บทบาทรัฐบาลในโลกที่ร้อนระอุ | บัณฑิต นิจถาวร

บทบาทรัฐบาลในโลกที่ร้อนระอุ | บัณฑิต นิจถาวร

เดือนเมษายนปีนี้อากาศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ ไม่ใช่เฉพาะที่ประเทศไทยแต่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ชี้ถึงความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่โลกกําลังเผชิญและผลต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลกที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นๆ

คําถามคือการแก้ปัญหาโลกร้อนขณะนี้ไปถึงไหนในระดับสากล และในบ้านเรารัฐบาลควรต้องทำอะไรเพื่อนําคนทั้งประเทศไปสู่การร่วมกันแก้ปัญหาที่จะช่วยลดความรุนแรง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ภาวะโลกร้อนเป็นมหันตภัยต่อมนุษยชาติที่เกิดจากพฤติกรรมคนในโลกในการใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และเผาผลาญสิ่งแวดล้อม เช่น ป่าไม้ จนเกิดการสะสมก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปริมาณที่มากในสุญญากาศโลก ทําให้อุณหภูมิความร้อนในโลกเพิ่มสูงขึ้น

คือเกิดภาวะโลกร้อน นำไปสู่ความแปรปรวนของภูมิอากาศ เช่น อากาศร้อนจัด ภัยแล้ง อุทกภัย และนํ้าในทะเลสูงขึ้น เป็นภาวการณ์ที่มีมากขึ้นเป็นลําดับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและรุนแรงมากขึ้นหลังปี 1950 จากการขยายตัวของการพัฒนาอุตสาหกรรมและจํานวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น

ทําให้มีความจำเป็นที่ประเทศทั่วโลกจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาโดยควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อนที่อุณหภูมิโลกจะสูงเกินแก้

ปัจจุบันความร่วมมือของประเทศต่างๆในการต่อสู้ภาวะโลกร้อนอยู่ในกรอบความตกลงปารีสปี 2015 ลงนามโดย 195 ประเทศรวมประเทศไทย ที่จะร่วมกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทําให้ได้ภายในปี 2100

โดยแต่ละประเทศมีเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยสมัครใจ แบ่งเป็นเป้าปี 2030 และ ปี 2050

บทบาทรัฐบาลในโลกที่ร้อนระอุ | บัณฑิต นิจถาวร

ในแง่ความคืบหน้า รายงานสถานะโลกร้อนปี 2023 (State of Climate Change 2023) ระบุว่าความคืบหน้ามีไม่เพียงพอ เครื่องชี้ 41 ตัวจากทั้งหมด 42 ตัวไม่เป็นตามเป้าปี 2030 และที่ไม่เป็นตามเป้ามากสุด คือ การลดการอุดหนุนของภาครัฐในการใช้พลังงานจากฟอสซิล การลดการทําลายป่า

และความไม่คืบหน้าในการพัฒนาระบบราคาคาร์บอน (Carbon pricing) ที่จะเป็นเครื่องมือให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยกลไกตลาด

ส่วนที่คืบหน้าก็เช่น สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และการเปิดเผยข้อมูลภาคบังคับของบริษัทธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการเรื่องโลกร้อน

ประเทศไทยประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40 เปอร์เซ็นต์จากกรณีปกติภายในปี 2030 สําหรับทุกภาคส่วน ซึ่งภาคใหญ่สุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย คือพลังงาน ขนส่ง และเกษตร

โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ทําหน้าที่ขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศผ่านการให้ความรู้ และพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตและกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่สำคัญทั้งต่อมนุษยชาติและความเป็นอยู่ของคนในประเทศ

สำหรับภาครัฐ บทบาทสำคัญสุดขณะนี้คือช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากภาวะโลกร้อนอย่างทันเวลาและทั่วถึง โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำในหลายจังหวัด

จากนั้นรัฐควรต้องตั้งหลักที่จะจริงจังกับการปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นระบบ เพราะเป็นความเป็นความตายของคนในประเทศ โดยเฉพาะด้านพลังงานที่เป็นต้นเหตุหลักของภาวะโลกร้อนในบ้านเรา

