Green Logistics ขนส่งยั่งยืน ลดผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

Green Logistics ขนส่งยั่งยืน ลดผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ย 255 ล้านต้นต่อปี โดยเป็น ภาคการขนส่ง ราว 29% แนวคิด โลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) จึงเป็นสิ่งที่ภาคขนส่งหันมาให้ความสำคัญ ในการจัดการกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศ

KEY

POINTS

  • ประเทศไทย มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ย 255 ล้านต้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยเป็นภาคการขนส่ง ราว 29%
  • โลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) การจัดการกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า วัตถุดิบ และข้อมูลสารสนเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำของโซ่อุปทาน เพื่อการลดผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศ
  • บริการขนส่งในประเทศไทยนั้นเริ่มมีการใช้ยานพาหนะ EV มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษทางอากาศแล้ว ไฟฟ้านับเป็นพลังงานที่มีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับน้ำมัน จึงสามารถช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง

 

ในช่วงปี 2560 -2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทย มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ย 255 ล้านต้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี จากกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ โดยการผลิตไฟฟ้าปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดราว 36% รองลงมา คือ การขนส่ง และ อุตสาหกรรม สัดส่วนใกล้เคียงกันที่ราว 29%

 

ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS เผยว่า สำหรับไทย ในกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการขนส่งทางรถบรรทุก เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนสูงที่สุดและมีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดด้วย จากฐานข้อมูล Enlite จำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศไทยในปี 2564 สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

1. ผู้ประกอบการขนส่งทางถนน ซึ่งใช้พาหนะรถบรรทุกสี่ล้อ หกล้อ และรถหัวลาก มีจำนวน 13,187 ราย มีรายได้รวมราว 525 แสนล้านบาท

2. ผู้ประกอบการสนับสนุนส่งออกนำเข้า เช่น นายหน้า ดำเนินการพิธีการศุลกากร (ชิปปิ้ง มีจำนวน 4,627 ราย มีรายได้รวมราว 425 แสนล้านบาท

3. ผู้ประกอบการด้านคลังสินค้า มีจำนวน 724 ราย มีรายได้รวมราว 5.2 หมื่นล้านบาท

4. ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางทะเล มีจำนวน 212 ราย มีรายได้รวมราว 3.1 หมื่นล้านบาท

5. ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศ มีจำนวน 70 ราย มีรายได้รวมราว 2.1 หมื่นล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ปี 2565 ไทยมีรถบรรทุกจดทะเบียน 1.2 ล้านคัน

ด้านพาหนะในการให้บริการขนส่งทางบทหรือรถบรรทุกสินค้า ณ กันยายน 2565 ประเทศไทยมีจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 1,217,179 ค้น ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 9 ลักษณะตามการใช้งาน จากการแบ่งของกรมการขนส่งทางบก ได้แก่ ลักษณะที่ 1 กระบะบรรทุก มีจำนวน 630,739 คัน

ลักษณะที่ 2 ตู้บรรทุก มีจำนวน 98,752 คัน

ลักษณะที่ 3 บรรทุกของเหลว มีจำนวน 22,920 คัน

ลักษณะที่ 4 บรรทุกวัสดุอันตราย มีจำนวน 11,207 คัน

ลักษณะที่ 5 บรรทุกเฉพาะกิจ มีจำนวน 99,272 คัน

ลักษณะที่ 6 รถพ่วงมีจำนวน 110.929 คัน

ลักษณะที่ 7 รถกึ่งพ่วง มีจำนวน 131,112 คัน

ลักษณะที่ 8 รถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว มีจำนวน 1,584 คัน

ลักษณะที่ 9 รถลากจูง มีจำนวน 102,648 คัน

 

โดยรถบรรทุกในลักษณะที่ 1-5 และลักษณะที่ 9 เป็นรถที่มีการใช้เครื่องยนต์ที่มีการปลดปล่อยก๊าซจากการไหมั ขณะที่รถบรรทุกลักษณะที่ 6-8 เป็นเพียงรถพ่วงเพื่อบรรทุกสินค้าเท่านั้น

 

ทำไมต้อง โลจิสติกส์สีเขียว

โลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) เป็นการจัดการกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า วัตถุดิบ และข้อมูลสารสนเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำของโซ่อุปทาน ทั้งไปข้างหน้าและย้อนกลับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลดผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้งหมด ได้แก่ การขนส่ง การบริหารสินค้าคงคลัง การเลือกที่ตั้งและการจัดการคลังสินค้า การจัดซื้อและจัดหาสินค้า การพยากรณ์อุปสงค์ กรขนถ่ายวัสดุและการบรรจุภัณฑ์ การสื่อสารด้านโลจิสติกส์และการดำเนินการด้านคำสั่งซื้อ การบริการลูกค้า และโลจิสติกส์ย้อนกลับ

 

โดย Green Logistics นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนและทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการขนส่งและกระจายสินค้า รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันในยุคการค้าเสรีอีกด้วย

 

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อธิบายว่า ปัจจุบันภาคโลจิสติกส์ได้มีการนำแนวคิด Green Logistics มาปรับใช้มากขึ้น เช่น

  • การใช้รถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าในการจัดส่งพัสดุ Delivery Service
  • การใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซลหรือก๊าซธรรมชาติในรถบรรทุก
  • การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เช่น กล่องพัสดุ พลาสติกกันกระแทก ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก

