'ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย' หวั่นกระทบแรงงาน และเศรษฐกิจ

'ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย' หวั่นกระทบแรงงาน และเศรษฐกิจ

ความเสี่ยงด้านความยั่งยืนไม่ได้มีแค่ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการหยุดชะงักทางประชากรศาสตร์ สังคมผู้สูงอายุ และคุณภาพชีวิตของเด็กเกิดใหม่ ส่งผลต่อประเทศเช่นกัน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานหลักสูตร MISSION WE กล่าวในงานสัมมนา THE NEXT CHAPTER "เจาะลึกบทใหม่ ของโลกใบเดิม"  จัดโดย สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ ว่า DEMOGRAPHIC DISRUPTION หรือการหยุดชะงักทางประชากรศาสตร์ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

เพราะประเทศไทยนั้นมีอัตราของผู้สูงอายุที่สูงมาก แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว ซึ่งไทยนั้นมีผู้สูงอายุประมาณ 13 ล้านคนคิดเป็น 19% ของประชากรทั้งหมด รองจากสิงคโปร์ โดยทั่วโลกนั้นมีอัตราผู้สูงอายุทั้งหมด 14% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยประเทศไทยนั้นมีผู้สูงอายุเฉลี่ยอายุ 41 ปี ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ภายในปี 2585 ประชากรไทยทั้งหมดจะเหลือ 33 ล้านคน จาก 69 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดของประเทศไทย  

ทั้งนี้การลดลงของประชากรไทยยังส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการลงทุนในระยะยาวจากบริษัทต่างชาติในอีกหลายๆ ประเทศ ภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุมากถึง 18 ล้านคน คนส่วนใหญ่ในประเทศแก่ก่อนที่จะรวย ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณอายุ อย่างการเจ็บป่วยที่ต้องใช้เงินรักษาอย่างมาก เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ในขณะที่บัตร 30 บาทรักษาทุกโรคก็ยังไม่ครอบคลุม

ต้องมีการสร้างสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงให้สามารถกลับมาในระบบแรงงานได้ สามารถเพิ่มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก ในขณะที่รัฐบาลในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมายั่งไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง จะมีคนทำงาน ไม่มีกำลังซื้อ และการลงทุนจากต่างประเทศอีกเลย

นอกจากนี้อัตราการเกิดภายในประเทศมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี อยู่ที่ประมาณ 5 แสนคนต่อปีซึ่งน้อยกว่าอัตราการตายของคนในประเทศ โดยปัจจัยที่อัตราการเกิดน้อยคงหนีไม่พ้นด้านความมั่นคงในด้านต่างๆ ภายในประเทศ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกที่ไม่มีลูก ซึ่งคุณภาพของเด็กที่ต่ำกว่าอายุ 15 ปี ประมาณ 57% อยู่ในครอบครัวที่ยากจนใน 40% ของประเทศ ในบางครอบครัวไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ทั้งในด้านร่างกาย โภชนาการในด้านต่างๆ ที่เข้าไม่ถึง  จะทำให้ในอนาคต ความฉลาดทางด้านสติปัญญา (IQ) ของเด็กจะต่ำลงเรื่อยๆ 

ในด้านของการศึกษานั้นภายในประเทศยังมีปัญหาด้านบุคลากรทางการศึกษา หรือครูไม่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้เด็กขาดทักษะต่างๆ ที่ต้องใช้ในงานซึ่งเป็นส่วนขับเคลื่อนของประเทศซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไข ปัญหาการหยุดชะงักทางประชากรศาสตร์ทั้งหมดนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ทำให้ GDP ไม่เกิน 2% และมีโอกาสลดลงได้ในอนาคต

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์