ส่องสถานะ 'นกเงือก' นกโบราณ บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า
ส่องสถานะ “นกเงือก” สัตว์ที่มีบทบาทในระบบนิเวศป่าช่วยกระจายพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิดที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน นกเงือกในประเทศไทยมี 13 ชนิด โดยหนึ่งในนั้น คือ นกชนหิน ซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
KEY
POINTS
- “นกเงือก” นกโบราณขนาดใหญ่ที่มีวิวัฒนาการมากว่า 50 ล้านปี มีอยู่บนโลกกว่า 54 ชนิด เขตร้อนของทวีปเอเชียมีนกเงือกหลากหลายถึง 31 ชนิด และในประเทศไทยมีนกเงือกอยู่ 13 ชนิด
- ในระบบนิเวศป่า นกเงือก ช่วยกระจายพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิดที่มีประสิทธิภาพมาก จึงเป็นตัวช่วยปลูกป่าและปลูกแหล่งอาหาร ทั้งของนกเงือกและสัตว์ป่าอื่นๆ และยังรักษาความหลากหลายของพืชและสัตว์
- อย่างไรก็ตาม นกเงือก ยังถูกคุกคามโดยการล่าจากมนุษย์ ปัจจุบันนกเงือกกว่า 13 ชนิดของไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และอีกหนึ่งชนิด คือ “นกชนหิน” มีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
นกเงือก หรือ “Hornbills” นกโบราณขนาดใหญ่ที่มีวิวัฒนาการมากว่า 50 ล้านปี ลักษณะเด่นคือ มีจะงอยปากหนาใหญ่ มีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง และส่งเสียงร้องได้ดังกังวาน บนโลกมีอยู่หลากหลายพันธุ์ถึง 52 ชนิด บวกกับ Ground Hornbills อีก 2 ชนิดเป็น 54 ชนิด ส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและป่าดิบเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชีย เขตร้อนของทวีปเอเชียมีนกเงือกหลากหลายถึง 31 ชนิด และในประเทศไทยมีนกเงือกอยู่ 13 ชนิด
นกเงือก กับระบบนิเวศป่า
“มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” อธิบายว่า “นกเงือก” ถือเป็นนกที่ไม่มีสีสันสะดุดตา ขนมักมีสีดำ-ขาว บางชนิดมีขนสีน้ำตาล หรือ เทา ส่วนที่มีสีฉูดฉาดอยู่บ้างก็เป็นหนังเปลือย เช่น หนังบริเวณคอ หนัง ขอบตา แต่สีเหลืองสดจัดจ้านที่ปรากฎบนส่วนขนสีขาว หรือบริเวณปากและโหนกของนกกก นกเงือกหัวแรด และนกชนหินนั้น มาจากสีของน้ำมันที่นกทาและแต่งแต้มขึ้นเพื่อรักษาสภาพของขน เปรียบเสมือน “เครื่องสำอาง” ผลิตโดยต่อมน้ำมันซึ่งอยู่บนโคนหาง
บทบาทเด่นของ “นกเงือก” ในระบบนิเวศป่า คือ ช่วยกระจายพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิดที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้ที่สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นตัวช่วยปลูกป่าและปลูกแหล่งอาหาร ทั้งของนกเงือกและสัตว์ป่าอื่นๆ และยังรักษาความหลากหลายของพืชและสัตว์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ย้อนรอย 5 การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลก และครั้งที่ 6 จะเกิดขึ้นหรือไม่ ?
- 'สัตว์ที่หายไป' โดยไม่ต้องรอการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6
- นับถอยหลัง วันมนุษย์สูญพันธุ์ เปิดปัจจัยที่จะทำให้จบสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์
จึงจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นร่มเงาให้กับสัตว์ชนิดอื่น (Umbrella species) ทำให้สังคมพืชเกิดความสมดุล และช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนูเป็นต้น จากความสัมพันธ์ของนกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเหมาะที่จะจัดนกเงือกเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า (Indicator species) แต่ละแบบได้อีกด้วย
สัตว์ป่าคุ้มครอง ใกล้สูญพันธุ์
สำหรับในประเทศไทย มีนกเงือก 13 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 12 ชนิด และเพิ่งขึ้นทะเบียนเป็น สัตว์ป่าสงวน อันดับที่ 20 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2565 หนึ่งชนิด คือ “นกชนหิน” ซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) ตาม IUCN Red List
เนื่องจาก “นกชนหิน” เป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด ปัจจุบันมีนกชนหินในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยมาก ประมาณไม่เกิน 100 ตัว และมีปัจจัยคุกคามสูง เนื่องจากนกชนหินมีโหนกที่ตันและสวยงามเหมือนลักษณะของงาช้าง ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่า ส่งผลให้เกิดการลักลอบล่านกชนหินอย่างมาก จนกระทั่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 410 แล้วก็ตาม จึงต้องยกระดับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าสงวน
