'องค์กร' กับมิติด้าน 'คน' โจทย์ท้าทาย สู่ความยั่งยืน
หนึ่งในประเด็นด้านความยั่งยืนขององค์กร คือ ด้านแรงงานและกำลังคน เพราะ 'คน' คือฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาองค์กรและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การดูแลคนในองค์กรตามสิทธิที่ควรจะได้รับ สนับสนุนความหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่บริษัทชั้นนำหลายแห่งให้ความสำคัญ
KEY
POINTS
- หนึ่งในประเด็นด้านความยั่งยืน ขององค์กร คือ ด้านแรงงาน และ กำลังคน เพราะ "คน" คือฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาองค์กรและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
- การดูแลคนในองค์กรตามสิทธิที่ควรจะได้รับ สนับสนุนความหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่บริษัทชั้นนำหลายแห่งให้ความสำคัญ
- ไม่ว่าจะเป็น "การพัฒนาที่ยั่งยืน" SDGs เป้าหมายที่ 5 ความเสมอภาคทางเพศ เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน มีงานที่มีคุณค่า และ เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาค
เนื่องใน วันแรงงาน (Labour Day) 1 พฤษภาคม ของทุกปี จุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึง ความสำคัญของ “ผู้ใช้แรงงาน” ที่ได้ทำประโยชน์ต่างๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ภาวะการทำงานประชากรไทย
(ข้อมูล มี.ค. 67 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)
- ผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 59.12 ล้านคน
- เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 40.45 ล้านคน
ประกอบด้วย
- ผู้มีงานทำ 39.79 ล้านคน
- ผู้ว่างงาน 0.40 ล้านคน
- ผู้ที่รอฤดูกาล 0.26 ล้านคน
ผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 18.67 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน ยังเด็ก/ชรา ป่วย/พิการ เป็นต้น
เทียบเดือน ก.พ. 67
- ผู้มีงานทำลดลง 0.13 ล้านคน (จาก 39.92 ล้านคน เป็น 39.79 ล้านคน)
- ผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 11.53 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจาก ก.พ. 0.47 ล้านคน)
- ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรม 28.26 ล้านคน (ลดลงจาก ก.พ. 0.60 ล้านคน)
3 ลำดับสาขา ผู้ทำงานลดลง
- สาขาการผลิต (ลดลง 3.5 แสนคน)
- สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์ (ลดลง 2.8 แสนคน)
- สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ (ลดลง 1.4 แสนคน)
3 ลำดับแรก สาขาที่มีผู้ทำงานเพิ่มขึ้น
- การก่อสร้าง (เพิ่มขึ้น 3.4 แสนคน)
- สาขากิจกรรมบริการด้านอื่นๆ (เพิ่มขึ้น 1.2 แสนคน)
- สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (เพิ่มขึ้น 0.7 แสนคน)
ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์
- ผู้ทำงานตั้งแต่ 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 26.33 ล้านคน (66.2%)
- ผู้ทำงานตั้งแต่ 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ 7.26 ล้านคน (18.2%)
- ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงลงไปต่อสัปดาห์ 6.20 ล้านคน (15.6%)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
3 ทัศนคติสำคัญที่ ‘ผู้นำ’ ช่วยส่งเสริมให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข
'รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง' ชูองค์กรยั่งยืน ผ่านวัฒนธรรม No Blame Culture
ไขกุญแจความสำเร็จ 'แสนสิริ' องค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย
ปัจจุบัน พบว่า ในหลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของ “คน” มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่มีเป้าหมายสู่ความยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแค่การมองเรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจ้างงานที่เป็นธรรม และมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ มีความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะใน 3 เป้าหมาย SDGs ดังนี้
เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน
เป้าหมายดังกล่าว กำหนดให้ทุกประเทศต้องยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิง การใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ และการล่วงละเมิดทางเพศ ส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพศหญิงให้มีสิทธิในการเลือกคู่ครองตามวัยที่เหมาะสม รวมทั้ง มีสิทธิที่จะพัฒนาศักยภาพตนเองและเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการมีบทบาททางการเมืองและการทำงานของเพศหญิงอย่างเท่าเทียม
ปัจจุบัน พบว่า หลายบริษัททั่วโลก ได้มีการขับเคลื่อนตามเป้าหมายดังกล่าว โดยเพิ่มสัดส่วนผู้บริหารผู้หญิงมากขึ้น เพื่อให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ รวมถึงมีสัดส่วนพนักงานผู้หญิงและชายใกล้เคียงกัน หรือการไม่ระบุเพศในการเปิดรับสมัครงาน เพื่อเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียม
“นิสสัน”
