อบก. เผย ความร่วมมือทุกภาคส่วนสกัด 'คลื่น' วิกฤติโลกร้อน
เป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 4-5 แสนตัน อบก. เผย วันนี้โลกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน บริษัท และประเทศใหญ่ เริ่มออกมาตรการกดดัน ผู้นำประเทศ องค์กร และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวในช่วงเสวนา Panel Discussion: Net Zero Milestone Plan ภายในงาน SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า ทุกคนพูดว่าธุรกิจไม่ใช่แค่ทำกำไร จะต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่สำคัญตอนนี้กระแสคือ โลกมีความเสี่ยง ความยั่งยืนที่คุยกันมากที่สุดคือ ทำอย่างไรเราจะอยู่ในโลกนี้ต่อไป ทุกคนต้องช่วยกัน ต้องทำทุกภาคส่วน ความยากคือ ทำอย่างไรให้ทุกคนมาทำด้วยกัน
กุญแจสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้ที่มีฐานะ มีทรัพยากรเอื้อเฟื้อต่อผู้ประกอบการรายเล็ก สิ่งนี้พูดได้แต่ทำยาก ความเสี่ยงของโลกที่น่ากังวลคือ ไม่สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เพราะก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยได้ ต้องไม่เกิน 4-5 แสนล้านตัน ถึงจะคุมอุณหภูมิไม่ถึง 1.5 องศา ซึ่งจะลดได้ต้องใช้เงินทุน วันนี้พูดกันเยอะๆ แต่หาสปอนเซอร์ไม่เจอ ดังนั้น ต้องมีคนเสียสละความยากคือ ใครจะเป็นคนเสียสละ
วันนี้เป็นภาวะฉุกเฉินคือ 'คลื่น' เมื่อก่อนมองว่าคลื่นอีกไกล แต่วันนี้คลื่นใหญ่ และบริษัทหรือประเทศใหญ่เริ่มออกมาตรการกดดันให้ประเทศอื่นๆ ต้องทำ ขณะเดียวกัน แต่ละประเทศก็เหมือนเรือที่มีรอยรั่ว ซึ่งเปรียบว่าเรากำลังปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุดท้ายเรือลำไหนจะจมเท่านั้นเอง
“เมื่อเจอภัย เราต้องรอดได้ เรือต้องไปถึงฝั่ง และต้องจัดระเบียบในเรือ จะอุดรอยรั่วอย่างไร โดยเฉพาะประเทศในหมู่เกาะเสี่ยงที่สุด มีสิทธิจม และไม่มีพลัง ขณะที่ประเทศใหญ่มีเรือลำใหญ่ก็อาจจะจมช้า แต่หากไม่โยนสินค้า อาหารไปยังเรือลำเล็ก ก็จะทำให้เรือจมทั้งหมด วันนี้ถือว่าวิกฤติ และต้องการวางมาตรฐานในการวัดรอยรั่ว ประเมินว่าเรือลำไหนรั่วมากกว่าคือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องประเมินด้วยมาตรฐานเดียวกัน และต้องวางนโยบาย หากทำสำเร็จจะได้ประโยชน์ หากใครทำให้เกิดปัญหาก็ต้องทุ่มเท”
สร้างความร่วมมือ และความช่วยเหลือ
ประเทศไทยอยู่ในฐานะเรือไม่ใหญ่ วันนี้เราต้องการ การช่วยเหลือจากต่างประเทศ หลายประเทศที่กำลังพัฒนาก็เช่นกัน ประเทศไทยเปราะบางมาก เราต้องร่วมมือ และมีคนมาช่วย เอาเรื่องนี้เป็นจุดลงทุน และไปสู่ธุรกิจสีเขียว
ขณะเดียวกัน นโยบาย BCG และความสามารถในพื้นที่สามารถทำพลังงานทดแทนได้ และโอกาสในการใช้ก๊าซธรรมชาติ สร้างระบบคาร์บอนแคปเจอร์ มีพื้นที่สีเขียวที่พร้อมจะเติมเข้าไป ดังนั้น ในวิกฤติมีความเสี่ยง และอาจจะเป็นโอกาสให้ประเทศเรามีจุดมุ่งหมายใหม่ไปสู่การเติบโตสีเขียว ไทยต้องพร้อมเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน และรับการสนับสนุน
“เราจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ของรัฐ และประชาชน ทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการ ฝั่งหนึ่งรับผิดชอบ และฝั่งหนึ่งสนับสนุน ความเสี่ยงที่ยากคือ การจัดการก๊าซเรือนกระจกไม่สำเร็จ ปัญหาใน 10 ปีข้างหน้าจะมาแน่ และต้องใช้ต้นทุน เป็นการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ และเปลี่ยนโลก”
ทั้งนี้ ในความตกลงปารีส มีข้อ 6 เปิดให้โลกช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ฐานะดี หรือ ประเทศกำลังพัฒนา สามารถทำงานร่วมกันได้ เอาเทคโนโลยี เอาความรู้มาช่วย แลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เป็นมาตรการหนึ่งที่เปิดให้ประเทศกำลังพัฒนา มีโอกาสได้พัฒนาโครการและมีกำไร ขณะเดียวกัน ประเทศใหญ่ก็มีตัวช่วย กลไกการตลาดเป็นสิ่งช่วยให้ต้นทุนในภาพรวมและทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้
“กลไกการตลาด เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีระบบนิเวศที่พอเหมาะ พอควร ทุกคนต้องรายงาน การมีส่วนร่วมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก องค์กร กิจกรรมต่างๆ หรือจังหวัด เมือง ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการเปิดเผย สิ่งนี้กลายเป็นกระแส ว่าทุกคนจะเริ่มเอานโยบายไปใส่ ใครที่จะต้องสนับสนุนและใครจะต้องปรับตัว”
ในส่วนของ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตอนนี้นักลงทุน ผู้ให้กู้ ผู้จะมาซื้อ Bond ซื้อสินค้า อุตสาหกรรมการบิน การเดินเรือ ขนส่งสินค้า ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้คนทำเครดิต ระบบการวัดความดี เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่การถูกบังคับให้ทำ แต่ทำด้วยการจูงใจ ต้องมีกลไกที่ทำให้เราทำความดี ไปสู่จุดหมายด้วยความสนุก และเราจะไปสู่เป้าหมายด้วยกัน
“อบก. ในฐานะส่งเสริมเรื่องประเมินโดยมาตรฐานระดับสากล ตอบโจทย์ทั้งตลาดในประเทศ ตลาดต่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศ มองว่า ผู้นำโดยเฉพาะผู้นำประเทศ องค์กร ทุกภาคส่วน ประชาคมที่มีเครือข่าย ที่มีวิสัยทัศน์ไปในทางเดียวกัน จะเป็นพลังที่จะผลักดันให้ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้มั่นใจว่า สามารถไปสู่ความสำเร็จได้ และไม่ได้เดินคนเดียว” เกียรติชาย กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์