ไทยพร้อมร่วมมือ COP28 เสนอ 4 ประเด็นลดโลกเดือด
ไทยเตรียมเสนอ 4 แนวทาง ลดโลกร้อนต่อที่ประชุม COP28 หนุนจัดตั้งกองทุน ชดเชยความสูญเสีย และเสียหาย พร้อมให้ความร่วมมือกับทั่วโลก ตั้งเป้าพัฒนาคาร์บอนเครดิตในประเทศให้สามารถแลกเปลี่ยนได้ในระดับสากล โชว์เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย 510 องค์กร เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก
Key Point :
- ใกล้เข้ามาแล้วกับการประชุม COP 28 ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค.2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้นำโลกจากเกือบ 200 ประเทศ
- ในครั้งนี้ ไทยเตรียมนำเสนอ ผลสำเร็จของการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ การขับเคลื่อนนโยบาย เทคโนโลยี กลไกทางการเงิน และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
- ขณะที่ อบก. ชูประเด็น 3 ด้าน คือ การเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย 510 องค์กร พัฒนามาตรฐาน Net Zero Pathway สู่ระดับสากล และยกระดับมาตรฐานคาร์บอนเครดิต
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (UNFCCC COP 28) ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค.2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีผู้นำโลกจากเกือบ 200 ประเทศ จะมารวมตัวกัน เพื่อประสานงานการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโลก โดยมุ่งเน้นไปที่การติดตามเร่งรัดการมุ่งหน้าสู่การใช้แหล่งพลังงานสะอาด และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ก่อนปี 2030 เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
รวมทั้งส่งมอบงบประมาณเพื่อมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศจากประเทศที่ร่ำรวยมายังกลุ่มประเทศยากจน ร่วมทำงานเพื่อให้บรรลุข้อตกลงใหม่ๆ สำหรับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเน้นย้ำถึงผลกระทบต่อธรรมชาติและมนุษย์ และส่งเสริมให้การประชุม COP28 มีความครอบคลุมในประเด็นปัญหามากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- การประชุม COP28 กับการจัดการวิกฤติโลกรวน
- ข้อเสนอไทยต่อเวทีโลก COP28 พร้อมช่วยลดโลกเดือด
- 'พลังงาน' คาด เวที COP28 ถกเข้ม เร่ง 'แผนพลังงานชาติ' รับกติกาโลก
ในส่วนของประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงคณะเป็นผู้แทน ของประเทศไทย เข้าร่วมเพื่อแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด 40 % ภายในปี ค.ศ.2030 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ.2065
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การประชุม COP28 ผู้นำในแต่ละประเทศจะมาหารือถึงประเด็นต่างๆ รวมถึงแนวทางที่แต่ละประเทศไปดำเนินการ เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียล ทำอย่างไรเพื่อให้โลกไม่เดือด โดย 197 ประเทศ ต้องร่วมมือกัน
สำหรับประเด็นการเจรจาที่สำคัญใน COP28 ประกอบด้วย การประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake: GST) การจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Global Goal on Adaptation: GGA) เป้าหมายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนายังคงเรียกร้องให้เร่งระดมเงินให้ได้ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ.2025 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC 2030) ให้บรรลุเป้าหมายตามที่แต่ละภาคีได้ให้คำมั่นไว้
“การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Work Programme) ให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส จะต้องมีการจัดตั้งกองทุนสำหรับการสูญเสีย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Loss & Damage Facility) เพื่อช่วยประเทศที่มีความเปราะบาง ลดการสูญเสีย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายปวิช กล่าว
แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนของไทย
นายปวิช กล่าวต่อว่า การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นการแสดงบทบาทในเชิงบวกของประเทศไทยในการให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขยายโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เทคโนโลยี วิชาการในการจัดการ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก
รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก พร้อมทั้งรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเตรียมการทำงานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้ประสานงานหลักระดับประเทศของอนุสัญญาทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับท้องถิ่น
