รู้จัก ‘สนธิสัญญาพลาสติกโลก’ ทางออก ‘ปัญหาขยะพลาสติก’ ของไทย และทั่วโลก

รู้จัก ‘สนธิสัญญาพลาสติกโลก’ ทางออก ‘ปัญหาขยะพลาสติก’ ของไทย และทั่วโลก

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” หรือ “Global Plastic Treaty” เตรียมประกาศใช้ในปี 2568 ความหวังที่จะแก้ไข “ปัญหาขยะพลาสติก” และอาจเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ความตกลงปารีส

ขยะพลาสติก” กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก หลายประเทศประสบกับปัญหา “ขยะล้นเมือง” แต่นั่นยังไม่เป็นอันตรายเท่ากับ “ไมโครพลาสติก” พลาสติกที่แตกตัวออกกลายเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งสามารถพัดพาไปทั่วโลก แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดอย่างขั้วโลกเหนือก็ยังพบไมโครพลาสติก

ไมโครพลาสติก กลายเป็นมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งในแหล่งน้ำ พื้นดิน และในอากาศ แทรกแซงห่วงโซ่อาหาร มีการศึกษาหลายชนิดที่ ตรวจพบไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติกหลายประเภทในเนื้อเยื่อของมนุษย์ รวมถึงลำไส้ใหญ่ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง รก และแม้แต่ในเลือดของมนุษย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้นำจากประเทศทั่วโลก จึงได้พยายามผลักดันให้เกิด “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก

 

กำเนิด “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” 

2 มีนาคม 2565 มีการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ในโอกาสนั้น ผู้นำจากประเทศทั่วโลกได้มีมติสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติที่ 5/14 กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee - INC) โดยมีภารกิจจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่าด้วยมลพิษพลาสติก รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งอยู่บนฐานของแนวทางที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก

หลังจากนั้นการประชุมของ INC จึงเริ่มมีการกล่าวถึง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” หรือ “Global Plastic Treaty” ซึ่งคาดหวังว่าจะมาตรการทางกฎหมายนี้จะต้องมีความสำคัญ และมีขอบเขตอำนาจสูง โดย อิงเจอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เคยกล่าวว่า

“สนธิสัญญาพลาสติกโลก” อาจเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ความตกลงปารีส

ปัจจุบัน สนธิสัญญาพลาสติกโลก ยังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมาย เนื่องจากมีหลาย ประเด็นที่แต่ละประเทศยังตกลงกันไม่ได้ แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการประชุม INC-5 ที่จัดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงปลายปี 2567 หลังจากนั้นในปี 2568 จะมีการประชุมระหว่างประเทศครั้งใหญ่เพื่อจัดตั้งมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และเปิดให้มีการลงนาม

สนธิสัญญาพลาสติกโลก จะมีโครงสร้างที่ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก โดยกำหนดให้มีมาตรการในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้งาน การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล การจัดการขยะ การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบหรือ ได้รับผลกระทบแล้ว

INC กำลังหาข้อสรุปเกี่ยวกับการตั้งเป้าลดการผลิตพลาสติก รวมถึงการกำหนดมาตรการให้ทุกประเทศที่ลงนามเลิกผลิตหรือใช้พลาสติกบางประเภท เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไมโครพลาสติกแต่งเติม หรือ มาตรการในการเลิกใช้สารเคมีบางประเภทในพลาสติก ตลอดจนการตั้งเป้าในการจัดตั้งระบบใช้ซ้ำ และระบบเติม และการบังคับให้ผู้ผลิตพลาสติกขยายขอบเขตความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น เช่น มีมาตรฐานในการรีไซเคิลและการจัดการขยะพลาสติกที่เป็นสากล โดยหัวข้อเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นหลักในการประชุม INC-4 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเม.ย. ที่แคนาดา

“สนธิสัญญาพลาสติกโลก” สำคัญอย่างไรกับประเทศไทย

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ โดยส่วนใหญ่จะถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่งานวิจัยของ ลอเรนส์ เจ.เจ. ไมเยอร์ พบว่าประเทศไทยติดอันดับ 10 ของประเทศที่ปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลด้วยจำนวน 22,806 ตันต่อปี เป็นเพราะระบบการจัดขยะของประเทศไทยมีคุณภาพไม่ดีพอ

ด้วยเหตุนี้ องค์กรภาคประชาสังคม 3 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เล็งเห็นถึงความสำคัญของมาตรการทางกฎหมายฉบับนี้ จึงร่วมจัดงาน “สนธิสัญญาพลาสติกโลก สู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเพื่อประกาศจุดยืนให้มาตรการทางกฎหมายฉบับนี้ทะเยอทะยาน คำนึงถึงสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติมลพิษพลาสติกเพื่อโลกที่ยั่งยืน สะอาด และเป็นธรรม 

โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาล 175 ประเทศทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลไทย สร้างสนธิสัญญาพลาสติกที่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยต้องมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน มีกรอบเวลาชัดเจน มีกลไกการเงิน ดังนี้

1.ลดการผลิตพลาสติกอย่างจริงจัง ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้ 

2.กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

3.กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน

4.กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก และค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม

5.กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อย และเคลื่อนย้ายสารเคมี และมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ

6.ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น

7.ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา

8.กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก

9.กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึง ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงาน และแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์