บทบาทรัฐบาลในโลกที่ร้อนระอุ | บัณฑิต นิจถาวร

ซึ่งภาครัฐมีอย่างน้อย 5 มาสเตอร์แพลนที่จะปรับการใช้พลังงานของประเทศไปสู่การใช้พลังงานทดแทน ซึ่งต้องทําจริงจัง

แต่สำคัญกว่านั้น คือการทําให้ประชาชนเห็นว่ารัฐ หรือ รัฐบาลจริงจังกับเรื่องนี้และพร้อมเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเพื่อเป็นตัวอย่างให้ภาคธุรกิจและประชาชนทำตาม รวมถึงรวมพลังคนในชาติเพื่อช่วยกันลดทอนความรุนแรงของปัญหา ซึ่งสําคัญมากในช่วง 5 ปีข้างหน้าที่คาดว่าปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นไปอีก และสิ่งที่รัฐบาลสามารถทําได้คือ

อันดับแรก ยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันเพราะการใช้น้ำมันหรือพลังงานซอสซิลคือที่มาของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การอุดหนุนราคา จึงเป็นการทําให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น สวนทางกับการแก้ปัญหา และจะไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและผู้ผลิตที่จะนําไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซํ้ายังเป็นภาระมหาศาลต่อการคลังของประเทศ

สอง ใช้กลไกราคาในรูปภาษีมาช่วยแก้ปัญหาภายใต้หลักการ "ใครทําใครจ่าย" คือใครสร้างความเสียหายต่อส่วนรวมในแง่ผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ทําให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินปรกติหรือสร้างมลพิษต่ออากาศ ผู้นั้นตัองจ่ายในรูปของการเสียภาษีเพื่อชดเชยความเสียหายต่อส่วนรวมที่เกิดขึ้น

เช่นใช้ Carbon tax กับผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานฟอสซิลและผู้บริโภคที่ใช้นํ้ามัน ภาษีลักษณะนี้จะตรงประเด็นต่อการแก้ปัญหาและไม่ยุ่งยาก

บทบาทรัฐบาลในโลกที่ร้อนระอุ | บัณฑิต นิจถาวร

สาม ภายใต้หลักการเดียวกัน สนับสนุนการพัฒนาตลาดคาร์บอนและกลไกลดก๊าซเรือนกระจกอย่างสมัครใจ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ภาคธุรกิจปรับตัว ปรับกระบวนการผลิต และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เช่น ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยภาครัฐวางนโยบายและระเบียบที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ให้ภาคเอกชนปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เรื่องนี้ปีที่แล้ว ธนาคารโลกแนะนำว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย

สี่ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ลงโทษการตัดไม้ทำลายป่า วางเป้าที่จะลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมที่ก่อปัญหามาก ควบคุมมลพิษ เก็บกักน้ำให้เพียงพอและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนปลูกป่าและรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงเฝ้าระวังไฟป่าและการเผาป่า

ห้า ออกมาตรการหรือสร้างแรงจูงใจหรือทําให้เป็นตัวอย่างการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่เน้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้ไฟฟ้า การใช้แอร์ในสถานที่ราชการ ประหยัดการใช้น้ำ แยกขยะ ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและการเดินทางที่ไม่จำเป็น เดินทางโดยขนส่งสาธารณะ เป็นตัวอย่างของคนในสังคมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาวะโลกร้อน

แน่นอนสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถแก้สถานการณ์โลกร้อนที่เรามีขณะนี้ได้ เพราะไม่มีใครทําได้ แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมสังคมจากจุดปัจจุบัน นําโดยผู้นําภาครัฐ อาจนําไปสู่สถานการณ์ในอนาคตที่จะไม่แย่ลงจากปัจจุบันมากหรือเร็วเกินไป หรืออาจดีขึ้นเพราะพลังความร่วมมือและความตั้งใจของสังคม

บทบาทรัฐบาลในโลกที่ร้อนระอุ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]