ไข่ไก่ ราคาพุ่ง วอนเห็นใจเกษตรกร อากาศแปรปรวนผลผลิตมีน้อย
อากาศแปรปรวน ทำแม่ไก่ป่วย ออกไข่น้อย ราคาพุ่ง เกษตรกรชี้ ผู้บริโภคจ่ายเพิ่มเพียง คนละ 4 บาทต่อเดือน วอนผู้บริโภคเห็นใจ คาดอีกไม่นานจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะต้นทุนการผลิตยังสูง จากค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และค่าแรง
นายพัสธนภูมิ แตงอ่อน เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 4 บาท เป็นราคาเดียวกับช่วงกลางปีของปีก่อน ซึ่งเกิดจากปัจจัยที่มากระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะอากาศแปรปรวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝน ทำให้แม่ไก่สุขภาพไม่ดี ออกไข่น้อยลงและมีขนาดเล็กลง บางฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยมีแม่ไก่ไข่เสียหาย 7-10%
“แม่ไก่ไข่ในฟาร์มเกษตรกรรายย่อยหลายรายเสียหายไปพอสมควรจากอากาศแปรปรวน ส่วนแม่ไก่ที่ยังออกไข่ได้ก็ให้ผลผลิตลดลงและฟองเล็กลง นับเป็นเรื่องปกติของการเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต หากสภาพอากาศดีขึ้น แม่ไก่ปรับตัวได้ดีขึ้น ผลผลิตไข่จะออกมามากขึ้น ขณะที่ราคาที่เพิ่มขึ้นเพียง 20 สต./ฟอง เมื่อคำนวณจากอัตราบริโภคของคนไทยที่ 240 ฟอง/คน/ปีนั้น พบว่าเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในครอบครัวเพียงคนละ 4 บาท/เดือนเท่านั้น ดังนั้น ขอผู้บริโภคอย่ากังวล” นายพัสธนภูมิกล่าว
อย่างไรก็ตาม ราคาไข่ไก่มีขึ้นมีลงตามกลไกตลาด ดังเช่นที่ช่วงนี้เป็นช่วงการเปิดเทอมของเด็กนักเรียน ซึ่งมีความต้องการบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้น สวนทางผลผลิตที่น้อยลง เมื่อผนวกกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ตลอดจนค่าแรงในภาคเกษตร จึงทำให้ราคาไข่ขยับขึ้น ขอวอนผู้บริโภคเข้าใจกลไกตลาด เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติหรือผลผลิตออกมามาก ระดับราคาไข่ไก่จะลดลงเอง
ทั้งนี้ ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มที่ฟองละ 4 บาท ไม่ใช่ราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเป็นราคาเดียวกันกับช่วงกลางปีของปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าราคาไข่มีขึ้นมีลงเสมอ โดยราคาไข่ไก่จะอ่อนไหวกับทุกสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาล สภาพภูมิอากาศ และเทศกาล นอกจากนี้ราคาของวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกปัจจัยต้นทุนสำคัญ รวมถึง ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน และค่าแรงที่มีข่าวว่าจะปรับขึ้นเป็น 400 บาททั่วประเทศในเดือนตุลาคมนี้ ล้วนมีผลต่อราคาไข่ไก่ทั้งสิ้น
นายพัสธนภูมิ กล่าวอีกว่า การเลี้ยงไก่ไข่ของเกษตรกรและการซื้อไข่ไก่ของผู้บริโภค มีกรมปศุสัตว์ และกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล ซึ่งต้องขอบคุณทั้งสองหน่วยงานรัฐที่ดูแลเกษตรกรและผู้บริโภคเป็นอย่างดีด้วยความเข้าใจกลไกตลาด ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตอาหารเพื่อคนไทยได้ต่อไป ขณะเดียวกันก็ช่วยดูแลค่าครองชีพผู้บริโภค จัดหาสินค้าราคาสมเหตุสมผลแก่การบริโภค-อุปโภคได้อย่างเหมาะสม