หนึ่งในตัวอย่างองค์กรที่ ร่วมมือกับ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) หนุนศักยภาพของ ‘ผู้หญิง โดยการสร้างโอกาสก้าวหน้าของผู้หญิงในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีผู้ชายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลหลักในการขับเคลื่อน รวมถึง เดินหน้าการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถของผู้หญิง ในการเป็นผู้นำและสร้างสมดุลในการทำงาน
เป็นผลให้สัดส่วนของผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงของนิสสันทั่วโลกเพิ่มขึ้น จาก 6.7% ในปี 2551 เป็น 15.5% ในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทีมของผู้บริหารนิสสันประเทศญี่ปุ่น ประกอบ ด้วยสุภาพสตรีถึง 10.4% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการผลิตอยู่ที่ 5.1% สำหรับบริษัทที่มีพนักงาน 1,000 คนขึ้นไป
“ยูนิลีเวอร์”
มุ่งมั่นในการสร้างโอกาสความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางเพศ และการมีส่วนร่วมในสังคม เสริมสร้างโอกาสให้แก่สตรีและกลุ่ม LGBTQI+ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก มุ่งเน้นไปที่การยุติความรุนแรงต่อสตรี เด็กผู้หญิง, และ LGBTQI+
ส่งเสริมการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการจ้างงานซัพพลายเออร์ที่มีความหลากหลายทางเพศและการจัดทำระบบฐานข้อมูล สนับสนุนและเป็นกระบอกเสียงให้สตรีในเรื่องการตัดสินใจ ความเป็นผู้นำ และการสร้างสันติภาพ ด้วยภาคธุรกิจมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ภายในองค์กรและเครือข่ายทางธุรกิจ
ทั้งนี้ ยูนิลีเวอร์ ได้แสดงจุดยืนในการส่งเสริมความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วม (ED&I) ซึ่งไม่ใช่แค่ในองค์กรเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งข้อมูลจาก McKinsey Global Institute, 2015 คาดว่า การบรรลุเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในกำลังแรงงานภายในปี พ.ศ. 2568 จะทำให้ GDP ของโลกขยายตัวมากถึง 28 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
มุ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านการยกระดับผลิตภาพแรงงานและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิต โดยการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นผู้ประกอบการ การสร้างงาน รวมถึงการดำเนินนโยบายเพื่อขจัดปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนภายใน ปี 2573
“เอสซีจี”
หนึ่งในบริษัทเอกชน ที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุมและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการจ้างงานที่มีคุณภาพ เท่าเทียม เป็นธรรม และมีคุณค่า สำหรับทุกคน รวมถึงวางแผนการผลิตและปรับปรุงการดำเนินงานอย่าง ต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของโลก เป้าประสงค์ ที่เกี่ยวข้องกับเอสซีจีมากที่สุด
สอดรับกับเป้าหมาย SDGs 8 ทั้งด้านการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรโลกสำหรับการบริโภคและการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ , ภายในปี 2573 บรรลุการจ้างงานเต็มอัตราอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นงานที่มีคุณค่าสำหรับผู้ชายและผู้หญิงทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้พิการ
มีค่าตอบแทนที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีมูลค่าเท่ากัน และการปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ใช้แรงงานทุกคน รวมถึงแรงงานผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้โยกย้ายถิ่นฐานเพศหญิง และแรงงานในการจ้างงานที่มีอันตราย
เป้าหมายการดำเนินงาน
- จำนวนผู้บาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิต จากการทำงานเป็นศูนย์
- อัตราการบาดเจ็บ จากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงานของพนักงานและคู่ธุรกิจเท่ากับ 0 ราย/1,000,000 ชั่วโมงการทำงาน
- การละเมิด สิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์
ที่ผ่านมา ด้านสุขภาพและความปลอดภัย เอสซีจี ประกาศใช้ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของเอสซีจี (SCG Safety Framework) และกำกับดูแลด้วยการตรวจประเมินประสิทธิผลด้านความปลอดภัย (Safety Performance Assessment Program, SPAP) มาตั้งแต่ปี 2550 และยังคงยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลด้านความปลอดภัย และควบคุมมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปราศจากการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานอย่างยั่งยืนในที่สุด
อีกทั้ง กำหนดเรื่องสิทธิมนุษยชนและแรงงานไว้ในจรรยาบรรณเอสซีจีตั้งแต่ปี 2530 และมีการทบทวนให้เป็นปัจจุบัน สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สะท้อนให้เห็นถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ครอบคลุมทุกกิจกรรมทางธุรกิจของเอสซีจี (Direct Activity) รวมถึงกิจกรรมของคู่ค้า คู่ธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า (Supplier/ Contractor in Business Value Chain) และผู้ร่วมธุรกิจ (Joint Venture)
ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเข้าร่วมกับข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) ตั้งแต่ปี 2012 และยังคงเสริมสร้างการดำเนินงานและรายงานสอดคล้องตาม The United Nations Global Compact (UNGC) Communication on Progress ในระดับ Advanced เป็นประจำทุกปี
