WHA ลุย ‘อีโคซิสเตม’ ธุรกิจยั่งยืน กรีนโลจิสติกส์-นิคมฯ-ผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน
“ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป” ลุย “กรีน โลจิสติกส์” เต็มสูบเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทุกมิติ พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ ขยายพลังงานสะอาดรองรับความต้องการลูกค้าในทุกพื้นที่ ดึง AI เคลื่อนองค์กร มุ่งสู่เป้าหมาย “เทค คอมพานี”ภายในปีนี้
“ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป” ถือเป็นผู้นำในตลาดนิคมอุตสาหกรรมครบวงจร ปัจจุบันให้บริการลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศในหลายอุตสาหกรรม ด้วยวิสัยทัศน์ผู้นำด้านโลจิสติกส์ครบวงจร และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอุตสาหกรรม ตามพันธกิจ WHA: WE SHAPE THE FUTURE ในการสร้าง สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนสู่เป้าหมาย “เทค คอมพานี” ในปีนี้
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า บริษัทประกอบด้วยธุรกิจหลัก 4 ประเภท เพื่อให้บริการครบวงจร และมอบทางเลือกพร้อมใช้งานให้กับลูกค้า ได้แก่ 1.ธุรกิจโลจิสติกส์ 2.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 3.ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และ 4.ธุรกิจดิจิทัล
สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2567 บริษัทจะมุ่งเน้นไปที่ กรีน โลจิสติกส์ (Green Logistics) ซึ่งครอบคลุมบริการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สถานีชาร์จอีวี รวมถึงอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รวมบริการต่างๆ (Super Driver App) สำหรับบริการลูกค้า EV ในภาคธุรกิจ อาทิ การบริหารยานพาหนะ (Fleet Management) การวางแผนเส้นทาง (Route Optimization)
รวมทั้งจะมีการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Roaming) โดยคาดว่า Super Driver App จะพัฒนาแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ค.2567 เพื่อมุ่งสู่การสนับสนุนและเร่งการใช้อีวีในภาคขนส่งของประเทศ
ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะเซ็นสัญญาเช่าซื้อรถ EV ทั้งในส่วนของรถปิกอัพไฟฟ้าและหัวลากไฟฟ้า เพิ่มอีก 1,100 คัน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2567 บริษัทจะมีรายได้เข้ามาทันทีกว่า 1,000 ล้านบาท และมีกำไรตั้งแต่ในปีแรกนี้ จากปี 2566 ที่มีลูกค้าเซ็นสัญญาเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้าแล้วจำนวน 25 คัน
“กรีนโลจิสติกส์จะตอบโจทย์ผู้ผลิตที่ต้องการซัพพลายเชนที่ลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกำลังเป็นเงื่อนไขสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ” นางสาวจรีพร กล่าว
นอกจากนี้ ในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่นส์ จำกัด (GCL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในสัดส่วน 50% มูลค่า 2,640 ล้านบาท เป็นหนึ่งอีกความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา
สำหรับการลงทุนดังกล่าวเป็นการตอกย้ำความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้นำตลาดของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน สู่การยกระดับการให้บริการกับลูกค้า
พัฒนานิคมอุตสาหกรรม‘อัจฉริยะ’
ในขณะที่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในปี 2567 จะเดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) เพื่อโดยขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุม 6 องค์ประกอบสำคัญ คือ Smart Services, Smart Mobility, Smart Communication, Smart Power, Smart Water และ Smart Security
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวภายใต้การบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมกลาง Unified Operation Center (UOC) และต่อยอดการเป็น Total Solutions Partner ให้กับลูกค้าด้วยการให้บริการแบบครบวงจร ตั้งเป้ายอดขายที่ดินรวมปีนี้กว่า 2,200 ไร่
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและเวียดนามทั้งหมด 77,600 ไร่ แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมในประเทศจำนวน 12 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 43,200 ไร่ รวมพื้นที่ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา
โดยอยู่ระหว่างการเจรจาขายที่ดินให้กับลูกค้าจากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค และอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 จำนวน 1,200 ไร่ และอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาเฟส 2 อีกราว 950 ไร่
นอกจากนี้ มีแผนขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 เฟส 3 จำนวน 640 ไร่, โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เฟส 2 จำนวน 480 ไร่, โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เฟส 3 จำนวน 330 ไร่ และโครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 เฟส 2 จำนวน 600 ไร่
