'โลกร้อน' สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ชีวิตสัตว์เปลี่ยน ชีวิตคนเสี่ยงภัยสุขภาพ
วิกฤติโลกร้อน โลกรวน ส่งผลกระทบในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตของสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไป ความเสี่ยงด้านสุขภาพของคน ไม่ว่าจะสุขภาพจิต และโรคอื่นๆ รวมถึง ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย
KEY
POINTS
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้โลกร้อนขึ้น และโลกที่ร้อนขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และสะท้อนความเหลื่อมล้ำ
- การติดเชื้อไข้เลือดออก เพิ่มขึ้น 30 เท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เป็นประมาณ 390 ล้านคน ที่มีการติดเชื้อต่อปี เกิดความไม่มั่นคง ด้านความปลอดภัยของอาหารและน้ำ
- จำนวนผู้อดอยากทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 797 ล้านคนในปี 2559 เป็นมากกว่า 821 ล้านคนในปี 2561
- การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในถิ่นที่อยู่อาศัย กระทบต่อการปรับตัวของสัตว์ นกหลายตัวต้องเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาของการอพยพย้ายถิ่น และการสืบพันธุ์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น
หลังจาก กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า ฤดูร้อนปีนี้จะยาวนานขึ้น 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะเข้าฤดูฝน โดยคาดว่า จะเริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งจะช้ากว่าปกติ 2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนตุลาคม 2567
ประเทศไทยตอนบน มีอากาศร้อนจัดต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุด 44°C ขณะที่ภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนอง 11 จังหวัดและมีอากาศร้อนจัด ทะเลมีคลื่นสูง 1 เมตร อากาศ กทม. มีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด 42°C
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้โลกร้อนขึ้น และโลกที่ร้อนขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และสะท้อนความเหลื่อมล้ำ
โลกร้อน สะท้อนความเหลื่อมล้ำ
กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่มีต่อการระบาดของโรคต่างๆ มีไม่เท่ากัน เช่น ไข้เลือดออก ที่การแพร่เชื้อมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอุณหภูมิแวดล้อม ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า การติดเชื้อไข้เลือดออก เพิ่มขึ้น 30 เท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เป็นประมาณ 390 ล้านคน ที่มีการติดเชื้อต่อปี
โดยครึ่งหนึ่งของประชากรโลกตกอยู่ในความเสี่ยง ในช่วง 110 ปีที่ผ่านมา ความชุกชุมของ ยุงลาย ทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 9.5% โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา คือ 8.2% เนื่องมาจากเกิดภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘โลกร้อน’ ไม่หยุด อุณหภูมิเฉลี่ยรอบปีสูงขึ้น 1.5°C ภัยพิบัติมาต่อเนื่อง
- โลกร้อนหวั่นกระทบ "กลุ่มเปราะบาง และการเพิ่มขึ้นของประชากร"
ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ปริมาณยุงที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 8.2% ต่อภาวะโลกร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส ตลอดศตวรรษนี้
หากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง คาดว่ายุงจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 20% และเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงเกินไปคาดว่ายุงลายจะอพยพไปยังพื้นที่อากาศเย็นในช่วงปลายศตวรรษนี้ ซึ่งจะมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น และจะคุกคามผู้คนเกือบ 1,000 ล้านคน
ความปลอดภัยด้านอาหาร
ปัญหาต่อมาคือ ความปลอดภัยของอาหาร และน้ำที่จะเกิดความไม่มั่นคงขึ้น จำนวนผู้อดอยากทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 797 ล้านคน ในปี 2559 เป็นมากกว่า 821 ล้านคนในปี 2561 (1 ใน 9 คน บนโลกใบนี้) เมื่อรวมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงด้านอาหารในระดับปานกลาง จะเท่ากับว่ามีผู้คนมากกว่า 2,000 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และเพียงพอเป็นประจำ ซึ่งความแปรปรวน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงกำลังทำให้แนวโน้มเหล่านี้รุนแรงขึ้น
ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ เทียบเคียงได้จากความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น คนที่มีเงินบริโภคเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนมมากขึ้น ความต้องการปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการตัดไม้ทำลายป่า และการผลิตก๊าซมีเทน ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของเมืองยังส่งผลให้มีการแปลงที่ดินเพื่อทำการเกษตรมากขึ้น
โลกร้อน กระทบสัตว์
ทั้งนี้ วิกฤติโลกร้อน ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไม่เพียงแค่กระทบคนเท่านั้น แต่ยังกระทบความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต ทั้งขั้วโลก และสัตว์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยกตัวอย่าง การศึกษาชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องของสิ่งมีชีวิตที่อาจได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า 80% ของสัตว์ป่ากว่า 1,500 ชนิด จะแสดงสัญญาณของความเครียดเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน
ผลกระทบประการสำคัญของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสัตว์ป่าคือ การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในถิ่นที่อยู่อาศัยซึ่งสัตว์ต้องใช้เวลาหลายล้านปีในการปรับตัวเพื่อให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมดุลในระบบนิเวศแต่ละแห่งการที่สัตว์ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะลดความสามารถในการตอบสนองความต้องการของเผ่าพันธุ์ลง ที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และปริมาณของน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชพื้นถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์
ซึ่งในบางครั้งสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบอาจสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยการอพยพไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ แต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมนุษย์ในปัจจุบันก็อาจทำให้พื้นที่ลี้ภัยของสัตว์ป่าต้องลดลงไปจากเดิมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ นกหลายตัวต้องเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาของการอพยพย้ายถิ่น และการสืบพันธุ์ที่ดำเนินมาเป็นเวลาเนิ่นนานเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น และสัตว์จำศีลบางประเภทก็ต้องออกจากถ้ำเร็วขึ้นเพราะอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ไขความลับ 'นก' ทำไมต้องอพยพ 'โลกร้อน' กระทบอย่างไร
- เมื่อ 'แมลง' สูญหายจากภัย 'โลกร้อน' ความน่ากังวล ที่ส่งผลต่อมนุษย์
โลกร้อน วิกฤติสภาพภูมิอากาศ
“สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว” หรือ Extreme Weather Event แสดงให้เห็นถึงภัยทางธรรมชาติที่ส่งผลรุนแรง และบ่อยขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง พายุฝน รายงานในการประชุมของสหภาพธรณีวิทยาอเมริกา (the American Geophysical Union) ในซานฟรานซิสโก ระบุว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้มีแนวโน้มจะเกิดบ่อยขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ
ยกตัวอย่าง ภัยแล้ง และพายุฝนที่ดูเป็นภัยที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน แต่กลับมีความเชื่อมโยงกันอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้นจากกิจกรรมการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์ ก็ทำให้น้ำมีแนวโน้มที่น้ำจะระเหยไปในอากาศมากขึ้น จึงเกิดฝนบ่อยขึ้นนั่นเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ย้อนรอย ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ ในรอบ 52 ปี ที่ไทยต้องเผชิญ
โลกร้อน ส่งผลต่อภัยแล้งรุนแรง
กรีนพีซ ประเทศไทย เผยข้อมูลจาก Center for Climate and Energy Solutions (CCES.) ระบุว่า เมื่อน้ำระเหยขึ้นไปในอากาศในปริมาณที่มากขึ้นก็เป็นสาเหตุที่น้ำในดินหายไป และทำให้เกิดความแห้งแล้ง นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังเชื่อมโยงไปถึงการเกิดไฟป่าที่บ่อยขึ้น และแม้ว่าไฟป่าจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้หลายๆ ภูมิภาคเกิดความแห้งแล้ง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า และมนุษย์
