กรมชลฯ เร่งสปีด ทำนาเปียกสลับแห้ง ได้ขายคาร์บอนฯ ลดก๊าซมีเทน

กรมชลฯ เร่งสปีด ทำนาเปียกสลับแห้ง ได้ขายคาร์บอนฯ ลดก๊าซมีเทน

กรมชลประทาน ชู ขาย “คาร์บอนเครดิต”จูงใจเกษตรกรทำนาเปียกสลับแห้ง ขณะทีดีอาร์ไอ แนะเร่งทำตลาดคาร์บอน สร้างชุดนโยบายหนุน หลังผลการศึกษาพบชาวนายังลังเล หวั่นค่าใช้จ่ายเเพิ่ม ชลประทานปล่อยน้ำไม่ตรงเวลา

KEY

POINTS

  • กรมชลประทานเตรียมขยายผลการทำนาแบบใช้น้ำน้อย หรือ"การทำนาแบบเปียกสลับ เป็นการประหยัดน้ำและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • เหตุผลชาวนาไม่นิยมทำนาเปียกสลับแห้ง ไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าหรือไม่ กลัวความเสี่ยงว่าผลผลิตต่อไร่จะลดลง  ไม่มีเงินทุน/ไม่ต้องการควักเงินลงทุนปรับระดับที่ดิน  กลัวถูกบอกเลิกการเช่าที่ดินทำนากะทันหัน จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนปรับที่นา  
  • ชาวนาสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ไร่ละ 200 บาท ทำให้เริ่มมีแรงจูงใจมากขึ้น  นโยบายที่จะมีประสิทธิผล  ในการดึงดูดให้ชาวนาหันมาทำนาเปียกสลับแห้ง ควรต้องเป็นชุดนโยบาย ที่ประกอบด้วยมาตรการสร้างความมั่นใจเรื่องกำหนดเวลาและปริมาณการส่งน้ำให้กลุ่มผู้ใช้

นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในการประชุมแนวทางการขยายพื้นที่การทำนาเปียกสลับแห้งและขายคาร์บอนเครดิตในนาข้าวอย่างเป็นรูปธรรม  ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า กรมชลประทานเตรียมขยายผลการทำนาแบบใช้น้ำน้อยหรือ"การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง' ซึ่งเป็นผลงานที่กรมชลประทาน ได้วิจัยและนำเสนอต่อที่ประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 และได้รับรางวัล WatSave Awards ในปี 2559 นำไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยและของโลก

กรมชลฯ เร่งสปีด ทำนาเปียกสลับแห้ง ได้ขายคาร์บอนฯ ลดก๊าซมีเทน กรมชลฯ เร่งสปีด ทำนาเปียกสลับแห้ง ได้ขายคาร์บอนฯ ลดก๊าซมีเทน

  ทั้งนี้แนวทางการส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งเป็นการประหยัดน้ำและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตร โดยนำเอาความรู้และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร หรือที่เรียกว่า “ทำน้อย แต่ได้มาก” ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถลดการใช้น้ำ ลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกรได้อีกด้วย

ทั้งนี้กรมชลประทานได้ทำต้นแบบและคู่มือการบริหารจัดการการทำนาที่มีประสิทธิภาพใช้น้ำน้อย หรือทำนาแบบเปียกสลับแห้งที่ช่วยประหยัดน้ำกว่าการปลูกแบบเดิมถึงร้อยละ 30-50 หรือประหยัดจากเดิมที่ใช้น้ำไร่ละ 1,200 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เหลือประมาณไม่เกิน 860 ลบ.ม. และยังช่วยจัดการการให้ปุ๋ยแก่ต้นข้าวในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยได้ร้อยละ 30-4ต่อไร่ และเพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่เพาะปลูกได้ร้อยละ 20-30 ต่อไร่

ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ภาคเกษตรไทยเป็นภาคการผลิตที่ใช้น้ำชลประทานมากที่สุด เกือบ 80% ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด โดยเฉพาะการทำนาในเขตชลประทานที่มีการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง ส่วนหนึ่งเพราะชาวนาไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ การศึกษาของ TDRI (2562) พบว่า หากเกษตรกรสามารถลดการใช้น้ำลงได้ 10% ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งของปีที่มีภาวะฝนแล้งรุนแรง  เช่นเกิดภาวะ El Nino จะทุเลาลงมาก ยิ่งไปกว่านั้น รายงาน UN Water ของสหประชาชาติ แสดงให้เห็นว่า ผลิตภาพการใช้น้ำ (water productivity) ของไทยต่ำมาก เพียง US$8.0 ต่อน้ำ 1 ลบ.ม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก (US$19/ลบ.ม.) แผนแม่บททรัพยากรน้ำจึงกำหนดให้การเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

