เสียงครวญเกษตร ร้อนจัด อากาศแปรปรวน-พายุ กระหน่ำ กระทบหมูเสียหายพุ่ง
ผู้เลี้ยงหมูหลังแอ่น แบกรับต้นทุนการผลิต ซ้ำอากาศแปรปรวน ร้อนจัด ภัยแล้ง ปัจจัยหลักส่งผลสัตว์อ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย อัตราเสียหายเพิ่มขึ้น วอนเข้าใจเกษตรกร หวังให้กลไกตลาดทำงาน
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนอย่างมาก จากอากาศระหว่างวัน ช่วงเช้าถึงเย็นร้อนจัด อุณหภูมิสูงถึงกว่า 38 – 40 องศาเซลเซียส ต่างกับช่วงค่ำถึงรุ่งเช้าที่อุณหภูมิลดลงไปที่อยู่ที่ 24-26 องศาเซลเซียส ทำให้สุกรปรับสภาพไม่ทัน และในบางพื้นยังมีพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง และมีลูกเห็บตกซ้ำเติม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสุกรเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดอัตราเสียหายสูงขึ้นอีก
“ปกติอากาศร้อนก็ทำให้สุกรโตช้า จากความเครียด ที่ทำให้กินอาหารน้อยลงอยู่แล้ว เมื่อต้องมาประสบกับสภาพอากาศแปรปรวน ยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสุกร โดยเฉพาะในลูกสุกรแรกคลอด และแม่สุกรช่วงปลายของการอุ้มท้อง โดยลูกสุกรจะมีสภาพอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย ด้านแม่สุกรเกิดความเครียด ซึ่งบางส่วนอาจถึงกับเกิดภาวะแท้ง ทำให้ผลผลิตสุกรเกิดความเสียหายและมีปริมาณลดลง อัตราการสูญเสียในฟาร์มสูงกว่า 30-40%”
ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือสูงถึง 82-85 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยทั่วประเทศของผู้เลี้ยงรายย่อยอยู่ที่ 78-80 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ประกาศราคาสุกรหน้าฟาร์มโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติล่าสุดอยู่ที่ 70-75 บาทต่อกิโลกรัม ตามอุปสงค์-อุปทาน แต่เกษตรกรขายได้จริงเพียง 65 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ผู้เลี้ยงสุกรจึงยังคงอยู่ในภาวะขาดทุนสูง หากผลผลิตถูกกดราคาเช่นนี้ เกษตรกรเลี้ยงสุกรต่อไปไม่รอดแน่นอน
นอกจากนี้ หากเกษตรกรมีการจัดการป้องกันโรคไม่ดี ต้นทุนจะสูงขึ้นมากกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม และในฟาร์มที่ประสบปัญหาภัยแล้งน้ำไม่พอใช้ จนต้องซื้อน้ำใช้ โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ปัญหานี้ยิ่งชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงกว่าในปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรอาจตัดสินใจหยุดเลี้ยง ผู้เลี้ยงหวังเพียงให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี เพื่อต่อลมหายใจของเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ ปัญหาความแห้งแล้ง ไม่เพียงกระทบกับปริมาณน้ำให้สุกรกินมีไม่เพียงพอเท่านั้น ยังตามมาด้วยปัญหาคุณภาพน้ำที่แย่ลง มีความสกปรกสูง สุกรที่กินน้ำสกปรกมีโอกาสท้องร่วงมากขึ้น ขณะเดียวกัน โรคสำคัญในสุกรยังคงมีอยู่ ทั้งปัญหาต่อเนื่องจากโรคอหิวาแอฟริกาในสุกร (ASF)และโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED)ที่พบมากในช่วงฤดูกาลนี้ ปัญหาดังกล่าวสร้างความเสียหายค่อนข้างมากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร
นายสินธุ ปัญญาศักดิ์ สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน อ.เมือง จ.ลำพูน กล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศที่ร้อนมาก และมีแนวโน้มที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในการนำสุกรเข้าเลี้ยง จึงลดความเสี่ยงด้วยการลดปริมาณสุกรเข้าเลี้ยง โดยเลี้ยงให้บางลง เพื่อป้องกันปัญหาอากาศร้อน ที่กระทบตัวสัตว์ทำให้เครียดง่าย กินอาหารน้อยลง ส่งผลให้การเติบโตช้า ขณะเดียวกัน สัตว์อ่อนแอและเจ็บป่วยง่ายกว่าปกติ และการติดเชื้อโรคเกิดขึ้นง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดต่ำลง
นอกจากนี้ เกษตรกรยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากภาวะแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการเลี้ยงสุกร และคุณภาพน้ำไม่สะอาด เสี่ยงกระทบสุขภาพสุกร มีโอกาสเกิดโรคท้องร่วง ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพสัตว์เป็นพิเศษ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการจัดเตรียมน้ำให้เพียงพอและการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำไปใช้ ขณะเดียวกัน โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร หรือโรคPEDที่พบมากในช่วงฤดูกาลนี้ ยังเป็นอีกปัญหาที่สร้างความเสียหายค่อนข้างมาก
“ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วประเทศ เหลือเพียง50,000กว่าราย จากที่เคยมีถึงกว่า200,000ราย จากปัญหาโรคในสุกรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซ้ำยังได้รับผลกระทบจากราคาสุกรตกต่ำ จากกรณีหมูเถื่อนที่แอบลักลอบนำเข้ามาดัมพ์ตลาดในประเทศ ที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ในขณะนี้ เมื่อมีปัญหาร้อนแล้งและโรคสุกรเข้ามาสมทบ ทำให้การสูญเสียในฟาร์มสูงถึง30-40%ผลผลิตสุกรมีปริมาณลดลง และยังต้องมีภาระในการซื้อน้ำใช้อีก จึงต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น สวนทางการราคาขายสุกรหน้าฟาร์ม จนเกษตรกรหลายรายมีความคิดที่จะหยุดเลี้ยงเพื่อรอดูสถานการณ์ ซึ่งจะกระทบกับปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน”
การที่ผู้เลี้ยงสุกรเลี้ยงแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ จากการลดจำนวนการเลี้ยง ทำให้ปริมาณสุกรขุนลดลง จะส่งผลให้ราคาอาจปรับสูงขึ้นบ้างจากเหตุผลข้างต้น ซึ่งการปล่อยราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญของผู้เลี้ยง เพื่อให้ยังคงยืนหยัดเลี้ยงสุกรต่อไป และมั่นใจว่าจะสามารถขายสุกรได้ในราคาตามอุปสงค์อุปทานที่แท้จริง ไม่ต้องเผชิญภาวะขาดทุนสะสมดังเช่นที่ผ่านมา