'ไมโครพลาสติก' กระทบสิ่งแวดล้อม ภัยเงียบสุขภาพ
ไมโครพลาสติก อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เกิดจากการย่อยสลายของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ นอกจากจะเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทั่วโลกแล้ว ยังเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพด้วย
KEY
POINTS
- ไมโครพลาสติก (Microplastics) อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก
- ถือเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทั่วโลก เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ทำให้ยากต่อการเก็บและการกำจัด
- สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของไมโครพลาสติก สามารถส่งผลเสียสุขภาพ รบกวนการทำงานระบบต่อมไร้ท่อ ขัดขวางพัฒนาการเรียนรู้ในวัยเด็ก และยับยั้งการทำงานของระบบสืบพันธุ์
ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน
ไมโครพลาสติก มีกี่ประเภท
กรมวิทยาศาสตร์บริการ อธิบายว่า ไมโครพลาสติก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. Primary microplastics เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (Plastic pellet) เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน (Plastic scrub) ซึ่งมักเรียกกันว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดสครับ ไมโครพลาสติกประเภทนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำ และไหลลงสู่ทะเล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘ไมโครพลาสติก’ ซ่อนอยู่ทุกที่ แม้แต่อาหาร ‘Plant-Based’
- วิจัยพบคนที่มี ‘ไมโครพลาสติก’ ในร่างกาย เสี่ยง ‘โรคหัวใจ’ ตายไวขึ้น 4.5 เท่า
- ‘ไมโครพลาสติก’ จากทะเลสู่อาหาร
2. Secondary microplastics เป็นพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ หรือมาโครพลาสติก (Macroplastic) ซึ่งสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานเกิดการย่อยสลายหรือแตกหัก โดยกระบวนการย่อยสลายพลาสติกขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กนี้สามารถเกิดได้ทั้ง
- กระบวนการย่อยสลายทางกล (Mechanical degradation)
- กระบวนการย่อยสลายทางเคมี (Chemical degradation)
- กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biological degradation)
- กระบวนการย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์ (UV degradation)
ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออก ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก กลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำ และทะเล
ไมโครพลาสติก กระทบระบบนิเวศ
ปัจจุบันไมโครพลาสติก กลายเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทั่วโลก เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ทำให้ยากต่อการเก็บและการกำจัด รวมถึงมีคุณสมบัติที่คงสภาพ ย่อยสลายได้ยาก เมื่อมีการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลพบได้ทั้งในน้ำ และตะกอนดิน
หากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินเอาไมโครพลาสติกเข้าไป ทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (Food chain) และสามารถถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ที่กินเม็ดไมโครพลาสติกเข้าไป เช่น การทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือด และมีผลกระทบต่อระบบหัวใจ
อีกทั้ง ยังมีรายงานเกี่ยวกับสารที่เป็นองค์ประกอบ และพบการปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติกมักเป็นสารพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
ไมโครพลาสติก กระทบทางเดินหายใจ ระบบสืบพันธุ์
ข้อมูลจาก อาจารย์ ดร.ภญ.ชญานิน กีรติไพบูลย์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ผลกระทบต่อสุขภาพของ “ไมโครพลาสติก” ข้อมูลในปัจจุบันได้จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง และเซลล์เพาะเลี้ยงที่จำลองสภาวะใกล้เคียงกับอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ พบว่า ไมโครพลาสติกส่งผลเสียต่อการทำงานหลายระบบ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบสืบพันธุ์ รวมถึงขัดขวางพัฒนาการของตัวอ่อนภายในครรภ์มารดาอีกด้วย
ผลการวิจัย พบว่า ไนลอน ไมโครไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไมโครพลาสติกชนิดหนึ่ง ทำให้เนื้อเยื่อปอดที่เพาะเลี้ยงมีจำนวน และขนาดของเซลล์ในทางเดินหายใจลดลงมากกว่า 50% โดยมีสาเหตุมาจากสารเคมีที่ปลดปล่อยจากไมโครไฟเบอร์
สำหรับ ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน พบว่า ไมโครพลาสติกมักจะปนเปื้อนกับอนุภาคโปรตีนแปลกปลอม หรือจุลชีพที่พบในสิ่งแวดล้อม ทำให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจับกินอนุภาคไมโครพลาสติก และตายลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่นำไปสู่ปฏิกิริยาการอักเสบที่รุนแรง และทำให้โรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหารกำเริบได้
