ตลาด“ปาล์ม”ปี67ปัจจัยอากาศปั่นป่วน เเนะเกษตรกร-โรงสกัดคุมคุณภาพการผลิต
สศก. คาดปาล์มน้ำมันปีนี้ ให้ผลผลิต 18 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เดือน พฤษภาคมนี้ ผลผลิตจะออกสู่ตลาด 1.69 ตัน ราคาผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายคละที่เกษตรกร ขายได้สัปดาห์แรก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.12 บาท
สถานการณ์ผลผลิต“ปาล์มน้ำมัน” ปี 2567 คาดว่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นการปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพารา และบางส่วนขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแทนพื้นที่นา และพื้นที่รกร้าง เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้ ทั้งนี้ การขยายเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมันเมื่อปี 2564 มีสาเหตุมาจากราคาปาล์มน้ำมันตั้งแต่ปี 2564 อยู่ในเกณฑ์ดีด้าน
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลและผลผลิตรวมทั้งประเทศคาดว่าลดลง เนื่องจากในช่วงปลายปี 2565 จนถึงพ.ค. 2566 ต้นปาล์มน้ำมันได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน และแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ทำให้ทางใบบางส่วนพับ ต้นปาล์มน้ำมันไม่สมบูรณ์ การออกทะลายที่จะเก็บในปี 2567 ลดลง และในช่วงเดือนพ.ค.2566 จนถึงต้นปี 2567 ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำหนักต่อทะลายลดลง
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตปีนี้จะออกสู่ตลาดมากสุดตั้งแต่เดือน มี.ค.-มิ.ย. คิดเป็น 38% ของผลผลิตทั้งหมด โดยเดือนพ.ค. คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณ 1.694 ตัน ทั้งนี้ ราคาผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายคละที่เกษตรกร ขายได้สัปดาห์แรกของเดือนพ.ค. เฉลี่ยกิโลกรัม(กก.)ละ 4.12 บาท
ด้านแนวทางบริหารจัดการของภาครัฐ โดยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนเกษตรกร ร่วมเป็นอนุกรรมการ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ราคา อย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการให้ปริมาณน้ำมันปาล์มภายในประเทศเกิดความสมดุล รวมถึงกำหนดแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการเฝ้าระวังและมีแนวทางในช่วงเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
โดยให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีแผนการปิดดำเนินการในช่วงวันหยุดของเดือนเม.ย. 2567 เพื่อไม่ให้มีการกระจุกตัวในการรับซื้อผลผลิตของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มช่วงก่อนและหลังวันหยุด และมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบโดยทั่วกัน รวมทั้งขอความร่วมมือให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่นำผลผลิตมาจำหน่ายให้แก่โรงงานโดยตรงเป็นลำดับแรก และพิจารณาจัดช่องทางพิเศษสำหรับเกษตรกรแยกออกจากผู้ประกอบการลานเท
รวมถึงรับซื้อผลปาล์มน้ำมันในราคาที่สอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มดิบและไม่ให้มีการกดราคาหรือปฏิเสธการรับซื้อผลปาล์มของเกษตรกร โดยให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีการติดตามและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ยังเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงเรื่องการทำปาล์มคุณภาพ เพื่อไม่ให้อัตราสกัดน้ำมันลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันของเกษตรกรและต้นทุนในการผลิตของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มได้
สำหรับสินค้าปาล์มน้ำมัน นอกจากปัญหาด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิตแล้ว ปาล์มก็เป็นสินค้าอีกรายการที่ต้องให้ความสำคัญไปจนกระบวนการเพาะปลูก โดย สหภาล่าสุดพยุโรป (EU) ได้ผ่านกฎหมายห้ามการทำลายป่า เรียกว่า EUDR (European Union Deforestation-free Regulation) เป็นกฎหมายที่ต้องการจำกัดการทำลายป่าที่เกิดขึ้นทั่วโลก อันเนื่องมาจากการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ และการเพาะปลูกทางการเกษตร เป็นกฎระเบียบใช้บังคับกับธุรกิจที่กำหนดไว้ว่า
นับจากวันที่ 30 ธ.ค. 2567 “ผู้ประกอบการค้าปลีก” (Operator) และ “ผู้ค้าผู้นำเข้า” (Trader) ของ EU ต้องทำประเมินการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ ผู้ประกอบการที่นำสินค้าเข้ามาในตลาด EU ต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานว่า สินค้านั้นไม่ได้ผลิตจากพื้นที่เพิ่งเกิดการทำลายป่าหลังจากปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ.2563) เป็นต้นมา ส่วนผู้ค้าผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบ ที่จะให้ข้อมูลเรื่องห่วงโซ่อุปทานแก่ผู้ประกอบการรายย่อย
สำหรับกฎหมายEUDRจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป บังคับใช้กับ 7 ประเภทสินค้าเกษตร ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื้อโค โกโก้ กาแฟ ถั่วลิสง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และยังหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ เช่น เครื่องหนัง น้ำมันพืช ช็อกโกแลต ยางรถยนต์ และเฟอร์นิเจอร์
“เงื่อนไขของสินค้าที่นำเข้าและส่งออกตาม EUDR ต้องปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ต้องไม่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2563 เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศที่ผลิต ตลอดจนสิทธิการใช้ที่ดิน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สิทธิของบุคคลที่สาม สิทธิแรงงาน หลักการของฉันทานุมัติที่ได้รับการรับรู้บอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ (FPIC) สินค้าและผลิตภัณฑ์ ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตได้ โดยผ่านระบบการตรวจสอบและประเมิน (Due Diligence)”
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร เพื่อรับมือกับกฎหมาย EUDR ดังนี้1. การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จะมีระบุพื้นที่ของเกษตรกรว่าพิกัดภูมิศาสตร์ของแปลงปลูกอยู่ที่ไหน ขอบเขตแปลงเป็นอย่างไร พื้นที่ปลูกเท่าไหร่ และปลูกเมื่อไหร่ ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
2. ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานสากลที่ตลาดทั่วโลกให้การยอมรับ และสอดคล้องกับเงื่อนไข EUDR3. ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 4. ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ/ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก
สำหรับ ปาล์มน้ำมันมีการส่งออกไป EU ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม (กรดไขมันและแอลกอฮอล์ไขมัน) ประเทศที่ไทยมีการส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน อิตาลี กรีซ ฝรั่งเศส โปแลนด์ สเปน และสวีเดน เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทย ทั้งในเชิงลบและเชิงบวก