อีกทั้ง ยังมีการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ได้แก่ เขตประกอบอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 จำนวน 2,400 ไร่ และ โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 5 จำนวน 3,400 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2568
เร่งขยายนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม
ส่วนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันมีเขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ โซน 1-เหงะอาน โดยมีพื้นที่รวม 13,125 ไร่ ดำเนินการก่อสร้างเฟส 1 พื้นที่ 900 ไร่ รวมทั้งอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการก่อสร้างเฟส 2 พื้นที่ 2,215 ไร่
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหม่อีก 3 แห่ง รวมพื้นที่ 22,815 ไร่ ประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone 1-Thanh Hoa พื้นที่ 3,125 ไร่
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2567 รวมถึงเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone 2-Thanh Hoa พื้นที่ 1,875 ไร่ และเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone-Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่ โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงกับทางการองค์กรท้องถิ่นของประเทศเวียดนามช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา
รุกเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์
ในขณะที่ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ปี 2567 โดยจะแยกในส่วนของสาธารณูปโภค (น้ำ) บริษัทยังคงเดินหน้านำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Artificial Intelligence (AI) เพื่อเข้ามาช่วยสร้างระบบ Smart Water Platform รวมถึง Smart Meter (OCR) ระบบ SCADA และศูนย์ควบคุม UOC ที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และมุ่งพัฒนาการให้บริการใหม่ที่ครบวงจร พร้อมนำกระบวนการ Reverse Osmosis (RO) มาใช้เป็นมาตรฐานการจัดการการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในนิคมอุตสาหกรรม
ขณะที่ในส่วนของพลังงาน (ไฟฟ้า) จะเน้นพลังงานสะอาด ได้แก่
1.Solar Rooftop ติดตั้งให้ บริษัท ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 24.2 เมกะวัตต์
2.Solar Carpark บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ติดตั้งให้ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) โดยมีพื้นที่หลังคารวม 59,000 ตารางเมตร กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 7.7 เมกะวัตต์
3.Floating Solar โดยโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) โดยมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (AAT) กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 8 เมกะวัตต์
“โครงการเหล่านี้ เราอยากทำเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากลูกค้าให้ความสำคัญมากขึ้น โดยต้องการใช้พลังงานทดแทน 100% วันนี้จึงต้องเริ่มดูว่าจะเร่งดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่โดนลูกค้าไล่บี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าหลายราย โดยที่ผ่านมาลูกค้าจะได้รับประโยชน์ทั้งในส่วนของค่าไฟที่ถูกลง และตอบโจทย์เรื่อง Green Energy ด้วย” นางสาวจรีพร กล่าว
ทั้งนี้ ในการทำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ครอบคลุมทั้ง โซลาร์รูฟท็อป โซลาร์เซลล์บนหลังคา โซลาร์บนโรงจอดรถ และโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งเมื่อก่อนยังไม่มีแอปฯ พนักงานต้องใช้เวลาตรวจเช็คครึ่งวัน เมื่อทุกอย่างอยู่ในระบบจะมีการแจ้งเตือนเพื่อเข้าแก้ไขได้ทันที เพราะทุกวินามีค่าทั้งลูกค้าและบริษัท
รวมทั้งขณะนี้สามารถลดต้นทุนค่าไฟให้ลูกค้าไระดับ 1,600 พันล้านบาท ปัจจุบันต้นทุนการติดตั้งโซลาร์ถูกลง ลูกค้าคำนึงถึงพลังงานสะอาดมากขึ้น และขอให้มีการสนับสนุนได้ยาวขึ้น ซึ่งอนาคตจะเริ่มมีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) เพิ่มเติม
‘เอไอ’ขับเคลื่อนเทคคอมพานี
สำหรับธุรกิจดิจิทัลใน ปี 2567 บริษัทได้เดินหน้าในการนำเทคโนโลยี AI มาขับเคลื่อนองค์กร ทั้ง AI & ML Data Insight, AI Cybersecurity และ Generative AI เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Technology Company ภายในสิ้นปี 2567
“วันนี้ทุกพื้นที่ถือเป็นดิจิทัลทั้งหมด โดยเฉพาะการใช้แอปฯ ติดต่อลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าได้ระบบที่ดี่สุด พร้อมใช้โดรนบินตรวจสอบเพื่อเร่งเข้าซ่อมแซมแวร์เฮาท์ทั้งหมดได้ทันท่วงทีเพื่อยืนยันว่าทั้ง น้ำ อากาศ ต้องดีและเพียงพอ" นางสาวจรีพร กล่าว
นอกจากนี้ ยังต้องตรวจเช็คกล้อง CCTV เพื่อการันตีว่าในนิคมฯ จะได้ไม่ให้เกิดการจราจรติดขัด ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องบริหารจัดการแบบเรียลไทม์ที่สุด