นอกจากนี้ สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของไมโครพลาสติกก็สามารถส่งผลเสียได้เช่นกัน Bisphenol A ที่ช่วยให้พลาสติกมีความแข็ง รบกวนการทำงานระบบต่อมไร้ท่อ ขัดขวางพัฒนาการเรียนรู้ในวัยเด็ก และยับยั้งการทำงานของระบบสืบพันธุ์ Phthalates ที่ช่วยให้พลาสติกอ่อน และยืดหยุ่น ขัดขวางพัฒนาการของทารกในครรภ์ ลดการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และโรคอ้วน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเก็บข้อมูล และต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้
ไมโครพลาสติก ต่อสุขภาพของมนุษย์
ปัจจุบันนักวิจัยกำลังศึกษาปริมาณของไมโครพลาสติกจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และภายในที่อยู่อาศัย เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาปริมาณของไมโครพลาสติกที่เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อมูลเกี่ยวข้องกับปริมาณไมโครพลาสติกที่สร้างผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การวิจัยในขั้นนี้มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อจำกัดของวิธีวิเคราะห์อนุภาคที่มีขนาดเล็ก และคุณสมบัติทางกายภาพเคมีที่หลากหลายของอนุภาคไมโครพลาสติก ได้แก่ รูปร่าง ขนาด และสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งทำให้ความรุนแรงของอันตรายต่อร่างกายมนุษย์แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติดังกล่าวอีกด้วย
ปัจจุบันหลายประเทศห้ามใช้ไมโครพลาสติก ได้แก่ ไมโครบีดส์ (microbeads) ในการผลิตเครื่องสำอาง และยาสีฟัน อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อกำหนดสำหรับปริมาณไมโครพลาสติกชนิดอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์อุปโภคที่จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และมาตรการสำหรับการเฝ้าระวังอันตรายยังมีจำกัด
วิธีหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติก
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยให้เราลดปริมาณไมโครพลาสติกที่จะเข้าสู่ร่างกาย และลดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การทำให้อากาศถ่ายเทโดยการเปิดหน้าต่าง ดูดฝุ่นเป็นประจำเพื่อกำจัดฝุ่นบนพื้นผิว ซึ่งมักจะมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ ดูแลเครื่องฟอกอากาศให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครบีดส์เป็นส่วนประกอบ เลือกใช้เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้าย ลินิน กัญชง
และหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น อะคริลิค และโพลีเอสเตอร์ เพื่อลดการปลดปล่อยไมโครพลาสติกระหว่างการใส่ และการซัก ซึ่งจะทำให้ไมโครพลาสติกปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และภาคการเกษตรได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนำภาชนะพลาสติกมาอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ แม้ภาชนะนั้นจะสามารถใช้กับไมโครเวฟได้ และหลีกเลี่ยงการวางขวดน้ำพลาสติกบริเวณที่โดนแสงแดดโดยตรง เป็นต้น
การจัดการ ไมโครพลาสติก ในสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนะว่า การจัดการปัญหาไมโครพลาสติกที่นิยมคือ การลดจำนวนไมโครพลาสติกที่จะเข้าสิ่งแวดล้อมโดยการเลิก การห้ามใช้ การลดการใช้ถุงพลาสติก การใช้พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ชนิดที่ย่อยสลายได้ (Compostable bioplastic) รวมไปถึงกระบวนการจัดการกับขยะพลาสติกต่างๆ เช่น การใช้ช้ำ การดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และการรีไซเคิล ซึ่งเป็นวิธีการที่จะลดไมโครพลาสติกเข้าสู่สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง
ไมโครพลาสติก เป็นผลมาจากการใช้พลาสติก จากผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก หรือมีส่วนประกอบของพลาสติก ซึ่งได้แฝงตัวอยู่รอบตัวจากผลิตภัณฑ์ที่คาดไม่ถึง เช่น เครื่องสำอาง ยาสีฟัน เป็นต้น ซึ่งเป็นภัยเงียบที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์ซึ่งถือว่าอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร
ดังนั้น เราควรให้ความสำคัญถึงการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น โดยการสร้างจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้น้อยลง ปฏิบัติตามหลัก 3R ได้แก่ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) หรือแปรรูป (Recycle) เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากไมโครพลาสติกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
อ้างอิง : กรมวิทยาศาสตร์บริการ , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์