ทั้งนี้ นอกจากเป็นการยกระดับการคุ้มครองทางกฎหมายที่เข้มงวดแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในระดับนานาชาติ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(CITES)
ซึ่งมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างเหมาะสม โดยนกชนหิน เป็นนกเงือก 1ใน 13 ชนิดของไทย มีการกระจายเฉพาะตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงจังหวัดนราธิวาส พบเป็นกลุ่มขนาดเล็กในป่าดิบชื้นระดับต่ำ มีกลุ่มประชากรหลักอยู่ในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง
รายชื่อนกเงือกที่พบในประเทศไทย
- นกกก
- นกเงือกหัวแรด
- นกชนหิน
- นกแก๊ก
- นกเงือกกรามช้าง
- นกเงือกกรามช้างปากเรียบ
- นกเงือกคอแดง
- นกเงือกดำ
- นกเงือกปากดำ
- นกเงือกปากย่น
- นกเงือกสีน้ำตาล
- นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว
- นกเงือกหัวหงอก
สถานภาพในประเทศไทย
- ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) เช่น นกชนหิน (จัดเป็นสัตว์สงวนอันดับที่ 20 ของประเทศไทย) นกเงือกปากย่น นกเงือกดำ
- ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) เช่น นกเงือกหัวหงอก นกเงือกหัวแรด นกเงือกคอแดง
- มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) เช่น นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกเงือกกรามช้างปากเรียบ
- ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) เช่น นกกก นกเงือกปากดำ นกเงือกกรามช้าง
- ไม่ถูกคุกคาม (Least Concerned) เช่น นกแก๊ก
โลกร้อน ส่งผลกระทบต่อนกเงือก
มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เผยรายงานสถานการณ์นกเงือกประจำปี ของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พญาไท) พบว่า นอกจากปัจจัยการคุกคามด้านศัตรูตามธรรมชาติและมนุษย์ที่ทำให้จำนวนนกเงือกลดลงแล้ว “ภาวะโลกร้อน” ยังมีผลทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยพึ่งพาหากินกับต้นไม้เช่น นกเงือก ประสบปัญหาในมิติของนกเงือกเช่นกัน เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลงและอุณหภูมิโลกที่ร้อนระอุขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การเข้ารังของนกเงือกลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ได้วิเคราะห์ปริมาณอาหารนกเงือกที่มีอยู่ในธรรมชาติ พบว่า ผลผลิตทางอาหารของนกเงือกตามธรรมชาติ ในสภาพอากาศแห้งแล้ง อุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาณน้ำลดลง ทำให้พรรณไม้ที่เป็นอาหารของนกเงือก ทั้ง ตาเสือ ยางโอน และไทรหลายชนิด ลดลงตามไปด้วย อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน ที่ทำให้การเข้ารังและการขยายพันธุ์ลดลง จำนวนประชากรลูกนกเงือกใหม่ใหม่ๆ จึงน้อยมาก
การถูกล่าจากมนุษย์
ภัยคุกคามจากมนุษย์เป็นสาเหตุหลักของการลดลงของประชากรนกเงือก ในประเทศไทยการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำไม้ การทำไร่เลื่อนลอย และการตั้งถิ่นฐาน เป็นสาเหตุหลักที่คุกคามนกเงือก นอกจากนี้ การล่าทั้งเพื่อการค้าและเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ ยังเป็นสาเหตุที่สำคัญอีกเช่นกัน
นกเงือกในธรรมชาติที่ตาย ส่วนใหญ่จะถูกล่าจากมนุษย์ ที่ผ่านมาแทบไม่เคยพบนกเงือกป่วยหรือถูกงูกัดตาย เพราะงู คือ อาหารของมัน ส่วนศัตรูในธรรมชาติก็มีไม่มากนัก เช่น หมีขอ หมีหมา และหมาไม้ แต่ก็ยากที่จะมาจับนกเงือกกินเว้นเสียจากลูกและแม่นกที่อยู่ในโพรงหรือเวลาที่ลูกนกยังปิดปากโพรงไม่เสร็จ
ในฤดูทำรัง คือ ช่วงเวลาสำคัญของนกเงือก เพราะชีวิตของแม่และลูกต้องฝากไว้กับพ่อนกแต่เพียงผู้เดียว พ่อนกเงือกจะบินเข้าออกที่ต้นไทรและต้นผลไม้สุกวันละหลายครั้ง เพื่อเก็บผลไม้ครั้งละ1ลูก สะสมไว้ในกระเพาะพักแล้วพากลับมาป้อนให้แม่และลูกนกในโพรงรัง ด้วยสาเหตุที่ “นกเงือก” เป็นนกที่จับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว (Monogamus) พ่อนกเงือกจึงต้องมีความรับผิดชอบสูงมากในการหาอาหาร หากพ่อนกถูกยิงตายหมายถึงอีก2ชีวิตที่รออยู่ และจะอดอาหารตายในที่สุด
วันรักนกเงือก
ในปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินการศึกษาวิจัยนกเงือกมานานกว่า 20 ปี จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันรักนกเงือก" เพื่อให้สังคมและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ทุกขณะ
อ้างอิง : โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก , มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร , นิตยสารสาระวิทย์ สวทช.