การใช้น้ำชลประทานทำนาอย่างสิ้นเปลืองดังกล่าว มูลค่าผลิตภาพการใช้น้ำผลิตข้าวนาปรัง  จึงต่ำที่สุด (0.24 บาทต่อน้ำ 1 ลบม.) เทียบกับผลผลิตเกษตรทุกชนิด (10.85 บาท/ ลบม.) การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (154.76 บาท/ลบม. ) และบริการ (332.72 บาท/ลบม.) (TDRI, 2562) นอกจากนี้ ภาคเกษตรไทยยังเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปลดปล่อยก๊าซกระจกมากถึง 14.7 – 25.23% ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2559 และ 2562 (ONEP 2020, Thailand’s Third Biennial Report; ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยรายสาขา ปี พ.ศ.2562) และข้าวเป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจก (51% ของ GHG ในภาคเกษตร) 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซมีเทนที่สำคัญที่สุด ปริมาณการเกิดก๊าซมีเทน 4-117 กรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร (IPCC, Chapter 4 agriculture, 1996) การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง นอกจากจะช่วยประหยัดน้ำ ทำให้มีน้ำเหลือที่สามารถผันไปใช้ปลูกพืชอื่น หรือ กิจกรรมอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่าข้าว ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะช่วยลดก๊าซมีเทนอันเป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนที่กำลังก่อความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนทั่วโลก และต่อผลผลิตการเกษตร

ทั้งนี้ กรมชลประทานริเริ่มส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งตั้งแต่ปี 2558 โดยมีแผนให้ชาวนา จำนวน 8,750 ครัวเรือนหันมาทดลองทำนาเปียกสลับแห้งในปี2562 เพิ่มเป็น 100,000 ครัวเรือนในปี 2566 และกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 2.8 ล้านไร่ในปี 2566 (จากพื้นที่นาปรังทั่วประเทศ 9-12 ล้านไร่) ต่อมาในปี 2561 GIZ ร่วมกับกรมการข้าวจัดทำโครงการThai rice NAMA เพื่อลดการใช้น้ำ เพิ่มผลิตภาพการผลิต และเป้าหมายสำคัญ คือ การลดก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลง Paris Agreement อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ยังมีชาวนาทำนาเปียกสลับแห้งจำนวนน้อยมาก

กรมชลฯ เร่งสปีด ทำนาเปียกสลับแห้ง ได้ขายคาร์บอนฯ ลดก๊าซมีเทน

เหตุผลที่ชาวนาหลายรายยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก  แม้ภาครัฐ ภาควิชาการและ NGO หลายหน่วยงานพยายามผลักดันการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งแต่ ชาวนาหลายรายยังทำนาแบบดั้งเดิม จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างชาวนา 211 รายในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่ไม่ได้ทำนาเปียกสลับแห้งของ TDRI  พบว่า เกษตรกรกังวลปัญหาระบบชลประทานปล่อยน้ำไม่ตรงเวลา หรือได้น้ำไม่เพียงพอในช่วงที่ต้องการน้ำมากที่สุด มีปัญหาพื้นที่นาลุ่มไม่เหมาะแก่การทำนาเปียกสลับแห้ง ซึ่งพื้นที่ ๆ เหมาะสมต้องเรียบเสมอกัน เพื่อง่ายต่อการควบคุมปริมาณน้ำ

ทั้งนี้ ในพื้นที่ ๆ เป็นที่ลุ่มอาจต้องอาศัยการปรับแปลงนาด้วยเลเซอร์หรือเครื่องจักร ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 3,000 บาท/ไร่ ยังไม่มีองค์ความรู้ในการทำนาเปียกสลับแห้ง นอกจากนี้  กังวลว่าแปลงนาอาจมีหญ้ามาก  ไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าหรือไม่ กลัวความเสี่ยงว่าผลผลิตต่อไร่จะลดลง  ไม่มีเงินทุน/ไม่ต้องการควักเงินลงทุนปรับระดับที่ดิน  กลัวถูกบอกเลิกการเช่าที่ดินทำนากะทันหัน จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนปรับที่นา  

ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการสัญญาการจัดสรรน้ำอย่างตรงเวลาจากกรมชลประทาน  องค์ความรู้/การเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบ เงินช่วยเหลือลงทุนปรับระดับแปลงด้วยเลเซอร์  มีการรวมตัวตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในคลองชลประทานอย่างเข้มแข็ง เนื่องจาก ในหลายพื้นที่ แม้จะมีการประชุมการจัดสรรน้ำในกลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่ด้วยกลุ่มไม่มีความเข้มแข็ง สมาชิกไม่ปฏิบัติตาม แย่งกันสูบน้ำ การทำนาเปียกสลับแห้งที่ต้องอาศัยการวางแผนปริมาณน้ำที่เหมาะสมจึงทำได้ยาก

นอกจากนี้ ชาวนาบางรายต้องการพี่เลี้ยงจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง และการช่วยเหลืออื่น ๆ อาทิ บริการสูบน้ำและติดตามแบบครบวงจร โดยคิดค่าจ้าง ไม่ต้องทำเอง เจ้าของที่นาที่ท่านเช่าตกลงจะช่วยชดเชยเงินลงทุนปรับระดับที่ดิน

กรมชลฯ เร่งสปีด ทำนาเปียกสลับแห้ง ได้ขายคาร์บอนฯ ลดก๊าซมีเทน

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันหลังชาวนาสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ไร่ละ 200 บาท ทำให้เริ่มมีแรงจูงใจมากขึ้น  นโยบายที่จะมีประสิทธิผล (effectiveness) ในการดึงดูดให้ชาวนาหันมาทำนาเปียกสลับแห้ง ควรต้องเป็นชุดนโยบาย (package of policy measures) ที่ประกอบด้วยมาตรการสร้างความมั่นใจเรื่องกำหนดเวลาและปริมาณการส่งน้ำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำ  สร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมในระยะสั้นและระยะกลาง 

ระยะสั้น คือการให้ชาวนาสามารถขายคาร์บอนเครดิตจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งช่วงแรกราคาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังค่อนข้างผันผวน เพราะเป็นการซื้อขายแบบสมัครใจ ไม่เป็นทางการ และผู้เกี่ยวข้องในภาครัฐยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าราคาคาร์บอนเครดิตถูกกำหนดอย่างไร ดังนั้นในระยะสั้น รัฐควรมีมาตรการอุดหนุนการทำนาเปียกสลับแห้งแบบมีเงื่อนไขเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีมาตรการตรวจสอบและวัดปริมาณก๊าซมีเทนในนาตามมาตรฐานที่สากลยอมรับอย่างเคร่งครัด ส่วนในระยะกลาง รัฐบาลควรเร่งจัดทำนโยบายตลาดคาร์บอนภาคบังคับ 

นอกจากนี้ควรมีมาตรการเสริม เช่น การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเจ้าของนาเช่า กับผู้เช่านาที่ต้องลงทุนปรับระดับแปลงนาด้วยเลเซอร์โดยให้มีสัญญาเช่าอย่างต่ำ 3-4 ปีให้คุ้มกับการลงทุนของผู้เช่านา เป็นต้น 

กรมชลฯ เร่งสปีด ทำนาเปียกสลับแห้ง ได้ขายคาร์บอนฯ ลดก๊าซมีเทน กรมชลฯ เร่งสปีด ทำนาเปียกสลับแห้ง ได้ขายคาร์บอนฯ ลดก๊าซมีเทน

มีการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อเจรจาเรื่องกติกาการจัดสรรน้ำและการตรวจจับผู้ละเมิดกติกา (policing) ใช้ได้ทั้งกรณีกลุ่มชาวนาที่ใช้น้ำชลประทาน และกลุ่มชาวสวนทุเรียน การสำรวจพบว่าชาวสวนทุเรียนในระยองมีการรวมกลุ่มกันในระดับอบต. เพื่อลงทุนสร้างท่อส่งน้ำที่สูบน้ำจากแหล่งน้ำชลประทานสู่สวนทุเรียน โดยมีข้อตกลงการกำหนดตารางส่งน้ำของแต่ละกลุ่มอย่างเป็นธรรม รวมทั้งมีการเก็บเงินค่าสูบน้ำและค่าบำรุงรักษาท่อส่งน้ำด้วย

