‘ภาวะโลกร้อน’ กระทบรายได้ ‘ครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำ’ ใน 'ประเทศยากจน'

‘ภาวะโลกร้อน’ กระทบรายได้ ‘ครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำ’ ใน 'ประเทศยากจน'

สหประชาชาติเตือน ผู้หญิงที่ทำงานฟาร์มและอยู่ในพื้นที่ชนบทของประเทศยากจนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น อีกทั้งเจอการเลือกปฏิบัติจากการที่พวกเธอพยายามหารายได้จากช่องทางอื่นเพิ่มเติม

KEY

POINTS

  • ภาวะโลกร้อน” ส่งผลให้ช่องว่างรายได้ของครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัวกับครอบครัวที่ผู้ชายเป็นผู้นำใน “ประเทศยากจน” ห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ 
  • ครัวเรือนที่มี “ผู้หญิง” เป็นหัวหน้าครอบครัวจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยจะสูญเสียรายได้โดยเฉลี่ยมากกว่า 8% ในช่วงที่เกิด “คลื่นความร้อน” และมากกว่า 3% ในช่วงน้ำท่วม เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีหัวหน้าเป็นผู้ชาย
  • เมื่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง  ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครอบครัวกลับต้องเผชิญกับการกีดกันการเข้าถึงข้อมูล การบริการทางการเงิน ตลอดจนเทคโนโลยีส่งเสริมการเกษตร

สหประชาชาติเตือน ผู้หญิงที่ทำงานฟาร์มและอยู่ในพื้นที่ชนบทของประเทศยากจนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น อีกทั้งเจอการเลือกปฏิบัติจากการที่พวกเธอพยายามหารายได้จากช่องทางอื่นเพิ่มเติม

รายงานฉบับใหม่โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO เรื่อง “สภาพภูมิอากาศที่ไม่ยุติธรรม” (The Unjust Climate) พบว่า “ภาวะโลกร้อน” ส่งผลให้ช่องว่างรายได้ของผู้หญิงกับผู้ชายห่างกันขึ้นเรื่อย ๆ 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบกลับเป็น “ประเทศยากจน” ที่ปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” น้อยกว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่าและอุตสาหกรรมมากกว่ามาก 

แต่เมื่อไปดูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศยากจน จะเห็นได้ว่าครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัวได้รับผลกระทบมากกว่าครอบครัวอื่น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคและความไม่เท่าเทียมทางเพศ

ครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัวมีรายได้น้อยกว่า

FAO จัดทำสถิติโดยการสำรวจครัวเรือนในชนบทจำนวน 100,000 ครัวเรือนใน 24 ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและยากจนทั่วโลก ช่วงปี 2010-2020 พร้อมรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน และอุณหภูมิในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา 

รายงานระบุว่า แม้ความเครียดจากความร้อนจะทำให้ครัวเรือนในชนบททุกครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ครัวเรือนที่มี “ผู้หญิง” เป็นหัวหน้าครอบครัวจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยจะสูญเสียรายได้โดยเฉลี่ยมากกว่า 8% ในช่วงที่เกิด “คลื่นความร้อน” และมากกว่า 3% ในช่วงน้ำท่วม เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีหัวหน้าเป็นผู้ชาย

ความแตกต่างระหว่างรายได้ส่งผลให้ในช่วงที่มีคลื่นความร้อน ครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัวในประเทศที่ยากจนมีรายได้ต่อหัวลดลง 83 ดอลลาร์ หากคิดเป็นมูลค่ารวมต่อปีที่สูญเสียไป 37,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนช่วงที่มีน้ำท่วม จะมีรายได้ต่อหัวลดลง 35 ดอลลาร์ หรือ 16,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไป จะทำให้ช่องว่างรายได้จะยิ่งกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลจากรายงานพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในระยะยาวเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ครัวเรือนที่มีหัวหน้าหญิงสูญเสียรายได้เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับครัวเรือนอื่น ๆ ซึ่งในขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่เริ่มต้นยุคอุตสาหกรรม

“เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยขึ้น ผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนก็จะหยั่งรากลงลึกเช่นกัน” นิโคลัส ซิตโก นักเศรษฐศาสตร์จากองค์การอาหารและเกษตรกรรมและผู้เขียนรายงานกล่าว

“ผู้หญิง” ถูกเลือกปฏิบัติ

ในประเทศยากจนหลายประเทศ ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติในด้านสิทธิการครอบครองที่ดิน ตามการประมาณการของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าทั่วโลกมีผู้หญิงเป็นเจ้าของที่ดินเพียง 12.6% เท่านั้น

เมื่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง  แต่ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครอบครัวกลับต้องเผชิญกับการกีดกันการเข้าถึงข้อมูล การบริการทางการเงิน ตลอดจนเทคโนโลยีส่งเสริมการเกษตร เพื่อช่วยให้พวกเธอสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ และช่วยให้มีผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ สภาพอากาศสุดขั้ว ส่งผลให้เกิดความร้อนและความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ อาจทำให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต้องออกเดินทางไกลเพื่อหาน้ำ อาหาร และเชื้อเพลิงสำหรับการบริโภค ขณะเดียวกันรายได้ที่ลดลง อาจทำให้ครอบครัวตัดสินใจให้เด็กผู้หญิงออกจากระบบการศึกษาก่อน เมื่อพวกเธอไม่มีวุฒิการศึกษาก็จะทำให้ถูกทิ้งไว้ให้ดูแลบ้านแทน ส่วนผู้ชายจะย้ายไปทำงานในเมือง 

“ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในแง่ความแตกต่างทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน  ตลอดจนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรและสร้างกระบวนการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ” ริตู ภารัฎวัช นักวิจัยผู้ศึกษาผลกระทบทางเพศและสภาพภูมิอากาศ กล่าว

 

สร้างความเท่าเทียมเพื่อลดผลกระทบ

ความแตกต่างทางสังคมที่ซ่อนอยู่ ทำให้ครอบครัวในชนบทที่มีหัวหน้าเป็นผู้หญิงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้นในฐานะ “ผู้ที่อ่อนแอที่สุดในสังคม”  

ในประเทศยากจนหลายแห่งมีการจัดตั้งโครงการช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ เช่น มาลาวีมีการจัดโครงการอาหารกลางวัน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและแรงกดดันไม่ให้ครอบครัวดึงเด็กผู้หญิงออกจากโรงเรียนในช่วงที่ภัยแล้งเลวร้าย รวมถึงช่วยให้ผู้หญิงที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ขณะที่โมซัมบิก เปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ ๆ รวมถึงสอนเทคนิคการปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศยากจนมีแผนนโยบายเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้น ที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการปรับตัวที่สอดคล้องกับความเปราะบางของผู้หญิงและเยาวชนในชนบท 

นอกจากนี้รายงานยังพบว่า มีเพียง 6% จากกว่า 4,000 แผนงานด้านการปรับต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศในการสำรวจเท่านั้นที่กล่าวถึงผู้หญิง

FAO เรียกร้องให้แต่ละประเทศเพิ่มนโยบายสำหรับการจัดการกับความเปราะบางของครัวเรือนที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าในชนบท

“ความแตกต่างทางสังคมตามสถานที่ตั้ง ความมั่งคั่ง เพศ และอายุ ช่วยเสริมแรงให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบต่อคนในพื้นที่ชนบทมากยิ่งขึ้น” ซู ตงอู้ ผู้อำนวยการทั่วไปของ FAO กล่าว


ที่มา: ABC NewsFortuneThe New York Times