สวก. ดัน แมลงโปรตีนBSF ทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์

สวก. ดัน   แมลงโปรตีนBSF ทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์

สวก. ผนึกกำลังBEDOเขย่าวงการอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทยดัน“แมลงโปรตีนBSF” ขึ้นเทรนด์ธุรกิจใหม่ ลดต้นทุนอาหารสัตว์- กำจัดขยะอินทรีย์

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)หรือ สวก. สนับสนุนทุนด้านการนำผลงานวิจัย และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU: Research Utilization) ให้กับสํานักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)หรือBEDO ขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีเลี้ยงแมลงโปรตีน BSF สำหรับเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูงแก่เกษตรกรและชุมชน โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ และประมง ชูจุดเด่นลดต้นทุนอาหารสัตว์ โปรตีนสูง เลี้ยงง่าย โตไว ต้นทุนการเลี้ยงต่ำขยายพันธุ์เร็ว สามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้ภายใน14 วัน ช่วยลดรายจ่ายและสร้างรายได้ในระดับชุมชนควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

สวก. ดัน   แมลงโปรตีนBSF ทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์ สวก. ดัน   แมลงโปรตีนBSF ทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์

ดร. วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า จากแนวโน้มของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการเนื้อสัตว์เพิ่มมากขึ้น ให้ราคาอาหารสัตว์และวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ทั้งปลาป่น ข้าวโพด และถั่วเหลือง ในตลาดขยับราคาสูงขึ้นกว่า 30 – 40 % สอดคล้องกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ที่คาดการณ์ความต้องการอาหารสัตว์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 – 2567 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ล้านตันต่อปี

ถึงแม้อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์จะมีความพยายามเพิ่มปริมาณการผลิต แต่ยังคงติดปัญหาต่าง ๆ อาทิ การขยายพื้นที่เพาะปลูก การใช้ปุ๋ย แหล่งน้ำ แรงงาน ฯลฯจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์จำเป็นต้องมองทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน การผลิตอาหารสัตว์จากแมลง จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป จากรายงานพบว่าแมลงถูกใช้เป็นอาหารโปรตีนสำหรับสัตว์น้ำประมาณ 194,000 ตัน ในปี 2020 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

 สวก. มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรเป็นอันดับต้นๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมยกระดับและพัฒนาศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางภาคเกษตรและอาหารของโลก ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาทำเกษตรมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้น ทำน้อยแต่รายได้เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบนโยบายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดเร่งเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย3 เท่าภายใน 4 ปี

จึงได้สนับสนุนทุน RU ให้กับ BEDO เพื่อดำเนินโครงการ "การขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตแมลงโปรตีน (Hermetia illucens L.)สําหรับเป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ในระดับชุมชน”และจากผลการดำเนินโครงการพบว่า สามารถสร้างวิทยากรเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในระดับพื้นที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฎ จำนวน 10 แห่ง แก่เกษตรกรและผู้สนใจในพื้นที่ 22 จังหวัด รวม 713 คน ให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้และช่วยลดต้นทุนด้านอาหารได้ 50%

สวก. ดัน   แมลงโปรตีนBSF ทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์

ดร.ธนิต ชังถาวร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ว่าแมลงโปรตีน BSF (Black Soldier Fly) ประเทศไทยยังรู้จักและใช้ประโยชน์น้อยมาก BSF เป็นแมลงที่มีปีก 2 ปีก เช่นเดียวกับกลุ่มแมลงวันต่างตรงที่แมลงโปรตีนBSF เป็นแมลงที่ไม่เป็นพาหะนําโรคและไม่เป็นศัตรูพืชมีวงจรชีวิตจากระยะไข่สู่ระยะตัวเต็มวัย ประมาณ 13 – 18 วัน ในช่วงก่อนเข้าระยะดักแด้ มีโปรตีนสูง 42 – 54 % อีกทั้งยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นและกรดไขมันดีหลายชนิด จึงสามารถใช้ทดแทนแหล่งโปรตีนแบบดั้งเดิม เช่น ปลาป่น (โปรตีน 41 – 42 %) และ กากถั่วเหลือง (โปรตีน 50 – 60 %) 

ที่สำคัญในระยะตัวหนอน ดำรงชีพด้วยการกินขยะอินทรีย์จากพืชและสัตว์ จากการศึกษาพบว่า BSF สามารถลดปริมาณขยะอินทรีย์ได้ 90 % ในเวลา 14 วัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับขยะอินทรีย์ได้ 49 % และมูลจากการเลี้ยง ยังสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพหรือสารบำรุงดิน เนื่องจากมูลมีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งล้วนแต่เป็นสารอาหารที่จำเป็นและกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช

สำหรับโครงการขยายผลฯ ทาง BEDO ได้บูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดเกษตรกร ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่การใช้จริงของเกษตรกรในวงกว้าง โดยการใช้แมลงโปรตีน BSF นิยมใช้ร่วมกับอาหารสำเร็จรูปเพื่อเสริมโปรตีนในอาหารให้กับสัตว์เศรษฐกิจ และสัตว์มูลค่าสูง ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดเลือกใช้ BSF ที่แตกต่างกัน และจากการติดตามรายได้จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 343 ราย พบว่า

เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์โดยใช้หนอนแมลงโปรตีน BSF ร่วมเป็นอาหารสัตว์สามารถลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์และยาลงได้ถึง 50 % นอกจากนี้เกษตรกรยังได้ผลพลอยได้คือมูลแมลงโปรตีน BSF ประมาณ 11,871 กิโลกรัม/ปี สามารถใช้เป็นสารปรับปรุงดินในการปลูกผักและผลไม้ในฟาร์ม และมีราคาจำหน่ายเฉลี่ยที่ 42.14 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 500,278 บาท/ปี

สำหรับราคาขายแมลงโปรตีน BSF ในปัจจุบันจะมีราคาขายแตกต่างกัน ได้แก่ ไข่ ราคา 10 – 20 บาท / กรัม หนอนสดราคา 160 บาท / 300 กรัม หนอนอบแห้ง ราคา 300 – 600 บาท / กก. มูลหนอน ราคา 50 – 80 บาท / กิโลกรัม

ด้านนายธีระพงษ์ ฤทธิมนตรี เกษตรกรผู้ใช้แมลงโปรตีนBSF กล่าวว่า“ตนเองเปิดฟาร์มเลี้ยงไก่สวยงามมานานกว่า 30 ปีจากเดิมใช้หนอนนกผสมกับหัวอาหารร่วมกับวิตามินเสริมในการเลี้ยง แต่ระยะหลังหนอนนกมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500 – 600 บาททำให้ต้องประสบปัญหาต้นทุนอาหารสูง อีกทั้งต้องประสบปัญหาการป่วยตายของไก่ เนื่องจากเลี้ยงรวมกันในกรงประมาณ 5-6 ตัว ส่งผลให้ไก่เครียดรวมกับภูมิคุ้มกันต่ำทำให้ไก่ตาย ในปี 2566 จึงได้เข้าร่วมอบรมการเลี้ยงแมลงโปรตีน BSF กับทางมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา และนำมาใช้เลี้ยงไก่สวยงาม ด้วยความต้องการที่จะลดต้นทุน ซึ่งเมื่อเลี้ยงได้ 2 เดือน เริ่มเห็นผลชัดเจนว่าสามารถลดต้นทุนด้านอาหารได้จริง จากเดิมต้นทุนเฉลี่ยขั้นต่ำเดือนละประมาณ 15,000 บาท ลดเหลือเพียงเดือนละประมาณ 7,000 บาท และที่สำคัญคือเมื่อเข้า 3 เดือน กลับพบว่าสุขภาพไก่ดีขึ้น โตไวขึ้น ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นไม่เจ็บป่วยง่าย ไข่ดี บางตัวที่ไม่ไข่กลับมาไข่ และจากเดิมที่ต้องถ่ายพยาธิทุก 2 เดือน ปัจจุบันไม่ต้องถ่ายพยาธิอีกต่อไปแล้ว ผมจึงมั่นใจว่า แมลงโปรตีน BSF เป็นสิ่งพิเศษที่ไก่ควรได้รับและลดต้นทุนด้านอาหารได้จริงครับ”

สวก. ดัน   แมลงโปรตีนBSF ทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์

ด้านนางนุชกัญญา ลิ้มสุวัฒนา เกษตรกรผู้ใช้แมลงโปรตีนBSF กล่าวว่า“ตนได้เปิดฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดทั้งสดและแปรรูป ย้อนกลับไป 3 ปีที่แล้วได้ประสบปัญหาอาหารสำเร็จรูปสำหรับจิ้งหรีดมีราคาสูง 1 กระสอบ 30 กก. ราคา 600 บาททำให้ต้องมองหาอาหารตัวใหม่ที่ให้ประโยชน์เยอะ เสริมภูมิคุ้มกัน และที่สำคัญราคาต้องถูกลงกว่าเดิม จึงได้เข้าไปอบรมการเลี้ยงแมลงโปรตีน BSF และกลับมาลองใช้เลี้ยงจิ้งหรีดในฟาร์ม พบว่าจากเดิมต้องใช้อาหารเดือนละประมาณ 3,000 กก. เป็นเงิน 50,000 – 60,000 บาท หลังใช้ลดลงเหลือเดือนละประมาณ 30,000 บาท

นอกจากนี้ยังพบว่าจิ้งหรีดในฟาร์มแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อนพบว่าจิ้งหรีดตายเยอะมาก ซึ่งหลังจากใช้แมลงโปรตีนกลับพบว่าตายน้อยมาก ปัจจุบันทางฟาร์มได้เพาะ BSF ใช้เอง หากเพียงพอก็จะนำบางส่วนไปขาย โดยแต่ละเดือนจะขายได้ประมาณ 10,000 บาท นอกจากนี้ยังมีแผนจะนำมูลหนอนมาทำเป็นปุ๋ยคุณภาพสูงในการเลี้ยงไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชผักสวนขายในฟาร์มอีกด้วย”

“แมลงโปรตีน BSF” เป็นหนึ่งธุรกิจใหม่ที่ตอบสนองความยั่งยืนให้กับธุรกิจอาหารสัตว์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายระบบนิเวศ ที่สำคัญช่วยส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมการใช้ประโยชน์ สวก. เบอร์โทรศัพท์. 0 2579 7435 ต่อ 3307