นวัตกรรมปาล์มน้ำมันเมืองสุราษฎร์ ต้นแบบยกระดับการผลิต-สร้างมูลค่าเพิ่มสวนปาล์มน้ำมัน
นวัตกรรมปาล์มน้ำมันเมืองสุราษฎร์ ต้นแบบยกระดับการผลิต-สร้างมูลค่าเพิ่มสวนปาล์มน้ำมัน
จากที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ราคาจำหน่ายผันผวน แบกต้นทุนปุ๋ย ต้นทุนด้านแรงงาน และต้นทุนการผลิตด้านอื่น ๆ ที่สูงขึ้น และยังมีความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง กระทบต่อการผลิตปาล์มน้ำมันในภาพรวมของประเทศ
ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานีสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมปาล์มน้ำมัน โดยประมวลเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันจากการศึกษาวิจัยหลายด้านอย่างต่อเนื่อง มาเป็นชุดเทคโนโลยีการผลิตที่สนับสนุนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพครบทุกด้าน
ประกอบด้วย การให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกอร์ การจัดการธาตุอาหารตามผลวิเคราะห์ดิน-ใบ การเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันคุณภาพ และการอารักขาปาล์มน้ำมันที่เหมาะสม และมีการประเมินประสิทธิภาพการใช้น้ำและปุ๋ย ศักยภาพการใช้ที่ดินในการผลิตปาล์มน้ำมัน และประสิทธิภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของปาล์มน้ำมัน
โครงการนำร่องปี 2562 และ 2563 ได้คัดเลือกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากสุดของประเทศเข้าร่วมโครงการ 95 รายจาก 17 อำเภอ รวมพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันที่ร่วมโครงการ 1,680 ไร่ ผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการพบว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 12% และบางรายได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว และช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเฉลี่ยถึง 40% ซึ่งผลจากความโดดเด่นของผลงานส่งผลให้ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานีได้รับรางวัลเลิศรัฐจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ประจำปี 2564
ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานีจากปริมาณผลผลิตและผลวิเคราะห์น้ำมันต่อทะลายของเกษตรกร พบว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันระหว่างปี 2563 และ 2565 เพิ่มจาก 2,521 ตัน เป็น 4,781 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 89.6%รายรับของเกษตรกรจากการจำหน่ายทะลายปาล์มน้ำมันเพิ่มจาก 12.1 ล้านบาท เป็น 39.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.30 เท่า (ราคาเฉลี่ย 4.80 และ 8.35 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2563 และ 2565)
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์การใช้นวัตกรรมปาล์มน้ำมันที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนโดยนวัตกรรมปาล์มน้ำมันส่งผลทางบวกต่อการเพิ่มจำนวนทางใบและพื้นที่ใบ ทำให้พื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจากข้อมูลการสังเคราะห์แสงของปาล์มน้ำมันของเกษตรกรในโครงการพบว่า การใช้นวัตกรรมปาล์มน้ำมันสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 3-7 เท่าตัว ตามศักยภาพของพันธุ์ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการแบบเดิมที่สำคัญคือ ศักยภาพการเพิ่มผลผลิตมีทิศทางเดียวกับความประสิทธิภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เกษตรกรได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้น มีความยั่งยืนในการผลิตเนื่องจากเป็นการผลิตปาล์มน้ำมันที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรในพื้นที่สุราษฎร์ธานี และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
........................