โดยข้อตัดสินใจจากการประชุม COP28 เมื่อสิ้นสุดการประชุม จะมีการสรุปผลการประชุมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ กรณีที่มีข้อริเริ่ม (Initiative) ที่ภาคีจะต้องให้การรับรอง/เข้าร่วมในช่วงของการประชุม COP28 และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยร่วมรับรอง/เข้าร่วม
4 ประเด็น ไทยขับเคลื่อนลดโลกเดือด
ประเทศไทยจะนำผลสำเร็จของการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (TCAC 2023) ที่ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่น และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมกัน เสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคี COP 28 ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.การขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ 2.เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.กลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และ 4.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ
อบก.ชู 3 ประเด็น Cop28
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งมีหน้าที่หลักในการส่งเสริม ผลักดันให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเอกชน ภาครัฐ การศึกษา ร่วมแสดงเจตจำนงเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันของประเทศ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ให้สัมภาษณ์ว่า ประเด็นที่ อบก. จะหยิบยกไปนำเสนอในการประชุม COP28 มีทั้งหมด 3 ด้าน คือ
1.ด้านเครือข่าย โดย อบก. ส่งเสริมภาคเอกชนให้ร่วมกันผ่านเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย หรือ Thailand Carbon Neutral Network (TCNN) ปัจจุบันมีการรวมตัวกันกว่า 510 องค์กร ในจำนวนนี้มี 92 องค์กร ที่เป็น “องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก" (Climate Action Leading Organization)
2.ด้านมาตรฐานของการประเมินการปล่อยคาร์บอน พัฒนามาตรฐาน Net Zero Pathway ให้สอดรับกับมาตรฐานสากล
3.ด้านคาร์บอนเครดิต ยกระดับมาตรฐานคาร์บอนเครดิต จากเดิมที่มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ที่ทำมาแล้ว 8 ปี ยกระดับให้สอดรับกับความต้องการสากลมากขึ้นเป็นแบบใหม่คือ “โครงการที่ยื่นแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการ Premium T-VER” ปรับเปลี่ยนมาตรฐานให้สูง ต้องเป็นโครงการที่ทำขึ้นใหม่ ขึ้นทะเบียนใหม่ และลงทุนเพิ่มเติม ไม่ฟอกเขียว เกิดขึ้นจริงและยั่งยืน ปัจจุบัน มีการเข้ามาเตรียมขออยู่ 16 โครงการ ซึ่งอัปเกรดให้สามารถใช้ในอุตสาหกรรมการบิน และบริษัทข้ามชาติได้
“ในการประชุม Cop28 อบก. ก็มีงานสำคัญคือ การเจรจา ต่อรองเรื่องของ International Carbon Credits Mechanism คือ คาร์บอนเครดิตที่เอาไว้แลกเปลี่ยนระดับประเทศ ภายใต้ความตกลงปารีส ข้อ 6 อนุญาตให้ประเทศที่เป็นสมาชิก สามารถร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจกได้ หมายความว่า ประเทศที่มีต้นทุนมากกว่า มีสิทธิที่จะสนับสนุนประเทศที่มีต้นทุนน้อยกว่า โดยทางการเงิน สร้างขีดความสามารถ เทคโนโลยี ให้สามารถทำได้ในประเทศ และแบ่งปันคาร์บอนเครดิตกลับมาที่ประเทศตัวเอง รวมถึง เจรจามาตรฐานของคาร์บอนเครดิตระดับสากล เพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิตในประเทศ ให้เป็นระดับโลก”
โชว์ศักยภาพดึงดูดนักลงทุน
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการทำงานร่วมกับ “ประเทศญี่ปุ่น” ในพิธีสารเกียวโต พัฒนา TVER ขึ้นมา และมาทำ Joint Crediting Mechanism (JCM) โดยทำข้อตกลงแบ่งปันคาร์บอนเครดิตตามสัดส่วนที่เข้ามาลงทุน ปัจจุบันมีราว 53 โปรเจกต์ และล่าสุดมีการปรับปรุงข้อตกลงใหม่ให้สอดรับกับมาตรฐานสากล อยู่ระหว่างเตรียมเข้า ครม. ข้อความเห็นชอบ และจะลงนามกันต่อไป อีกทั้ง ทำงานร่วมกับ “สวิตเซอร์แลนด์” โดยทำโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เมื่อปีที่ผ่านมา
“เป้าหมายในการประชุม COP28 คือ การแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของไทยที่ให้ความร่วมมือกับทั่วโลก และเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจ มาร่วมลงทุนในส่วนที่สอดรับกับภาพรวมการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นโครงการสีเขียว โครงการดีๆ และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินในส่วนของตลาดทุน หากเขามองว่าเรามีศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออก การท่องเที่ยว หรือการจัดประชุมในประเทศไทย จะดึงดูดให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตด้วย” เกียรติชาย กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์