิตประจำวัน
งานเทศกาลนี้เป็นเวทีสำหรับสร้างแรงบันดาลใจและประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านการเชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยนำเสนอในรูปแบบ Exhibition, Showcase, Music & Performing, Workshop, Tour, Talk, Event, Market กว่า 500+ โปรแกรม จาก 15+ ย่านทั่วกรุงเทพฯ ตลอด 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. - 4 ก.พ. 2567 นี้
โดย: ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA