อบก. พัฒนา CFO Platform รายงานก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ Net Zero
อบก. พัฒนา 'แพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร หรือ CFO Platform' เครื่องมือในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ง่าย และสะดวกขึ้น ในรูปแบบออนไลน์ ยกระดับภาคธุรกิจ และภาคการผลิต เดินหน้าสู่ Net Zero
Key Point :
- ปัญหาโลกร้อน โลกรวน โลกเดือด เป็นวิกฤติที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ต้องมีส่วนร่วมเพื่อลดผลกระทบ
- ที่ผ่านมา อบก. มีการพัฒนาระบบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) ส่งเสริมภาคธุรกิจในการประเมินก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีองค์กรได้รับการรับรองจาก อบก. ทั้งสิ้น 1,033 องค์กร
- ล่าสุด กับการพัฒนา CFO Platform แพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถใช้ได้ง่าย สะดวกขึ้น ในรูปแบบออนไลน์
ปัจจุบัน เราอยู่ในภาวะวิกฤติทางด้านสภาวะอากาศ ข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคม พบว่า ไทยเข้าสู่ยุคโลกเดือด และในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา อากาศประเทศไทยร้อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ภาวะโลกร้อน โลกรวน สู่โลกเดือด ส่งผลให้เกิดการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศรุนแรง เรื่องของน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ เป็นภารกิจที่เราต่อรองไม่ได้อีกแล้วจากนี้ไป
มีการเคลื่อนไหวจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเรื่องนี้ได้ถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขที่อุตสาหกรรมต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะมีส่วนสำคัญในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้ง โลกเดือด ยังมีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันระดับสากลด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา มีการพัฒนาเครื่องมือช่วยจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก และเป็นมาตรฐานสากลคือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เป็นเครื่องมือสำคัญให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ทราบแหล่งปล่อย รวมไปถึงการวางแผนการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อบก. ชี้หนทางสู่ 'Net Zero' ปรับเพื่อเปลี่ยน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต
- อบก. สร้างการรับรู้ คาร์บอนเครดิต ป่าไม้ คำตอบสู่เป้าหมาย NET ZERO
- อบก. หนุน Clean Business ธุรกิจยั่งยืน คำตอบรับมือ Climate Change
CFO Platform
ล่าสุด องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้พัฒนา 'แพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร หรือ CFO Platform' และเพื่อให้องค์กรต่างๆ ในประเทศไทย สามารถทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้สะดวก และใช้บริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดก๊าซเรือนกระจก หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ให้เกิดขึ้นให้ได้
ภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กล่าวถึงที่มา และความสำคัญของ CFO Platform ว่า ตามที่ประเทศไทย ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมประชาคมโลก ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกในการประชุม COP26 ที่จะยกระดับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ และทุกวิถีทางเพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนใน ปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065
ที่ผ่านมา อบก. มีการพัฒนาระบบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร หรือที่เรียกว่า CFO ขึ้น สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล สำหรับใช้ส่งเสริมภาคธุรกิจ และภาคการผลิตทำการประเมินการปล่อย และดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร และใช้ในการบริหารจัดการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันประเทศไทย มีองค์กรที่ดำเนินงานด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และได้รับการรับรองจาก อบก. ทั้งสิ้น 1,033 องค์กร
ณ ปัจจุบัน การดำเนินงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรมาตรฐาน ได้ถูกบรรจุเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานด้านความยั่งยืนอื่นๆ มากมาย เช่น
- ข้อกำหนดอุตสาหกรรมสีเขียว ของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม
- เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับอีโคเวิลด์คลาส และมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- มาตรฐานสำนักงานสีเขียว โรงแรมสีเขียว ของ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม
- ห้องสมุดสีเขียว ของ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- หลักเกณฑ์มหาวิทยาลัยสีเขียว
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ผลักดันให้บริษัทที่จดทะเบียนในการกำกับดูแลกว่า 700 บริษัท ให้ทำการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อที่จะขับเคลื่อนตลาดทุนไทย มุ่งสู่ความยั่งยืน
พัฒนาแพลตฟอร์ม ให้ง่าย สะดวกขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจ ภาคการผลิต มีเครื่องมือในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ง่ายขึ้น สะดวก ในปีนี้ อบก. ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มการรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร หรือ CFO Platform และทำให้อยู่ในรูปแบบของออนไลน์
"องค์กรจะสามารถใช้ในการกรอกข้อมูลการใช้ทรัพยากร หรือ Activity Data ที่จะสามารถเรียนรู้ผ่านระบบแพลตฟอร์มนี้ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังสามารถใช้การยกระดับภาคธุรกิจ และภาคการผลิต สามารถใช้แพลตฟอร์มดังกล่าว ในการตั้งเป้าหมาย สู่ Net zero ได้ และรองรับระบบการรับรอง Net Zero ที่ทาง อบก. ได้มีการพัฒนาขึ้นในปีนี้อีกด้วย เป็นที่ของการเปิดตัว CFO Platform เพื่อมุ่งสู่ Net Zero" ภคมน กล่าว
Mitigation และ Adaptation ต้องควบคู่กัน
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องสำคัญ ผลกระทบที่ผ่านมา จากการประชุม World Economic Forum พบว่า ปัญหาของโลกในอนาคต 10 ปีข้างหน้า จาก 6 ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อันดับ 1 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
"ประเทศไทยมีประเด็นที่พูดคุยกันว่า จะให้ความสำคัญแค่การบรรเทาผลกระทบ (Mitigation) ไม่ได้เพราะไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรง ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับที่ 20 ของโลก ดังนั้น Mitigation และ Adaptation ต้องทำควบคู่กันไป"
แพลตฟอร์มนี้ จะอำนวยความสะดวกให้กับองค์กรต่างๆ อาจจะเริ่มจากการประเมินศักยภาพของตนเอง และดูว่าอะไรที่องค์กรสามารถทำได้ และเกิดผลกระทบในการลดก๊าซเรือนกระจก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องสำคัญ องค์กรธุรกิจนอกจากจะมองเรื่องขององค์กรแล้ว อีกส่วนคือ ซัพพลายเชนที่เกิดขึ้น ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงการขนส่ง ต้องดูควบคู่กันไปด้วยเป็นประเด็นสำคัญ
“อบก. พัฒนา CFO Platform ขึ้นมาเพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนในเรื่องนี้ และอำนวยความสะดวกในการประเมิน อีกทั้งยังมุ่งขยายเครือข่ายในการรับรองให้ครอบคลุม ให้มีการแข่งขัน และค่าใช้จ่ายในการประเมินลดลง CFO Platform จะเป็นตัวกระตุ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนองค์กร ไปสู่ระดับประเทศต่อไป” ดร.วิจารย์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับองค์กรที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลิก
รายละเอียดขั้นตอนการสมัคร คลิก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์