สำหรับวิธีการทำนาเปียกสลับแห้ง   เริ่มจากการปรับหน้าดิน ให้เรียบเสมอกัน มีความแตกต่างระหว่างจุดที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดไม่เกิน 5 ซ.ม. การปรับหน้าดินด้วยเครื่องมือเลเซอร์ หรือ GPS-RTK สามารถช่วยให้หน้าดินเรียบเสมอได้ 3 – 5 ปี ไม่จำเป็นต้องทำทุกรอบการปลูก

เตรียมแปลงทำนาทำนาตามปกติ สามารถทำได้ทั้งนาดำ และนาหว่าน เตรียมท่อพีวีซีขนาด 4 นิ้ว ยาว 25 ซ.ม. ให้วัดจากขอบท่อมา 5 ซ.ม. เจาะรูทั้งหมด 4 จุด ทำทุกๆ 5 ซ.ม. นำไปฝังไว้ในแปลงนาลึก 20 ซ.ม. ให้ปากท่อพ้นดิน 5 ซ.ม. ในอัตรา 1 ท่อ ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ขุดดินในท่อออกเพื่อใช้สังเกตุระดับน้ำใต้ดิน

หลังข้าวอายุได้ 20 วันขึ้นไป นับจากวันที่ดำนา หรือหว่านข้าว สูบน้ำข้าวนาระดับน้ำให้สูง 5-10 ซม.จากผิวดิน แล้วปล่อยให้แห้ง รอเวลาให้ข้าวแตกรากแตกกอ เป็นเวลา 15-20 วัน หรือจนกระทั้งระดับน้ำใต้ดินในท่อที่ฝังไว้ต่ำกว่า 15 ซ.ม.จากผิวดิน ให้สูบน้ำเข้าอีกครั้ง กระบวนการนี้สามารถทำได้ 1-2 ครั้ง ก่อนข้าวเริ่มตั้งท้อง หรืออายุข้าวได้ 60 วัน  การให้ปุ๋ย สามารถให้ปุ๋ยกับข้าวตามคำแนะนำปกติ หรือให้ตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

การทำนาเปียกสลับแห้งทำให้ต้นทุนลดลง ได้แก่  ค่าสูบน้ำ ลดลงฤดูละ 2-4 ครั้ง ครั้งละ 100 – 200 บาท/ไร่ ประหยัดได้ 200-600 บาท/ไร่ การใช้เมล็ดพันธุ์ ลดจาก 15-20 กก./ไร่ เหลือ 5 กก. ในกรณีนาดำ หรือ 8-10 กก. ต่อไร่ในกรณีนาหว่าน เพื่อให้มีพื้นที่ในการแตกกอเพิ่มจำนวนรวง ประหยัดได้ 200-300 บาท/ไร่ ลดค่ายากำจัดศัตรูพืช จากการที่ต้นข้าวไม่อวบน้ำ ความชื้นในแปลงต่ำ ประหยัดได้ 100-200 บาท/ไร่  

นอกจากนี้ยังทำให้ ราก/ต้นแข็งแรง ผลผลิตต่อไร่สูง ข้าวจากนาเปียกสลับแห้งจะมีลำต้นเตี้ยกว่านาปกติ หักล้มยากขึ้น ชาวนาสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขาย carbon credit ประหยัดน้ำและผลิตภาพการใช้น้ำในภาพรวมเพิ่มขึ้น น้ำถูกใช้ในกิจกรรมอื่นมากขึ้น GDP ก็เพิ่มขึ้น ความขัดแย้งเรื่องน้ำลดลง มีน้ำอุปโภคบริโภคพอทุกภาคถ้าเกษตรประหยัดได้ ช่วยลด GHG และลดผลกระทบจากภัยแล้ง

อย่างไรก็ดี การทำนาเปียกสลับแห้งก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นมา ได้แก่ ค่าปรับระดับแปลงนาไร่ละ 2,500-3,000 บาท ที่ใช้ได้ 3 ปี (6 ฤดู)ต้นทุนการกำจัดหญ้า ข้าวดีด ข้าวเด้ง ในนาดำด้วยแรงงานคน (อีหอบ) ซึ่งกรณีนาหว่านจะไม่มีต้นทุนนี้เนื่องจากไม่สามารถนำเครื่องมือนี้เข้าไปใช้ในแปลงได้ ต้นทุนการบันทึกข้อมูลการจัดการนาและตรวจระดับน้ำ เพื่อส่งให้บริษัทที่รับซื้อ carbon credit