รายงานเผย ‘Zara - H&M’ ใช้ ‘ฝ้าย’ ที่บุกรุกป่า - คุกคามชนพื้นเมืองใน ‘บราซิล’
รายงานล่าสุดเผย “Zara” และ “H&M” อาจมีส่วนพัวพันกับการทำไร่ฝ้ายที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และใช้แรงงานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศบราซิล
KEY
POINTS
- องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเปิดเผยข้อมูลว่า “Zara” และ “H&M” แบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ของโลก ใช้ “ฝ้าย” จากซัพพลายเชนที่มีการมีบุกรุกพื้นที่ป่าจำนวนมาก ยึดที่ดินมาปลูกฝ้าย และคุกคามพื้นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศบราซิล
- ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา พืชพันธุ์พื้นเมืองหายไปประมาณครึ่งหนึ่ง และเกิดความขัดแย้งที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับที่ดิน และทรัพยากรกับชนเผ่าพื้นเมืองอย่างรุนแรง โดยปัจจุบันภูมิภาคเซอร์ราโด ของบราซิลมีพื้นที่ทำการเกษตรกรรม และการทำปศุสัตว์ทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านตารางกิโลเมตร
- การค้นพบนี้ก่อให้เกิดคำถามใหม่ ๆ เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของ Better Cotton โครงการเพื่อความยั่งยืนในการผลิตฝ้าย ว่าอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการรับรองมาตรฐาน แม้โครงการจะบอกว่าการประเมินทั้งหมดดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบอิสระก็ตาม
Earthsight องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเปิดเผยข้อมูลว่า “Zara” และ “H&M” แบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ของโลก ใช้ “ฝ้าย” จากซัพพลายเชนที่มีการมีบุกรุกพื้นที่ป่าจำนวนมาก ยึดที่ดินมาปลูกฝ้าย และคุกคามพื้นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองอย่างรุนแรงในภูมิภาคเซอร์ราโด ที่มีภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา ของประเทศบราซิล
การค้นพบนี้ก่อให้เกิดคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของ Better Cotton โครงการเพื่อความยั่งยืนในการผลิตฝ้าย ที่ต้องการช่วยเหลือชุมชนที่ปลูกฝ้ายให้ก้าวหน้าพร้อมกับปกป้อง และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยโครงการนี้มีแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำทั่วโลกเป็นสมาชิก รวมถึง Zara และ H&M
ปัญหาที่ Earthsight ค้นพบเผยให้เห็นถึงข้อบกพร่องของแบรนด์ใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ไม่สามารถตรวจสอบ และป้องกันแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ดีเพียงพอ จนไม่รู้ว่าซัพพลายเชนของตน มีการละเมิดด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน
“H&M หรือ Zara ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสินค้าของพวกเขาใช้ฝ้ายชนิดใด ทั้งที่สินค้าของพวกเขามีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีการเกี่ยวข้องกับบุกรุกพื้นที่ชนพื้นเมือง และการตัดไม้ทำลายป่า บริษัทควรจับตาดูอย่างใกล้ชิด” รูเบนส์ คาร์วัลโญ หัวหน้าฝ่ายวิจัยการตัดไม้ทำลายป่าของ Earthsight กล่าว
“อุตสาหกรรมเสื้อผ้า” ทำลาย “ป่าไม้”
Earthsight รายงานว่าพื้นที่ป่าในภูมิภาคเซอร์ราโด ถูกแทนที่ด้วย “ไร่ฝ้าย” แทบจะหมดแล้ว ทำให้โลกได้สูญเสียแหล่งกักเก็บคาร์บอน และปริมาณน้ำสำรองที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก พืชพรรณพื้นเมืองในภูมิภาคนี้ มีลักษณะเฉพาะคือ เป็นพืชที่หยั่งรากลึก ทำหน้าที่กักเก็บน้ำคาร์บอนตามธรรมชาติ ซึ่งการทำลายต้นไม้เหล่านี้จะเป็นการปลดปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนในพื้นดิน และคุกคามแหล่งน้ำในลุ่มแม่น้ำแอมะซอน 8 แห่ง จากทั้งหมด 12 แห่งของบราซิล
ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา พืชพันธุ์พื้นเมืองหายไปประมาณครึ่งหนึ่ง และเกิดความขัดแย้งที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรกับชนเผ่าพื้นเมืองอย่างรุนแรง โดยข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่าในปี 2023 เซอร์ราโดสูญเสียพื้นที่ป่า 7,800 ตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้น 43% จากปี 2022 รวมทั้งสิ้นปัจจุบันเซอร์ราโดมีพื้นที่ทำการเกษตรกรรมและการทำปศุสัตว์ทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านตารางกิโลเมตร
แม้ว่าบราซิลนี้จะเป็นผู้ส่งออกฝ้ายรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากสหรัฐ และเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของ Better Cotton แต่โดยทั่วไปสินค้าโภคภัณฑ์จะปลูกหมุนเวียนโดยมีถั่วเหลืองเป็นพืชรอง ดังนั้นอุตสาหกรรมแฟชั่นจึงมีส่วนที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ การใช้ยาฆ่าแมลงในพื้นที่เกษตรกรรมยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะฝ้าย เป็นพืชที่ต้องใช้สารเคมีในการปลูกมากที่สุด
Earthsight กล่าวว่า การทำลายสิ่งแวดล้อมในเซอร์ราโด “เป็นผลมาจากความโลภ การคอร์รัปชัน ความรุนแรง และการใช้กฎหมายที่อ่อนแอ ทำให้เกิดการขโมยที่ดินสาธารณะ และการยึดครองชุมชนท้องถิ่นอย่างโจ่งแจ้ง”
“ฝ้าย” ในบราซิล ผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและมนุษยธรรม ?
