TGO พัฒนากลไก 'คาร์บอนเครดิต' สู่ Premium T-VER รับมือ Climate crisis
ก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาใหม่และต้องปรับตัว ขณะที่ทั่วโลกมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero การพัฒนากลไกคาร์บอนเครดิต จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ โดย TGO ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลมาตรฐาน ได้พัฒนากลไก 'คาร์บอนเครดิต' สู่ Premium T-VER รับมือ Climate crisis
วันที่ 25 เมษายน 2567 เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO บรรยายพิเศษ: T-VER Premium คาร์บอนเครดิต มาตรฐานใหม่สู่สากล ภายในงาน A Call to Action Go Green 2024 : The Ambition of Thailand จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัญหาทั้งหมดที่เรากำลังเจอคือ วิกฤติสภาพภูมิอากาศ (Climate crisis) ตั้งแต่หลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมมา 2.4 ล้านล้านตัน
จากรายงาน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) พบว่า ก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาใหม่ และต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นใช้ฟอสซิล ตัดต้นไม้ อุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ หรือ การปล่อยมีเทน ในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น เป็นสาเหตุว่าเราต้องกลับมาสู่ Net Zero
“การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ต้องใช้เวลา การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเกี่ยวข้องกับทุกคน การเปลี่ยนต้องใช้เวลา มาตรการที่ใช้กันคือ ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุน เมื่อปล่อยเกินก็ต้องจ่ายภาษี และการควบคุมอัตราการปล่อยของอุตสาหกรรม ซึ่งกฎหมายจะมีให้รายงานการปล่อย หรือให้สิทธิการปล่อยได้เท่าไร หากปล่อยเกินจะโดนค่าปรับ หรือปล่อยน้อยก็จะมีสิทธิเหลือ เรียกว่า “สิทธิการปล่อย” ซึ่งไม่เคยมีในไทยมาก่อน”
“ในตลาดโลกมีการใช้กฎหมายสิทธิการปล่อย โดยเฉพาะ EU เช่น กรณีของ CBAM ที่พูดถึงอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ที่ถูกกฎหมายควบคุมการปล่อย ใครที่มีสิทธิการปล่อยเหลือมาแลกเปลี่ยนกันได้ ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย และคาดว่าจะมีใน 3 ปี ก่อนปี 2030”
สิทธิการปล่อย อุตสาหกรรมต้องปรับ
เกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า สิทธิการปล่อยมีราคา ซึ่งแต่ละที่ไม่เท่ากัน สูงสุดเกือบ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน สิทธิการปล่อยคือ การบังคับ ทำให้อุตสาหกรรมต้องปรับตัว และแลกเปลี่ยนกัน ขายกันได้ แต่ไม่ใช่คาร์บอนเครดิต ขณะที่ “คาร์บอนเครดิต” เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ถูกควบคุม สามารถสมัครใจเข้ามาทำโครงการดีๆ ที่มีมาตรฐานบังคับว่ามีโครงการประเภทไหนบ้าง แล้วนำผลการลดก๊าซเรือนกระจกของโครงการไปแลกเปลี่ยนได้ ทำเป็นใบรับรอง ถ่ายโอนได้ เครดิตต้องทำตามมาตรฐาน
“คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เปรียบเสมือน “บาป” ผู้มีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ ทำกิจกรรมต่างๆ วันนี้จึงมีมาตรการที่สามารถคำนวณกิจกรรมที่ทำ วันนี้กำลังเกิดกระแสที่ทุกคนมาวัด และเรากำลังปรับตัว สำหรับ “คาร์บอนเครดิต” เปรียบเสมือน “บุญ” คือ ผู้ทำกิจกรรม ลดกักเก็บ ก๊าซเรือนกระจก ลดการซื้อ ลดการใช้ แต่ยากมากที่ทำให้เป็นศูนย์”
ดังนั้น จึงต้องแสวงหาตัวช่วย ผู้ทำกิจกรรม ลด หรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจก หรือ “เครดิต” เป็นโอกาสใหม่ เรียกว่า คาร์บอนเครดิต ภาคสมัครใจ แต่ต้องทำตามมาตรฐาน สามารถถ่ายโอนให้ฝั่งที่ไม่สามารถลดได้ เกิดตลาดการแลกเปลี่ยน และมีการรายงานออฟเซ็ตขึ้น เป็นส่วนลดการปล่อยสำหรับคนที่ไม่สามารถลดได้ต้องเป็นผู้ซื้อ
ซึ่งกำลังเจอกับความท้าทายสำหรับนักลงทุนที่จะมาซื้อหุ้น ซึ่งอาจถูกมองไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ ลูกค้า เริ่มมองว่าบริษัทน่าสนับสนุนสินค้าหรือไม่ ขณะที่ ธนาคาร เรื่องของ Green Taxonomy เริ่มมา สุดท้าย กฎหมาย
กลไก คาร์บอนเครดิต กลไกสู่ความเป็นกลาง
เกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า วันนี้ทุกคนเริ่มจะลด และเปิดโอกาสให้คนที่ทำคาร์บอนเครดิต ซึ่งต้องเป็นองค์กรที่ปล่อยน้อย ลด/ละ หรือ เลิกการปล่อย หรือมีเทคโนโลยีกักเก็บ อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการลงทุนที่อาจจะไม่คุ้ม ดังนั้น ต้องให้คนที่ไม่มีทางลดได้ช่วยลงทุน ซื้อ แลกเปลี่ยนกัน ทำให้ต้นทุนภาพรวมลดลง
