‘ปลาน้ำจืดอพยพ’ ลดลง 81% กระทบความมั่นคงทางอาหาร คนทั่วโลกขาดอาชีพ
ประชากรปลาน้ำจืดอพยพทั่วโลกกำลังลดลงอย่างรุนแรง จากการสูญเสียถิ่นที่อยู่ รวมถึงการสร้างเขื่อน การเปลี่ยนพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ทางการเกษตร เช่นเดียวกับการประมงเกินขีดจำกัด นับเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหาร และความเป็นอยู่ของผู้คนหลายล้านคน
KEY
POINTS
- ปลาอพยพน้ำจืดทั่วโลกมีจำนวนลดลงถึง 81% ตั้งแต่ปี 1970 - 2020 แต่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา และแคริบเบียน สถานการณ์เลวร้ายกว่านั้น เพราะมีปลาน้ำจืดลดลง 91%
- การสูญเสีย และความเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ การสร้างเขื่อน การเปลี่ยนพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ทางการเกษตร การประมงเกินขีดจำกัด การเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำ มลพิษที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังส่งผลให้สายพันธุ์ปลาลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
- ยุโรป และสหรัฐได้รื้อเขื่อน ฝายชะลอน้ำ และแนวกั้นแม่น้ำอื่นๆ นับพันแห่งในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวิตภาพในระบบน้ำจืด ปรับปรุงสุขภาพของแม่น้ำ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนไปพร้อมกัน
ประชากรปลาน้ำจืดอพยพทั่วโลกกำลังลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ปลาไหล และปลาสเตอร์เจียน ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหาร และความเป็นอยู่ของผู้คนหลายล้านคน อีกทั้งยังระบบนิเวศน้ำจืดฟื้นตัวได้ช้าลงอีกด้วย
การศึกษาใหม่ที่เป็นความร่วมมือกันของมูลนิธิการย้ายถิ่นพันธุ์ปลาโลก, องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF พบว่า ปลาอพยพน้ำจืดทั่วโลกมีจำนวนลดลงถึง 81% ตั้งแต่ปี 1970-2020 แต่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา และแคริบเบียน สถานการณ์เลวร้ายกว่านั้น เพราะมีปลาน้ำจืดลดลง 91%
สาเหตุที่ปลาน้ำจืดลดลง
การสูญเสีย และความเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ ถือเป็นภัยคุกคามหลักที่ทำให้จำนวนปลาน้ำจืดลดลงถึงครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังเกิดจากการสร้างเขื่อน การเปลี่ยนพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ทางการเกษตร เช่นเดียวกับการประมงเกินขีดจำกัด ที่ทำให้ปลาเติบโตไม่ทันต่อการทำประมง
รวมถึงการแตกตัวของแม่น้ำและการเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำ มลพิษที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังส่งผลให้สายพันธุ์เหล่านี้ลดลง อย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
“การลดลงอย่างน่าใจหายของจำนวนประชากรปลาอพยพ เป็นสัญญาณเตือนภัยที่เสียงดังที่สุดที่โลกกำลังบอกเราอยู่ เราต้องปกป้องสายพันธุ์เหล่านี้ และแหล่งที่อยู่อาศัยพวกมันอย่างเร่งด่วน”
เฮอร์มาน วันนิงเกน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิการย้ายถิ่นพันธุ์ปลาโลกเตือน
“ปลาอพยพ” ถือเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองจำนวนมาก หล่อเลี้ยงผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก และดำรงไว้ซึ่งสายใยระหว่างสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศอันกว้างใหญ่ ดังนั้นวันนิงเกนจึงบอกกับ The Guardian ว่าเราไม่สามารถปล่อยปลาสูญพันธุ์ไปอย่างเงียบๆ ได้
ความสำคัญของปลาน้ำจืดอพยพ
ปลาน้ำจืดอพยพมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหาร และภาวะโภชนาการของผู้คนหลายร้อยล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเปราะบางทั่วเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา
นอกจากความสำคัญด้านอาหารแล้ว ฝูงปลาอพยพยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างอาชีพให้แก่ผู้คนหลายสิบล้านคน ตั้งแต่การประมงในท้องถิ่น ไปจนถึงการค้าระดับโลก รวมถึงอุตสาหกรรมประมงเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ (recreational fishing) ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
