ช่องทางดิจิทัล : ทางสะดวกสินเชื่อ SME รายย่อย
สวัสดีครับ เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ฟังเรื่องการสร้างระบบนิเวศทางการเงิน (Financial Ecosystem) ในเอเชียและแปซิฟิก ในงานเสวนา Feminist Finance Forum จัดโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) แห่งสหประชาชาติ
ท่านหนึ่งที่กำลังช่วยพัฒนากลุ่มเกษตรกรในชนบทได้ยกประเด็นที่น่าคิดว่า เหตุใดเรายังไม่มีแอปพลิเคชันที่รวบรวมสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยหลายๆ แห่งไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อให้คลิกเปรียบเทียบได้สะดวกในแอปเดียวจบ เหมือนเวลาที่เราเลือกจองที่พักในแอปที่รวมโรงแรมต่างๆ หรือเลือกสั่งอาหารในแอปที่รวมร้านต่างๆ ด้วยตัวเลือกคัดกรองตามที่ต้องการ ถือเป็นมุมมองจากฝั่งผู้กู้ที่น่าสนใจมากครับ
ความยากในการเข้าถึงสินเชื่อไม่ใช่ปัญหาเพียงสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SME: MSME) แต่เป็นอุปสรรคสำหรับธุรกิจระดับ SME เช่นกัน SME Finance Forum รายงานว่าปัจจุบันกลุ่ม MSME ในประเทศกำลังพัฒนาขาดแคลนเงินลงทุนมากถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 45 ของ MSME กลุ่มนี้อยู่ในเอเชียและแปซิฟิก โดยขาดแคลนเงินทุนเกือบ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอุปสงค์นี้สามารถมองเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะธุรกิจ SME ช่วยสร้างอาชีพได้มากถึงร้อยละ 70-95 ในตลาดเกิดใหม่
ในส่วนของประเทศไทย ผลสำรวจการดำเนินธุรกิจในประเทศต่างๆ โดย World Bank Findex พบว่าบรรดาผู้ประกอบการไทยที่ต้องเก็บเงินเองเพื่อสร้างหรือต่อยอดธุรกิจของตน มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 28 เทียบกับประเทศอื่นที่ประชากรเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกได้ง่ายกว่า แต่ก็มีข้อสังเกตคือประเทศไทยมีผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของร่วมมากถึงร้อยละ 64 ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหญิงได้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจยิ่งขึ้น เพราะตามข้อมูลของ International Finance Corporation (IFC) ร้อยละ 70 ของวิสาหกิจที่มีสตรีเป็นเจ้าของทั่วโลกยังขาดแคลนหรือได้รับสินเชื่อไม่เพียงพอ
ในขณะเดียวกัน จากมุมมองของฝั่งผู้ให้กู้ เราต้องไม่ลืมว่าแหล่งที่มาของสินเชื่อที่สถาบันการเงินจะนำมาปล่อยก็คือเงินฝากของประชาชน ดังนั้นธนาคารซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม จึงต้องหาจุดสมดุลการอำนวยสินเชื่อที่สะดวกและเข้าถึงง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รอบคอบระมัดระวัง
ในบางกรณี การนำส่งเอกสารหรือข้อมูลผ่านทางช่องอิเล็กทรอนิกส์อาจไม่ครบถ้วนเพียงพอ หรือมีบางกรณีที่ธนาคารต้องไปยืนยันสถานที่ประกอบการหรือหลักประกันเองเพื่อความมั่นใจ ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการคิดค้นโซลูชันออนไลน์ที่สะดวกถูกใจลูกค้าแต่ขณะเดียวกันยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้
ในแง่ของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในภูมิทัศน์การเงินไทย นอกจากแอปและช่องทางดิจิทัลอื่นๆ ของสถาบันการเงินแต่ละรายแล้ว ล่าสุดกระทรวงการคลังได้เปิดรับการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งเน้นให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่ม SME และกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved) ได้ครอบคลุมมากขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวด คาดว่าน่าจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกประมาณกลางปีหน้า
Virtual Bank นี้ก็นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวของภาคการเงินไทยบนเส้นทางการพัฒนานวัตกรรมที่เท่าทันความต้องการของผู้ใช้บริการ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเตรียมตั้งรับกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัลเช่นเดียวกัน และที่สำคัญคือต้องพิจารณาให้สินเชื่ออย่างระมัดระวังให้ตรงตามจุดประสงค์และความสามารถของผู้กู้ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มใด ดูแลไม่ให้ก่อหนี้เกินตัวตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ทั้งหมดนี้ก็คือประเด็นที่น่าพิจารณาในการพัฒนาการเข้าถึงทางการเงินยุคดิจิทัลในลักษณะที่เอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงภายใต้กรอบการดูแลกำกับที่เหมาะสม เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยไปต่อได้อย่างสมดุลครับ