ความร้อนส่งผลต่อการทำงานของสมอง ‘เอเชีย’ ประกาศปิดโรงเรียน

ความร้อนส่งผลต่อการทำงานของสมอง ‘เอเชีย’ ประกาศปิดโรงเรียน

ประเทศในเอเชียใต้ และอาเซียนประกาศ “ปิดโรงเรียน” เนื่องจากอุณหภูมิพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ วิจัยเผย “ความร้อน” ทำให้สมองทำงานช้าลง เรียนไม่รู้เรื่อง และการหยุดเรียนนานๆ อาจทำให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษา ไปใช้แรงงานหาเงินแทน

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ยังคงเผชิญหน้ากับ “คลื่นความร้อน” ระดับรุนแรง และมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ทำให้แต่ละประเทศออกคำเตือนให้ประชาชนระวังปัญหาสุขภาพจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุ พร้อมประกาศหยุดเรียนในหลายประเทศ หลังอุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส และทำให้ต้องประกาศ “หยุดเรียน

ซูดานใต้ปิดโรงเรียนไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ อินเดีย และบังกลาเทศ ประกาศหยุดเรียนในช่วงปลายเดือนเมษายน เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นถึง 45 องศาเซลเซียส 

ทำให้เด็กนักเรียนกว่า 40 ล้านคน ไม่ได้ไปโรงเรียนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะอากาศร้อน ซึ่งเป็นผลมาจาก “ภาวะโลกร้อน” ที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยิ่งจะทำให้คลื่นความร้อนอยู่นานขึ้น และมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางการบังกลาเทศประกาศเปิดๆ ปิดๆ โรงเรียนมาหลายรอบ และเมื่อวันที่ 29 เมษายน รัฐบาลได้ประกาศปิดโรงเรียน และสถาบันการศึกษาทั้งหมดอีกครั้ง หลังจากที่อุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส

“ความร้อนอบอ้าว” ส่งผลต่อการเรียน

อุณหภูมิที่พุ่งสูง ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างระดับความรู้ของเด็กระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน และประเทศที่พัฒนาแล้ว จะยิ่งห่างขึ้นไปอีก แต่ขณะเดียวกันการส่งเด็กไปโรงเรียนที่ร้อนจัดก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพเช่นกัน

“โรงเรียนหลายแห่งในบังกลาเทศไม่มีพัดลม ระบบระบายอากาศก็ไม่ดี และมีหลังคาเป็นสังกะสี ยิ่งทำให้อบอ้าวไปกันใหญ่” ชูมอน เซนกุปตา ผู้อำนวยการองค์กรไม่แสวงผลกำไร Save the Children ประจำบังกลาเทศ กล่าว

อุณหภูมิสูงจะทำให้การทำงานของสมองช้าลง ส่งผลต่อความสามารถในการจดจำ และการประมวลผลข้อมูลลดลง การศึกษาในปี 2020 พบว่า นักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐมีผลการเรียนแย่ลง หากพวกเขาอยู่ในพื้นที่ ที่มีอุณหภูมิสูงในช่วงก่อนการสอบ นอกจากนี้การศึกษายังระบุว่า ทุกอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.55 องศาเซลเซียส จะทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนลดลง 1%

จอช กู๊ดแมน ผู้ร่วมวิจัย และนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า นักเรียนจะมีผลการเรียนที่ดีขึ้น เมื่อโรงเรียนติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

จากการสำรวจหลายแห่ง พบว่าโรงเรียนในสหรัฐประมาณ 40-60% มีเครื่องปรับอากาศ โดยโรงเรียนที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศมักจะอยู่ในพื้นที่มีรายได้น้อย และมีผลวัดระดับความรู้ทางวิชาการต่ำกว่าโรงเรียนที่มีรายได้สูงกว่า

กู๊ดแมน ระบุว่า ทีมวิจัยพบว่าข้อมูลผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติในหลายประเทศก็มีรูปแบบการเรียนรู้ที่คล้ายคลึงกัน “เมื่อนักเรียนเผชิญกับความร้อนอบอ้าวมากขึ้น จะยิ่งทำให้พวกเขาจะเรียนรู้น้อยลง” เขากล่าว

ทั้งนี้กู๊ดแมน กล่าวเสริมว่า นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะในทุกวันนี้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ และประเทศที่ร้อนอยู่ก็จะต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด จะต้องทนทุกข์ทรมานมากกว่าประเทศที่มีภูมิอากาศแบบอบอุ่น

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะขยายช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างประเทศในเขตร้อน และอบอุ่น” กู๊ดแมนกล่าว

“ความร้อน” ทำให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษา

ข้อมูลของสหประชาชาติ พบว่า ประมาณ 17% ของเด็กวัยเรียนทั่วโลกไม่ได้เรียนแล้ว ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่ขาดการศึกษามักอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเกือบ 1 ใน 3 ของเด็กที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายซาฮาราต้องออกจากโรงเรียน ขณะที่ในอเมริกาเหนือมีเพียง 3% เท่านั้นที่ไม่ได้เรียน ส่งผลให้ระดับความรู้ของเด็กในประเทศกำลังพัฒนายังตามหลังประเทศที่พัฒนาอยู่มาก

งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าความร้อนที่สูงเกินไปอาจส่งผลต่อเด็กตั้งแต่ยังไม่เกิด การศึกษาในปี 2019 เผยแพร่ในรายงานการประชุมของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Proceedings of the National Academy of Sciences) พบว่า เด็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พอถึงวัยเรียนเด็กเหล่านี้ก็อาจจะถูกให้ออกจากโรงเรียนมาช่วยทำงาน

เฮเธอร์ แรนเดลล์ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ผู้เขียนรายงานการศึกษา ระบุว่า ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคเป็นเกษตรกร ซึ่งความแห้งแล้ง ความร้อน และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ทำให้ครอบครัวไม่มีรายได้เพียงพอ เด็กเล็กอาจได้รับอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งอาจขัดขวางพัฒนาการของพวกเขา ส่วนเด็กในวัยเรียนอาจจะต้องออกจากโรงเรียน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเรียน และออกมาช่วยทำงานหารายได้เพิ่มเติม

ปกติแล้วเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม จะเป็นเดือนที่ร้อน และแห้งแล้งที่สุดของปีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สภาพอากาศในปี 2567 กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม เนื่องจาก “ปรากฏการณ์เอลนีโญ

ในปี 2566 อากาศร้อนอบอ้าว ทำให้บังกลาเทศปิดโรงเรียนไป 6-7 วัน แต่ปี 2567 รัฐบาลประเมินว่าอาจจะปิดโรงเรียนนานถึง 3-4 สัปดาห์ ด้วยระยะเวลาที่นานขนาดนี้ทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลว่าผู้ปกครองอาจจะนำเด็กไปใช้แรงงาน หรือจับเด็กแต่งงาน

โมฮิบุล ฮาซัน ชาวดูรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของบังกลาเทศ หากมีความจำเป็นก็จะให้สถานศึกษาทั้งหมดเปิดทำการในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อให้มีเวลาเรียนครบตามหลักสูตร พร้อมระบุว่าต่อไปนี้ การออกคำสั่งปิดโรงเรียนจะเป็นหน้าที่ของแต่ละท้องถิ่น ไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางอีกต่อไป


ที่มา: BloombergReutersSouth China Morning Post 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์