วันนี้โลกเรากฎหมายที่เป็นภาษี กับกฎหมายเรื่องของสิทธิการปล่อย ช่วยได้เล็กน้อย แต่เรามี 67% จะเกิดจากผู้มีโอกาสแต่ไม่มีเงินมาทำโปรเจกต์ เช่น เอสเอ็มอี ดังนั้น เป็นโอกาสของกลุ่มที่ยังไม่ถูกควบคุมทางกฎหมายจะทำเครดิต โดย เครดิตมี 3 แบบ คือ International crediting mechanisms , National/Subnational crediting mechanisms และ Independent crediting mechanisms
“ในระดับประเทศ ทุกคนมุ่งไปสู่ Net Zero ต้องแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศ รวมถึงภาคการบินที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1% ราว 500 ล้านตัน และไม่อนุญาตให้ปล่อยเพิ่ม ต้องปรับเชื้อเพลิง ไม่เช่นนั้นจะต้องนำเอาเครดิตมาลบ รวมถึง ภาคการเดินเรือจะกำหนดเช่นกัน โดยไทยทำงานร่วมกับประเทศญี่ปุ่น และ สวิตเซอร์แลนด์อย่าง EV Bus”
สร้างเครือข่าย ก้าวสู่ Net Zero
ทั้งนี้ แนวทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย (Thailand’s Carbon Neutrality and Net Zero GHG Emission Pathway) มีการเพิ่มมาตรการสำคัญ เช่น เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อยร้อยละ 68 ในปี ค.ศ.2040 ร้อยละ 74 ในปี ค.ศ.2050
การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 69 ในปี ค.ศ.2035 ยุติการใช้ถ่านหิน ในปี ค.ศ.2050 การใช้เทคโนโลยี CCUS, ใช้เทคโนโลยี "การผลิตพลังงานชีวภาพด้วยการดักจับ และกักเก็บคาร์บอน (BECCS) , และเทคโนโลยี Direct Air Capture (DAC) and Storage รวมถึงการใช้พลังงานไฮโดรเจน (H2) ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ.2045
“แนวทางดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย หากบริษัทใหญ่ไม่ลด จำเป็นจะต้องสร้างอีโคซิสเต็มในประเทศ เป็นการผลักดันให้เกิดคาร์บอนเครดิต แลกเปลี่ยนกันระดับประเทศ โดยมีเครือข่าย Thailand Carbon Neutral Network (TCNN) กว่า 622 องค์กร ที่ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนก่อนที่กฎหมายกำหนด เป็นภาคสมัครใจ เพราะเขามองว่านักลงทุนจะสนใจ รวมถึง ลูกค้า และธนาคาร ในวันข้างหน้าจะเป็นการรองรับกฎหมายที่จะเข้ามา วันนี้จึงเกิดกระบวนการภาคสมัครใจ หากเขาทำไม่สำเร็จ สามารถซื้อเครดิตมาลบได้”
Carbon Neutral Now
ปัจจุบัน มีแนวความคิดว่า Carbon Neutral Now ของใหม่ควรจะ Zero และของเก่าควรจะลดให้ได้มากที่สุด หากลดไม่ได้ต้องลงทุนเพิ่มเพื่อซื้อเครดิต ดังนั้น เครดิต จึงเป็นอาวุธที่ทำให้บริษัทใหญ่บรรลุเป้าหมายได้ ขณะที่ทั่วโลก ปัจจุบันมีบริษัทใหญ่ๆ ข้ามชาติกว่าหมื่นบริษัทหรือเมืองต่างๆ ตั้งเป้าเป็น Zero ดังนั้น เขาต้องการเครดิตจากประเทศที่เขามาลงทุน
จึงเกิดเครดิตอันใหม่ที่เรียกว่า Independent เป็นเครดิตที่เป็น International Credit ที่บริษัทใหญ่ๆ อยากจะมาลงที่ประเทศไทย และขอเครดิตนี้ไป ทำให้เกิดโครงการต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งต้องการเครดิตที่มีมาตรฐานสูง เป็นที่มาของ TGO จะต้องปรับปรุงตัวเอง ในการพัฒนาเครดิตใหม่
"โอกาสของคาร์บอนเครดิตเปิดสำหรับหลายองค์กร TGO เป็นองค์กรที่ดูแลมาตรฐาน เป็นที่มาที่ต้องพัฒนาคาร์บอนเครดิต จากเดิมเป็น Standard T-VER ที่มุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนขึ้นในประเทศไทย สู่การทำ Premium T-VER มาตรฐานระดับบริษัท ต้องเข้มข้นขึ้น โครงการต้องวัดผลชัดเจน เป็นโครงการใหม่ ไม่มีผลกระทบต่อชุมชน ระบบป้องกัน สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต้องมีการประเมินเพิ่ม เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่การฟอกเขียว"
ขณะนี้ Premium T-VER มีทั้งหมด 21 โครงการที่กำลังเตรียมขึ้นทะเบียนกับ TGO โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษา ระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้อง ประเภทโครงการ T-VER รูปแบบการพัฒนาโครงการ T-VER ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจก (T-VER Methodology) และ ขั้นตอนการพัฒนาโครงการ โดยมีทั้งหมด 14 แนวทางที่สามารถทำได้
“คาร์บอนเครดิต ถ้าจะทำ ต้องทำให้ใช้ได้หลายอย่าง มีเอกสารชัดเจน มีผู้ทวนสอบว่าเป็นไปตามเงื่อนไข ส่งให้ TGO เพื่อให้กรรมการทบทวนเห็นชอบขึ้นทะเบียน และต้องดำเนินโครงการ ติดตาม และคำนวณเครดิต รวมถึงมีระบบตลาดรองรับ” เกียรติชาย กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์