“เป้าหมาย คือ จำนวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์ สัดส่วนพนักงานหญิงในระดับจัดการเป็น 27% ในปี 2568 100% ของพนักงานผ่านการอบรมและทดสอบด้านสิทธิมนุษยชนผ่าน Ethics e-Testing”
การดึงดูด พัฒนาและรักษาพนักงาน ปรับโครงสร้างและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยการส่งเสริมพนักงานทุกระดับให้พัฒนาตนเองและปรับตัวให้ทันต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป พร้อมกับสร้างความผูกพันภายในองค์กร เพื่อรักษาพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
เป้าหมาย คือ พนักงานในประเทศไทยได้รับการประเมินสมรรถนะและการจัดทำแผนการพัฒนาพนักงาน บนระบบบริหารจัดการเรียนรู้ (LMS) ครบทุกคน 100% ต่อเนื่องทุกปี ความพึงพอใจของพนักงานทั้งหมด มากกว่า 60% จ้างงานผู้พิการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เป็น 100% และ ไม่มีการระบุเพศ ศาสนา หรือชาติพันธุ์ ในการรับสมัครงานในตำแหน่งระดับผู้บริหาร และระดับบังคับบัญชา 100% รวมถึงใส่ใจคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานอีกด้วย
เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ
ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ทั้งด้านรายได้ ความมั่งคั่ง โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ โครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรที่จำเป็น และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างกลุ่มคน อันนำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้นในสังคม
บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)
นอกจากภาพใหญ่ของระดับโลกและประเทศแล้ว ความเสมอภาคใน “องค์กร” ก็เป็นสิ่งสำคัญ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ตัวอย่างภาคเอกชน ที่ได้รับรางวัล "องค์กรต้นแบบ ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566" (Human Rights Awards 2023) ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ระดับดี จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
DMT มีพนักงานกว่า 365 คน โดยมีสัดส่วนพนักงาน ผู้ชาย 51% ผู้หญิง 49% การดูแลพนักงานที่กว่า 90% เป็นพนักงานในส่วนของปฏิบัติการ ไม่ว่าจะด่านเก็บค่าผ่านทาง ฝ่ายซ่อมบำรุงดูแลพื้นผิวถนน ความสะอาดบนถนน ไฟส่องสว่าง ดูแลป้ายสัญญาณ กู้ภัย จัดการจราจร จึงไม่เพียงแค่การให้สวัสดิการตามกฎหมายเท่านั้นแต่ต้องดูแลถึงความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน
สิ่งสำคัญ ในการดำเนินธุรกิจ คือ การคำนึงถึงหลัก สิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานขององค์กรธุรกิจที่พึงมีต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทั้งในฐานะผู้ประกอบการและในฐานะของพลเมืองที่ดีของสังคม ที่ผ่านมา มีการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลักการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) ความเสมอภาค ความเท่าเทียม ควบคู่กับการใช้หลักกำกับดูแลกิจการที่ดี และการต่อต้านการล่วงละเมิด (Anti-harassment)
มีการประกาศนโยบาย กำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ทุกกิจกรรมของบริษัทฯ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
พร้อมช่องทางการร้องเรียนเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงได้เผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักเรื่อง การเคารพสิทธิมนุษยชน ต่อบุคลากรภายในองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียตลอดกระบวนการทางธุรกิจ
สำหรับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะคนกลุ่มเปราะบาง มีการจ้างงานกลุ่มผู้พิการ และเปิดโอกาสการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นอย่างเท่าเทียม รวมถึง การสนับสนุนอุปกรณ์กายเทียม ขณะเดียวกัน ยังมีการสนับสนุนอาชีพผู้พิการนอกองค์กรให้มีรายได้ รวมถึง ส่งวิทยากรไปอบรมให้กับผู้สูงอายุในชุมชน และรับซื้อผลิตภัณฑ์ยาหม่องน้ำสมุนไพรฝีมือคุณป้า คุณย่า คุณยายในชุมชนใส่ไปใน "ถุงกันง่วง" แจกให้กับผู้ใช้บริการในช่วงสงกรานต์
ด้านการกำกับดูแลนั้น นอกจากจะให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กรทุกมิติแล้ว ยังมองครอบคลุมทั้งซัพพลายเชน รวมถึงการดำเนินการของคู่ค้า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป้าหมายในการผลักดันองค์กรสู่ องค์กรสมรรถนะสูง (High Performance Organization: HPO)
ทั้ง 3 เป้าหมาย SDGs ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดูแล “คน” ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งต้องอาศัยการก้าวข้ามทัศนคติแบบเดิมๆ และเปิดรับบริบทใหม่ๆ ของสังคม โดยเฉพาะด้านความหลากหลาย ความเสมอภาคในองค์กร ความเท่าเทียม และสิทธิความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะองค์กรขนาดเล็กหรือองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืน
อ้างอิง : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , นิสสัน , เอสซีจี , ยูนิลีเวอร์