“เมื่อเผชิญกับจำนวนปลาน้ำจืดอพยพลดลง นานาชาติจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการปกป้อง การฟื้นฟูแม่น้ำเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องสายพันธุ์ปลา ซึ่งให้อาหาร และการดำรงชีวิตแก่ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก” มิเชล เธียม รองผู้อำนวยการฝ่ายน้ำจืดของ WWF แห่งสหรัฐกล่าว
พร้อมกล่าวเสริมว่า “เราต้องร่วมมือกัน โดยใช้ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และความตั้งใจ ความมุ่งมั่นร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรธรรมชาติจะยังคงอุดมสมบูรณ์สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีรายงานว่ามีจำนวนปลาอพยพลดลง แต่ก็ยังพอมีเรื่องให้น่าดีใจ เพราะเกือบ 1 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ปลาที่ถูกสำรวจมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเครื่องยืนยันว่าความพยายามในการอนุรักษ์ และการจัดการที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่จำนวนปลาได้
กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มจำนวนปลา ได้แก่ การจัดการประมงที่เน้นชนิดพันธุ์ การฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ การกำจัดเขื่อน การสร้างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และการคุ้มครองทางกฎหมาย
ยุโรป และสหรัฐได้รื้อเขื่อน ฝายชะลอน้ำ และแนวกั้นแม่น้ำอื่นๆ นับพันแห่งในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะรื้อถอนเพิ่มขึ้นอีก โดยในปี 2023 ยุโรปได้กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำมากถึง 487 ชิ้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 50% จากปี 2022 นับเป็นจำนวนมากที่สุดที่เคยมีมา
ขณะที่สหรัฐทำลายอ่างเก็บน้ำที่อยู่ตามแนวแม่น้ำคลาแมธ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และออริกอน ถือเป็นการรื้อเขื่อนครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐ โดยการดำเนินการในครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่า เมื่อเทียบกับการสร้างงาน และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวิตภาพในระบบน้ำจืด ปรับปรุงสุขภาพของแม่น้ำ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนไปพร้อมกัน
ปกป้องและฟื้นฟูแม่น้ำให้ไหลได้อิสระ
นอกเหนือจากการเร่งขยายพื้นที่กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำแล้ว ยังจำเป็นต้องมีนโยบายปกป้อง และฟื้นฟูแม่น้ำให้สามารถไหลได้อย่างอิสระ ด้วยการลงทุนสร้างพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน แทนเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่จำนวนมาก เพื่อเป็นไปตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Gobal Biodiversity Framework) ที่จะปกป้อง 30% แหล่งน้ำภายในประเทศ และฟื้นฟู 30% ของแหล่งน้ำที่เสื่อมโทรมภายในประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ ทำเนียบขาวได้จัดโครงการฟื้นฟูและปกป้องแหล่งน้ำจืดที่เสื่อมโทรมยาว 300,000 กิโลเมตร เป็นโครงการริเริ่มที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยฟื้นฟูจำนวนประชากรปลาอพยพที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากการปกป้องและฟื้นฟูแม่น้ำให้แข็งแรงแล้ว การเสริมสร้างความพยายามในการติดตามเฝ้าระวังยังเป็นก้าวสำคัญอีกด้วย และการจะทำเช่นนั้นได้จะต้องเข้าใจรูปแบบการใช้ชีวิต การเคลื่อนที่ และพฤติกรรมของปลาอพยพให้ดีก่อน
ในการอพยพแต่ละครั้ง ปลาน้ำจืดจะต้องว่ายน้ำผ่านหลายประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ และการเพิ่มชนิดปลาน้ำจืดในอนุสัญญาว่าด้วยสัตว์อพยพ (CMS) ให้มากขึ้น ตั้งแต่ปี 2014 มูลนิธิการย้ายถิ่นพันธุ์ปลาโลกได้จัดงานวันการย้ายถิ่นของปลาโลกในวันที่ 25 พฤษภาคม ทุกๆ สองปี เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปลาอพยพ โดยมีมากกว่า 68 ประเทศเข้าร่วมในปีนี้ นับเป็นสัญญาณที่ดีในการปกป้องพันธุ์ปลาอพยพ
ที่มา: Earth, Phys, The Guardian
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์