ถัดจากความแห้งแล้ง การละลายของน้ำแข็ง เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นก็ทำให้โลกของเราแปรปรวนไม่น้อย เพราะจากการสันนิษฐานของสถาบันวิจัยสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) คาดว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา เกิดการละลายของน้ำแข็งในทวีปกรีนแลนด์ครั้งใหญ่ถึง 7 ครั้ง คุกคามอีกหลายพันล้านชีวิต และมีส่วนเร่งเร้าวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
โลกร้อน กระทบสุขภาพ
สภาวะโลกร้อน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนแล้ว อาการที่มักมีการพูดถึง และเตือนในทุกๆ การเข้าสู่หน้าร้อน คือ “ฮีทสโตรก” หรือ โรคลมแดด เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากจนทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า “ฮีทสโตรก” ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้ป่วยที่อยู่กลางแดดนานๆ และมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับ ภาวะที่มีความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป เช่น อาจจะหมดสติหรือมีภาวะชักได้ ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นลมปกติ โดยที่ประวัติที่แตกต่างกันเลยคือ ผู้ป่วยที่เป็นลมปกติไม่ได้อยู่กลางแดด
อาการ “ฮีทสโตรก”
ภัยจากอากาศร้อนมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการมาก ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ได้แก่ คนไข้ที่มีอาการตั้งแต่การบวมเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า คนไข้ที่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เวียนหัว
ผู้ป่วยที่มีอาการมาก ได้แก่ กลุ่มคนไข้ที่มีอาการขาดน้ำจากการสูญเสียความร้อนเยอะ และอีกกลุ่มคือ กลุ่มฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด เป็นกลุ่มที่รุนแรงที่สุด
ฮีทสโตรก เสียชีวิตได้
ฮีทสโตรก สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ความร้ายแรงของฮีทสโตรกคือ ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจะทำให้ระบบในร่างกายทำงานผิดปกติไป โดยความผิดปกติเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ มึนศีรษะ ปวดศีรษะ อันนี้เป็นอาการเริ่มต้น
หลังจากนั้น ถ้าเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ก็จะทำให้เกิดอาการฮีทสโตรก ก็จะมีอาการที่มีความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป อาจจะมีภาวะชัก หรือว่าการหมดสติจากการที่หัวใจเราเต้นผิดจังหวะได้ และสุดท้ายคือ เสียชีวิตได้
6 กลุ่มเสี่ยง “ฮีทสโตรก”
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง มี 6 กลุ่ม ได้แก่
1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ผู้ที่ทำงานก่อสร้างหรือออกกำลังกาย
2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง
4. ผู้ที่มีภาวะอ้วน
5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วน และนอนไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อกลไกควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย
6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็ว และแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อก และเสียชีวิตได้ (กรมควบคุมโรค)
การปฐมพยาบาลผู้ป่วย “ฮีทสโตรก”
ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรค "ฮีทสโตรก" อย่างแรกคือ ต้องดูว่าคนไข้มีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไปหรือไม่ ถ้ามีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติ ให้ไปคลำชีพจรดูว่าการหายใจผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องทำ CPR และโทรศัพท์ 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังมีความรู้สึกตัวที่ปกติดีอยู่ สามารถนำผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่มได้ และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เยอะๆ รีบลดอุณหภูมิกายโดยการใช้น้ำแข็ง หรือการใช้ cool blanket คือ การใช้ผ้ายาง ใส่น้ำแข็งลงไป แล้วให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในตรงนั้น ถ้ามีพัดลม สามารถเปิดพัดลมได้
หากใช้เป็นผ้าชุบน้ำ ในคนไข้ที่เป็นโรคกลุ่ม "ฮีทสโตรก" มักจะไม่ค่อยได้ผล แต่สามารถใช้ได้ โดยการเช็ดตัวให้เช็ดตัวเหมือนผู้ป่วยที่เป็นไข้คือ เช็ดสวนขึ้นมาเข้าทางหัวใจ เช็ดทางเดียว และเปิดพัดลม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์