จุดประกาย ขยายผลการจัดการขยะมูลฝอยเกาะลันตา
เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวเกือบทั่วทุกมุมโลก ที่อยากมาสัมผัสความสวยงามของแนวชายฝั่ง และทรัพยากรใต้ทะเล จนได้รับการจัดลำดับจากนิตยสาร Forbes เป็น 1 ใน 6 เกาะที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก
และขึ้นแท่นเป็นทะเลที่มีคนทั่วโลกค้นหา หรือ Google Search มากที่สุดอันดับ 1 กว่า 5 ปี มีการขยายตัวทางการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โรงแรม/ที่พัก รีสอร์ต ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ มากกว่า 200 แห่ง
เมื่อปี 2566 มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยว หรือ High season แต่ที่ผ่านมานี้ แทบไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดปัญหาขยะสะสมตกค้างมากกว่า 45,000 ตัน
ขยะเหล่านี้มาจากสถานประกอบการ และนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจากบ้านเรือนบนเกาะที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ราว 36,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม และมีประชากรแฝงที่เข้ามาอีกนับหมื่นคน โดยเฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยว
ทั้งยังมีขยะที่คลื่นลมทะเลพัดพาเข้ามาเป็นประจำ จนยากที่คิดอ่าน และจัดการกันเอง สถานที่ใช้ฝังกลบที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอ เพราะพื้นที่เกาะส่วนใหญ่เป็นภูเขา และแนวชายฝั่งแคบๆ การขนย้ายไปจัดการบนฝั่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้มีขยะบางส่วนหลุดรอดลงสู่ทะเล
ปฏิบัติการจัดการขยะเกาะลันตาตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเกิดขึ้น เมื่อต้นปี 2565 เริ่มจากคุ้ยขยะบางส่วนจากกองมหึมา ออกมาศึกษาองค์ประกอบว่ามีอะไรอยู่บ้าง
สิ่งที่ค้นพบก็คือ ส่วนใหญ่เป็นเศษอาหาร และกิ่งไม้ ใบไม้ รวมกันเกือบ 40% และพลาสติก 26% นอกจากนั้นเป็นเศษวัสดุอื่นๆ ทั้งที่นำไปรีไซเคิลได้ และไม่ได้ รวมทั้งขยะเป็นพิษ และติดเชื้อ นำไปสู่การวางแผน และกำหนดกิจกรรม
จากนั้น สร้างความเข้าใจว่า “ขยะ” ที่สังคมเห็นว่าไร้ค่านั้นยังมีประโยชน์ จึงเรียกมันว่า “วัสดุ” ส่วนที่ต้องกำจัด เรียกว่า “ขยะ” ซึ่งไม่ค่อยคุ้นชินกัน จึงต้องช่วยกันย้ำบ่อยๆ
สิ่งที่สำคัญก็คือ การเชื่อมโยงและร้อยพลังความร่วมมือของชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านรับซื้อของเก่า ซาเล้ง ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว หน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เกาะลันตา ช่วยกันคนละไม้คนละมือ
จนเกิดเป็นรูปแบบความร่วมมือในการจัดการมูลฝอยต้นทาง หมุนเวียนใช้ทรัพยากร สร้างประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าวัสดุ ลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบ มุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
โมเดลความร่วมมือบริหารจัดการมูลฝอย และพลาสติกเกาะลันตาที่เกิดขึ้น ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับประเภท และปริมาณมูลฝอย กำหนดเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะและลดปริมาณขยะกำจัดยังหลุมฝังกลบ ส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ทรัพยากรให้คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
พร้อมทั้งวิเคราะห์ และแสวงหาความร่วมมือให้ครอบคลุมกิจกรรม และพื้นที่ ยึดหลักการจัดการแบบมีส่วนร่วมและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำวัสดุบางส่วนหมุนเวียนใช้ประโยชน์บนเกาะ บางส่วนรวบรวมไปขายสร้างรายได้ ทำให้สามารถช่วยลดปริมาณขยะกำจัดยังหลุมฝังกลบ เกิดการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ในปี 2566 มูลฝอย 8.91 ตัน ได้ถูกรวบรวมโดยคนเกาะลันตาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี 97% ถูกนำมาใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่า 3% ถูกส่งกำจัดด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 53,155 kgCO2e สร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่ายรวม 0.52 ล้านบาท และช่วยลดต้นทุนการจัดการมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ 0.11 ล้านบาท
การดำเนินการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากง่ายไปยากจนเกิดความมั่นใจในรูปแบบ หรือขั้นตอนการดำเนินงานที่เหมาะสม และดีที่สุด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ และขยายผลการปฏิบัติในพื้นที่อื่นให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และบริบทของพื้นที่ โดยทุกฝ่ายต้องมองเห็นปัญหาร่วมกัน และเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทำ
ช่วยกันส่งต่อเพื่อให้เกิดระบบการจัดการที่ต้นทาง กลางทาง และนำส่งไปใช้ประโยชน์ยังปลายทางได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้การจัดการมูลฝอยเกิดขึ้นได้ และค่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้น อีกทั้งต้องได้รับการเสริมพลังจากหน่วยงานภายนอกร่วมด้วย
ในการขับเคลื่อนโมเดลความร่วมมือนี้ ควรเริ่มจากวิเคราะห์สภาพปัญหา และกลไกคนทำงานในพื้นที่ มีกิจกรรมหรือแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับสถานการณ์ บริบท และศักยภาพของชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการมีเจ้าภาพหลักที่ชัดเจน แล้วค่อยพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย และเชื่อมโยงความร่วมมือ
พร้อมทั้งมีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันผลักดัน และบูรณาการความร่วมมือให้เป็นไปตามความเหมาะสม ตั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากที่มีอยู่เดิม
อย่างไรก็ตาม การจัดการมูลฝอยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเก่าที่ควรมองข้าม เพราะมนุษย์เรามีการผลิตและการบริโภคทุกวัน การจัดการมูลฝอยจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่ต้องตระหนัก และช่วยกัน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งที่จะทำได้โดยลำพัง
* การดำเนินงานภายใต้โครงการ การพัฒนาโมเดลความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การจัดการขยะ และพลาสติกด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เกาะของประเทศไทย กรณีศึกษาพื้นที่เกาะลันตา ดำเนินงานโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ด้วยความร่วมมือกับอำเภอเกาะลันตา และ 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำร่องแนวปฏิบัติที่ดีใน 8 ชุมชน 5 โรงเรียน 6 ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และ 3 เกษตรกร
สนับสนุนโดยหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ PPP Plastics
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์