ในช่วงระหว่างปี 2014 - 2023 รัฐบาเยียของบราซิล ส่งออกฝ้ายอย่างน้อย 816,000 ตัน ทำให้ฝ้ายที่มาจากการรุกรานพื้นที่ป่าได้แพร่กระจายไปทั่วอุตสาหกรรมแฟชั่น ถูกผลิตเป็นเสื้อฮู้ด และเสื้อยืดวางจำหน่ายในสหรัฐ และยุโรป
จากรายงานของ Earthsight ระบุว่า SLC Agricola และ Horita Group ผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่ของบราซิล มีความเชื่อมโยงกับการทุจริตที่ดิน และการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยได้ข้อมูลจากกลุ่มประชาสังคม หน่วยงานของรัฐ และการตรวจสอบเอกสารของศาลในคดีการทุรจิตคอร์รัปชัน
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบริษัทปฏิเสธข้อหาดังกล่าว Horita Group ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ส่วน SLC Agricola กล่าวว่า บริษัทผลิตฝ้ายดำเนินการตามมาตรฐานที่เข้มงวด และมีนโยบายลดการตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ตั้งแต่ปี 2021
SLC และ Horita Group เป็นผู้จัดส่งฝ้ายไปยังแบรนด์เครื่องแต่งกายที่กำลังได้รับความนิยมในเอเชีย ได้แก่ H&M ฟาสต์แฟชั่นยอดนิยม รวมถึง Inditex บริษัทแม่ของ Zara และ Pull and Bear ซึ่งเมื่อปีที่แล้วทั้งสองบริษัทได้ผลิตเสื้อผ้าหลายล้านชิ้นจากผ้าฝ้ายที่ไม่ได้มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม และมนุษยธรรมจากบราซิล
ทั้งนี้ Inditex ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ซัพพลายเออร์ไม่ได้มาจากผู้ผลิตชาวบราซิลโดยตรง แต่ฝ้ายจากบราซิลคิดเป็น 1 ใน 4 ของการซื้อฝ้ายทั้งหมด ขณะที่ H&M กล่าวว่า ต้องการให้ซัพพลายเออร์ทุกรายจัดหาผ้าฝ้ายที่ยั่งยืน โดยมีมาตรฐาน และการรับรองที่น่าเชื่อถือเท่านั้น เช่น Better Cotton
Better Cotton ออกแบบมาตรฐานให้สามารถปรับขนาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยระบบที่เรียกว่า “สมดุลมวลสาร” (Mass Balance) เพื่อหลีกเลี่ยงความซับซ้อนในการติดตามฝ้ายมาใช้ในซัพพลายเชน นั่นหมายความว่าเมื่อแบรนด์ต่างๆ ที่เป็นสมาชิก Better Cotton จะได้เครดิตที่รับประกันปริมาณการผลิตที่ได้รับการรับรองเข้าสู่ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ แต่นั่นอาจไม่ใช่วัตถุดิบที่พวกเขาได้รับในท้ายที่สุด
ขณะนี้โครงการได้เร่งออกมาตรฐานการรับรองฝ้ายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ทันกับการต้องการผลิตสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น Better Cotton คิดเป็น 1 ใน 5 ของการผลิตฝ้ายทั่วโลก โดยประมาณ 40% ของการผลิตฝ้ายในบราซิลได้รับการรับรองจาก Better Cotton ซึ่งมากกว่า 80% ของฝ้ายบราซิลที่ผ่านการรับรองมาจากเซอร์ราโดทั้งสิ้น นี่จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการรับรองมาตรฐาน แม้โครงการจะบอกว่าการประเมินทั้งหมดดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบอิสระก็ตาม
Better Cotton ระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบโดยอิสระเกี่ยวกับประเด็นนี้ และจะเผยแพร่ผลการตรวจสอบเร็วๆ นี้
เตรียมออกกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น
สหภาพยุโรปเตรียมกฎใหม่ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยจะมีผลบังคับใช้ในปลายปีนี้ แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีครอบคลุมซัพพลายเชน และการผลิตฝ้ายที่กำลังเป็นปัญหาในบราซิล ขณะที่สหรัฐ และสหราชอาณาจักรกำลังพิจารณากฎหมายในลักษณะเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะชอบกฎหมายที่เข้มงวด ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศไม่พอใจกับกฎหมายที่เตรียมออกนี้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ หลังจากที่บริษัทบางแห่งกล่าวว่าพวกเขาจะถอนตัวออกจากพื้นที่ ที่มีโอกาสตัดไม้ทำลายป่าสูง โดยไม่มีคิดจะแก้ปัญหาเหล่านี้
ประธานาธิบดี ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล ปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายในประเทศนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2022 แต่การแผ้วถางที่ดินขนาดใหญ่ในเซอร์ราโดนั้นได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายบราซิล ช่องโหว่ทางกฎหมายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา นักรณรงค์ กล่าว
“พวกเขามักกล่าวว่า สามารถเสียสละป่าไม้ของเซอร์ราโดได้ เพื่อให้ธุรกิจการเกษตรสามารถขยายตัวได้โดยไม่คุกคามอเมซอน” อังเดร ซาคราเมนโต ผู้ประสานงานของสมาคมทนายความแรงงานชนบท (AATR) กล่าว
ที่มา: Business of Fashion, Euro News, Frontline, Phys
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์