 

ข้อดีของการบริหารจัดการด้วยแนวคิด Green Logistics

1) ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลดลง เช่น การใช้รถพลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายต่อปีดลดลงประมาณ ร้อยละ 69.87 เนื่องจากค่าซ่อมบำรุง และต้นทุนพลังงานถูกลง (ข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน)

2) จ่ายภาษีถูกลง เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการ และนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น กรมการขนส่งทางบกมีการลดภาษีป้ายรายปีให้ครึ่งหนึ่ง สำหรับรถบรรทุกที่ใช้พลังงานทดแทน

3) เป็นจุดเด่นและช่วยขยายโอกาสทางการค้า เนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น หากบริษัทไม่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อาจจะถูกกีดกันทางการค้าได้

 

ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลไทยมีความพยายามในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ถูกจัดไว้ในนโยบายขับเคลื่อนที่สำคัญ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญ มีกิจกรรมสนับสนุนมากมาย เช่น กิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า BCG ผ่านช่องทางออนไลน์ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศ/ต่างประเทศ

 

ดังนั้น หากผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยปรับตัวเข้าสู่ Green Logistics มากขึ้น จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าผ่านช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้

 

นวัตกรรมขนส่งสีเขียว

Green Transportation หมายถึง นวัตกรรมการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาด เช่น ระบบไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสีย ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลอยขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศ

 

ปัจจุบันในประเทศไทยนั้นมีตัวอย่าง Green Transportation ให้เห็นค่อนข้างมาก เช่น

  • รถเมล์พลังงานไฟฟ้าโดย ขสมก.
  • ไปรษณีย์ไทย จับมือ ปตท. นำร่องใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อส่งพัสดุ
  • Swap & Go บริการเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโดย ปตท.
  • การใช้รถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าในการจัดส่งพัสดุ Delivery Service
  • การใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซล หรือก๊าซธรรมชาติในรถบรรทุก
  • การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เช่น กล่องพัสดุ พลาสติกกันกระแทก ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก

บริการขนส่งในประเทศไทยนั้นเริ่มมีการใช้ยานพาหนะ EV มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษทางอากาศแล้ว ไฟฟ้านับเป็นพลังงานที่มีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับน้ำมัน จึงสามารถช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้อีกด้วย

 

6 แนวทาง สู่ Green Logistics

1. การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (Model Shift)

การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากรูปแบบที่มีการปลดปล่อยมลภาวะสูง เช่น การขนส่งทางถนน ด้วยรถบรรทุก ไปสู่รูปแบบการขนส่งสินค้าที่ปลดปล่อยมลพิษน้อยกว่า เช่น การขนส่งทางรางด้วยรถไฟ

 

2. การขนส่งสินค้าร่วมกัน (Joint Transportation)

การปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า (Load efficiency) โดยการรวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการโลจิสติกส์หลายรายเข้าด้วยกัน เพื่อให้ลดพื้นที่ว่างในการขนส่งสินค้าในแต่ละคราว รวมทั้ง ลดการขนส่งเที่ยวเปล่าและการบรรทุกสินค้าให้เต็มรถ (Backhaul&Full Truck Load) แต่ก็ต้องไม่เกินพิกัดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนดเพราะการที่รถบรรทุกน้ำหนักเกินพื้นถนนรองรับได้ ก็ถือเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

 

3. การรวมและการจัดวางตำแหน่งที่ตั้งของคลังสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้า (Unification and Relocation of Cargo Bases)

การจัดวางตำแหน่งที่ตั้งของคลังสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้า เพื่อลดระยะทางในการขนส่งและรอสินค้าของผู้ซื้อหรือผู้สั่งออเดอร์ทั้งหมด (Lead Time) และลดระยะเวลาการขนส่งสินค้า(Delivery Time) ซึ่งจะทำให้การปลดปล่อยมลพิษจากการขนส่งสินค้าลดลงตามระยะเวลาที่ขนส่งด้วย ทั้งนี้ รวมถึงการรวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการหลายรายไว้ที่จุดพักสินค้า แล้วจัดเส้นทางเพื่อขนส่งสินค้าร่วมกันด้วย

 

4. เทคโนโลยี

การใช้ทคนโลยีในการลดก๊ซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า การใช้อุปกรณ์ดักจับมลพิษจากท่อไอเสีย การใช้เครื่องวัดความเร็ว (tachometer) เพื่อตรวจสอบการให้บริการของยานพาหนะ Eco-Wrapping เน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิล และปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากกระดาษมาเป็นพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

 

5. โครงสร้างพื้นฐาน

การสร้างและการดูแลบำรุงรักษา ฟื้นฟูสภาพโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง เช่น ถนน สถานีขนส่งสินค้า สถานีรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าในภาพรวมเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ซึ่งในอนาคตจะมีส่วนในการรับส่งข้อมูลที่ใช้ดำเนินการในกิจกรรมขนส่งสินค้าด้วย

 

6.นโยบายภาครัฐ การสร้างความร่วมมีอระหว่างประเทศ

การออกนโยบายและการสร้างความร่วมมีอระหว่างประเทศระหว่างภาครัฐของประเทศต่างๆ เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษในภาคการขนส่ง ทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสาร 

 

อ้างอิง : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศKrungthai COMPASS